ภาวะศพเดินได้ เมื่อจิตใจหลอกลวงร่างกายว่าตายแล้ว

2 พ.ย. 67

ภาวะศพเดินได้ ภาวะที่ผู้ป่วยมีความเชื่อผิดๆ ว่าตนเองตายแล้ว ไม่มีตัวตน หรือร่างกายกำลังเน่าเปื่อย

เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนเราถึงคิดว่าตัวเองตายไปแล้ว ทั้งที่ยังเดินได้ ทำงานได้ตามปกติ นี่อาจฟังดูเหมือนเรื่องราวในหนังสยองขวัญ แต่ความจริงแล้วมันคือโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า ภาวะศพเดินได้ (Walking Corpse Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความเชื่อผิด ๆ ว่าตนเองตายแล้ว ร่างกายเน่าเปื่อย หรือไม่มีอยู่จริง

นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า ภาวะศพเดินได้ (Walking Corpse Syndrome) เป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้ไม่บ่อย ซึ่งผู้ป่วยจะมีความเชื่อผิด ๆ ว่าตนเองตายไปแล้ว ไม่มีตัวตน หรือร่างกายกำลังเน่าเปื่อย ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีโรคซึมเศร้ารุนแรง หรือโรคจิตบางประเภท และอาจพบร่วมกับภาวะทางระบบประสาทอื่น ๆ

อาการของผู้ป่วยมีความใกล้เคียงกับอาการโรคซึมเศร้า เช่น มีความเครียด วิตกกังวล เข้าสังคมน้อยลง เก็บตัว เพราะคิดว่าตัวเองกำลังจะตายหรือตายไปแล้ว จึงสูญเสียความต้องการใช้ชีวิต ไม่กินอะไร ว่างเปล่า ไม่ทำอะไร บางคนอาจได้ยินเสียงแว่วหรือเสียงหลอน และมีความคิดทำร้ายตัวเอง

ปัจุจบันยังไม่ทราบสาเหตุภาวะศพเดินได้ที่แน่ชัด แต่อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะนี้ได้แก่

ความผิดปกติของสมอง: โดยเฉพาะความผิดปกติในส่วนที่ควบคุมการรับรู้ตนเอง การตัดสินใจ และการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์

ภาวะซึมเศร้าหรือจิตเภท: ภาวะศพเดินได้มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง หรือมีโรคจิตเภท ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยมีอาการหลงผิด

การบาดเจ็บทางสมอง: ในบางกรณี ผู้ป่วยที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะศพเดินได้

ภาวะศพเดินได้ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ เนื่องจากภาวะนี้มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อเข้าใจความคิดและการรับรู้ของผู้ป่วย นอกจากนี้ อาจมีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การเจาะเลือด หรือ การตรวจสแกนสมองเพื่อประเมินสมองของผู้ป่วย เพื่อพยายามหาสาเหตุ

24_11_01sent-01

การรักษาภาวะศพเดินได้มักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสภาพจิตใจของผู้ป่วย ดังนี้

การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotics) และยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers)

การบำบัดด้วยไฟฟ้า (ECT): จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยลดอาการหลอนและความเชื่อผิดปกติ ซึ่งถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาทางจิตเวช

การทำจิตบำบัด (Psychotherapy): จะเป็นการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยจัดการกับความคิดที่ผิดปกติและพัฒนาแนวทางการรับรู้ตนเองให้เป็นจริงมากขึ้น

ถึงแม้ภาวะศพเดินได้ จะเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด