สำหรับปี 2567 มีเหตุการณ์ในแวดวงยานยนต์เกิดขึ้นหลากหลายเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ข่าวเด่น ข่าวดัง มากมายหลากหลายทำเอาผู้บริโภคตกอกตกใจไม่แพ้ข่าวในวงการอื่นๆ หรือแม้แต่บางข่าวก็ทำเอาผู้บริโภคไม่พอใจ ถึงขั้นร้องภาครัฐให้ออกมาช่วย อมรินทร์ยานยนต์ได้รวบรวมเอาเหตุการณ์สำคัญๆ เด่นๆ ในปี 2567 เราผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรกันมาบ้าง ลองไปดูกัน
เว็บไซต์รัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 มีรายงานว่าผู้จัดจําหน่ายรถยนต์จากค่าย BYD ประกาศลดราคาอีกครั้งในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า New BYD ATTO 3 รวมทั้งสิ้นอีก 4 รุ่น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อฉลองเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ BYD ครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้ รวมส่วนลดได้สูงสุดถึง 340,000 บาท สร้างความไม่พอใจให้ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ กระทั่งมีการนัดรวมพลมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
ทำให้ล่าสุด นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าตรวจสอบการโฆษณาลดราคาของรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ.2564 หรือไม่ พร้อมทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ด้าน CHANGAN Automobile แบรนด์ DEEPAL ก็ออกมาชี้แจงกรณี ดราม่าการลดราคารถยนต์ DEEPAL S07 โดยทางบริษัท ประกาศว่าไม่มีนโยบายลดราคารถยนต์ DEEPAL S07, S07L และ L07 แต่เป็นเพียงแคมเปญ Motor Expo และ Big Surprise Deal เพื่อมอบข้อเสนอสำหรับผู้ที่ทำการจองและวางมัดจำระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม 2567 และทำการส่งมอบรถภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เท่านั้น
Nikkei Asia รายงานว่า ค่ายรถยนต์ 4 ราย และรถจักรยานยนต์ 1 ราย ถูกตรวจพบความผิดปกติจากกระบวนการทดสอบความปลอดภัย โดยกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ประกอบด้วย Toyota, Mazda, Yamaha ที่ระงับการส่งมอบรถทั้งหมด 6 รุ่น รวมทั้ง Honda และ Suzuki
กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ได้สั่งให้บริษ้ท 85 แห่ง รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความผิดปกติในใบสมัครรับรองของตนเอง โดยที่ในแถลงการณ์ของกระทรวงได้ระบุความผิดปกตินี่ว่า “การกระทำที่บ่อนทำลายความไว้วางใจของผู้ใช้ และส่งผลกระทบต่อรากฐานของระบบการรับรองยานยนต์ระดับชาติ”
และทางกระทรวงฯ จะเริ่มทำการตรวจสอบ Toyota เป็นบริษัทแรก ก่อนที่เริ่มดำเนินการตรวจสอบอีก 4 บริษัทข้างต้นในลำดับถัดไป
ในขณะที่ Toyota, Mazda และ Yamaha ค่อนข้างมีความแน่ชัดว่ามีการโกงในการผลิตรถยนต์รุ่นที่ยังอยู่ในไลน์ผลิต ทางกระทรวงฯ ออกคำสั่งให้ระงับการจัดส่งรุ่นที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะมีการยืนยันว่าเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ
ด้าน Toyota ประกาศว่าได้หยุดการจัดส่งรถยนต์รุ่นเหล่านั้นภายในประเทศทั้งรุ่น Corolla Fielder, Corolla Axio และ Yaris Cross ที่มีข้อมูลไม่เพียงพอในการทดสอบการป้องกันคนเดินถนนและผู้โดยสาร ส่วนอีก 4 รุ่นคือ Crown, Isis, Sienta และ RX พบข้อผิดพลาดในการทดสอบการชนและการทดสอบอื่นๆ
Mazda พบรายงานความผิดปกติใน 5 รุ่น รวมถึง 2 รุ่นที่ยังผลิตอยู่ และ Yamaha มี 3 รุ่นที่ถูกตรวจสอบ มี 1 รุ่นที่กำลังผลิตเช่นเดียวกัน Honda มีรายงานถึง 22 รุ่น และ Suzuki 1 รุ่น ไม่มีรุ่นที่อยู่บนไลน์การผลิต
ด้าน Mazda ระบุว่าพบการประมวลผลที่ผิดปกติในรถคันทดสอบการชน และได้มีการทำการตรวจสอบทางเทคนิคภายในและการทดสอบซ้ำอีกรอบ โดยยืนยันว่ารถรุ่นเหล่านั้นมีประสิทธิภาพได้มาตรฐานตามกฎหมายการป้องกันผู้โดยสารในกรณีเกิดการชนกันที่ด้านหน้า
Honda, Yamaha และ Suzuki มีการออกแถลงการณ์รับรองว่าไม่มีปัญหากับประสิทธิภาพของตัวรถ
สำหรับข้อมูล 5 ผู้ผลิตรถยนต์ที่ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อมูลเท็จในการทดสอบความปลอดภัย โดยมีรายงานว่าผู้ผลิตรถยนต์หลายรายส่งข้อมูลเท็จในการทดสอบด้านความปลอดภัย ดังนี้
บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผู้ที่เคยจำหน่าย VOLT ในประเทศไทย ก็สละเรือแบรนด์ VOLT เป็นที่เรียบร้อยเหลือเฉพาะแบรนด์วู่หลิง WULING ในประเทศไทยเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น แต่บริษัทจะยังดูแลและให้บริการหลังการขาย VOLT ไป ผู้ใช้รถยนต์สามารถเข้ารับบริการได้ที่โชว์รูมและศูนย์บริการ WULING ทุกสาขาทั่วประเทศ ผู้บริหารอย่างคุณพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ แจงว่าส่วนหนึ่งเพราะรถอีวีที่รองรับการชาร์จแบบ AC นั้นไม่ค่อยได้รับความนิยม และรถที่รองรับการชาร์จแบบ AC จะไม่ได้รับสิทธิให้เข้าร่วมมาตรการอีวี 3.5
ที่ผ่านมาบริษัทมีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า VOLT และ WULING Air รวมกันทั้งสิ้น 1,400 คันนั้น ยังมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือจะประกอบรถในประเทศ (CKD) ชดเชยการใช้สิทธินำเข้ามาทำตลาดที่กำหนดให้ผลิตคืนเท่ากับการนำเข้า ล่าสุด บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (EV PRIMUS) เปิดไลน์การประกอบรถยนต์ไฟฟ้าวู่หลิง (Wuling) ภายในประเทศที่นิคมอุสาหกรรมแหลมฉบังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามข้อกำหนดภายใต้มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 และ EV 3.5 ของภาครัฐ เป็นที่เรียบร้อย
จากภาพผ่านทางโซเชียมีเดียเห็นรถยนต์ละลานตาเต็มลานประมูลจนเรียกได้ว่า ล้น นั้นเป็นความจริงหรือไม่ นายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามอินเตอร์การประมูล จำกัด ให้ข้อมูลกับทีมงานอมรินทร์ยานยนต์จากการที่เข้าไปพูดคุยกันถึงลานประมูลถึงกรณีนี้ว่า ปริมาณรถถูกยึดเข้ามาที่บริษัทมาจากไฟแนนซ์ค่อนข้างเยอะมาก ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 300,000 คัน ซึ่งตัวเลขการยึดรถแท้จริงมีมากกว่านี้ รถถูกยึดเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าลานประมูลขยายพื้นที่รองรับมากขึ้นหรือไม่ สำหรับ SIA หรือ สยามอินเตอร์การประมูล รองรับรถได้ 50,000 คัน
รถล้นลานประมูล จริงหรือไม่ คือการเข้าใจผิดว่าลานประมูลขายไม่ได้ ขายไม่ดี การประมูลไม่เหมือนเต็นท์รถ ลานประมูลจะขายทุกราคา ขายทุกเงื่อนไข การจัดพื้นที่ของลานประมูลคือการนำรถมาสต๊อก ซึ่งไม่เหมือนกับเต็นท์รถ เมื่อมีรถถูกยึดเข้าสู่ลานประมูลจำนวนมาก ส่งผลให้รถมีราคาประมูลที่ไม่ดี ประมูลได้เท่าไหร่ก็ต้องประมูล มีราคาที่ถูกมาก และรถที่มีอายุมากแทบจะต้องแจกฟรี เพราะไม่มีคนเอา
เมื่อถามถึงผลกระทบจากรถอีวี ผู้ก่อตั้งสยามอินเตอร์การประมูลกล่าวว่า รถอีวีมาประเทศจีน ซึ่งขายราคาถูก เน้นเรื่องราคาทำราคาต่ำลงเรื่อยๆ ทำลายกลไลของแวดวงยานยนต์ ผู้ซื้อมองถึงรถยนต์ป้ายแดงนั้นมีราคาถูก ทำให้ราคารถยนต์มือสองต้องทำราคาลง โดยเฉพาะเต็นท์ที่มีรถเก็บไว้ก็เจ็บไปตามๆ กัน ลามไปถึงไฟแนนซ์ก็ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ สำหรับลานประมูลนั้น ไม่มีผลกระทบใดๆ ซึ่งลานประมูลถือเป็นตัวกลาง และยังอยู่ได้อีกนาน
ปัจจุบันรถในสต๊อกของบริษัทสยามอินเตอร์การประมูลรวมรถทุกประเภทอยู่ที่ 30,000 คัน ถือว่ามากที่สุดในประเทศ รองรับรถได้ 50,000 คัน ยอดขายอยู่ที่เดือนละ 10,000 คัน
วินฟาสต์คือบริษัทผลิตรถยนต์ในเครือของวินกรุ๊ป บริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 และ เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2564 จากนั้นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ในปี 2566 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
นับจากนั้น วินฟาสต์ก็ค่อยๆ เริ่มขยายธุรกิจสู่ตลาดใหญ่ของโลก อย่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยปัจจุบันกำลังสร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าในรัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐฯ และอินเดีย และมีแผนจะสร้างโรงงานเพิ่มเติมในอินโดนีเซีย
ในปี 2567 วินฟาสต์เล็งขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง โดยอาศัยประสบการณ์จากตลาดในอเมริกามาจับตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และไทยคือหนึ่งในนั้น ซึ่งได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน
วินฟาสต์ได้ประกาศแผนเปิดตัวรถยนต์หลากหลายรุ่นในประเทศไทยภายใน 2567 ประกอบด้วย รุ่น VF e34 ในเดือนมิถุนายน 2567 รุ่น VF 5 ในเดือนสิงหาคม หรือกันยายน 2567 และรุ่น VF 6 และ VF 7 โดยจัดแสดงทัพรถยนต์ และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า อวดโฉมกันในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2024 ที่ผ่านมา
สุดท้ายแล้วที่คาดการณ์ว่าวินฟาสต์จะแนะนำรถยนต์ VF 5 รุ่นแรกเข้าทำตลาดในประเทศไทยใน ก็ไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเรียกว่า แท้งก่อนกำเนิดเสียอีก ซึ่งยังขยายธุรกิจไปยังตลาดในประเทศต่างๆ แต่หนึ่งในนั้นไม่มีประเทศไทย ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า จะวกกลับหัวเรือกลับเข้ามาทำตลาดในบ้านเราอยู่หรือไม่