หากขับรถเพื่อต้องใช้บริการสถานีบริการน้ำมัน เราจะเห็นว่าตามรายทาง ถนนที่สัญจรผ่าน นอกจากจะมีสถานีที่บริการน้ำมัน และบริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังคงมีสถานีที่ยังมีบริการเติมก๊าซ LPG กับ NGV อยู่ รถแท็กซี่ยังคงใช้กัน คนที่เดินทางออกต่างจังหวัดยังคงพบเจอได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อนก็ตาม
หลายคนคงยังไม่ทราบว่าก๊าซ LPG กับ NGV นั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? ขออธิบายเพื่อเป็นความรู้กันสักนิด
ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG (LIQUEFIED PETROLEUM GAS) เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีองค์ประกอบของก๊าซโพรเพน (PROPANE) เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ โดยตัว LPG เองนั้น จะไม่มีสี ไม่มีกลิ่นเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติหลาย ๆ ตัว แต่เนื่องจากเป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ จึงมีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้น จึงมีข้อกำหนดให้เติมสารมีกลิ่น เพื่อเป็นการเตือนภัยหากเกิดการรั่วไหล LPG ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและกิจการอุตสาหกรรม โดยบรรจุเป็นของเหลวใส่ถังที่ทนความดันเพื่อให้ขนถ่ายง่าย นอกจากนี้ ยังนิยมใช้แทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์ เนื่องจากราคาถูกกว่า และมีค่าออกเทนสูง
ส่วน NGV หรือ NATURAL GAS FOR VEHICLE นั้น หมายถึง ก๊าซธรรมชาติสำหรับพาหนะ ซึ่งเป็นก๊าซเชื้อเพลิงที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ได้เช่นเดียวกับ น้ำมันเบนซินและดีเซล โดยที่ ก๊าซ NGV จะถูกอัดจนมีความดันสูง มากกว่า 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ซึ่งในจุดนี้เอง ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศ จึงเรียกก๊าซ NGV ว่า COMPRESSED NATURAL GAS หรือ CNG ซึ่งก็แปลตรงแหละว่า ก๊าซธรรมชาติอัด นั่นเอง เป็นอันว่าทั้ง NGV และ CNG เป็นก๊าซตัวเดียวกันนั่นเอง
NGV เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ และมีความปลอดภัยมากที่สุดก็ว่าได้ เรียกว่า ปลอดภัยกว่าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ซึ่งก็แน่นอนว่าปลอดภัยกว่าก๊าซหุงต้มหรือ LPG หลายเท่า ที่ NGV มีความปลอดภัยมากกว่าเชื้อเพลิงตัวอื่น ๆ ก็เพราะคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครนั่นเอง
อย่างเช่น NGV เบากว่าอากาศแต่ก๊าซหุงต้มและไอน้ำมันเบนซินหรือดีเซลหนักกว่าอากาศ ดังนั้นเมื่อเกิดรั่วไหล ก๊าซ NGV จะไม่สะสมอยู่บนพื้นดินจนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่น ๆ นอกจากนั้น อุณหภูมิที่ก๊าซ NGV จะลุกติดไฟในอากาศเองได้ ต้องสูงถึง 650 องศาเซลเซียส ในขณะที่เชื้อเพลิงอื่น ๆ ลุกติดไฟได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่ามาก อีกทั้งความเข้มข้นขั้นต่ำสุดที่จะลุกติดไฟได้ของก๊าซ NGV จะต้องมีปริมาณสะสมถึง 5% ในขณะที่ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG จะอยู่ที่ 2% เท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะ LPG หรือ NGV ชั่วโมงนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า จะยังคงอยู่หรือจะหายไป ส่วนน้ำมันเบนซิน ดีเซลที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มจะลดน้อยร่อยหรอลงทุกวัน จนทำให้ต้องมีการพัฒนาในส่วนของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทดแทนการใช้น้ำมัน รวมไปถึงรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เราได้เห็นกันไปบ้าง แม้จะยังบางตาอยู่ แต่คาดว่าจะผลิตออกมาให้เห็นเยอะมากขึ้นกันอีกในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ส่วนในปัจจุบันถือว่ายังเป็นเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ ก็ต้องตามดูกันต่อว่าจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าเชื้อเพลิงชนิดใดก็ตาม ยังพอมีทิศทางที่ดีไปได้อยู่เรื่อยๆ ถ้ามีผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง