นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย มร. โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายณพพลวรรฒ โสมณวัตร์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี และคณะผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า บริษัทในเครือฯ ผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้า ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า พันธมิตรทางธุรกิจ และจิตอาสาโตโยต้า รวมกว่า 1,800 คน ร่วมเปิดโครงการ “โตโยต้า ครบรอบ 60 ปี ปลูกป่า 600,000 ต้น” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเริ่มต้นจากการปลูกป่าภายในพื้นที่ของโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจำนวน 18,000 ต้น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ในการดำเนินงานในประเทศไทย โตโยต้า ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่กับการเป็น "ผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม” โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญคือการ เสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว โตโยต้าได้มีความพยายามเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง (Multi-Pathway) พร้อมกับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการจัดการกระบวนการตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในนั้นคือ การยกระดับการดำเนินงานในสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตมากมาย อาทิ นวัตกรรมด้านพลังงาน เช่น นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในสายการผลิต การนำหลักกลศาสตร์ “คาราคุริ” มาใช้ เพื่อลดการใช้พลังงานในสายการผลิต ตลอดจนการนำเสนอกิจกรรมไคเซ็นด้านการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรโดยพนักงานอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องในวาระโอกาสฉลองการดำเนินงานในประเทศไทยครบ 60 ปี โตโยต้าจึงได้ริเริ่มโครงการ “โตโยต้า ครบรอบ 60 ปี ปลูกป่า 600,000 ต้น” เพื่อเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตั้งเป้าเป็นโครงการระยะยาว ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น กรมป่าไม้ ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับปี 2565 ได้วางแผนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในโรงงานโตโยต้าทั้ง 3 แห่ง เป็นจำนวน 200,000 ต้น เริ่มต้นจากการปลูกป่า 18,000 ต้น ที่โรงงาน โตโยต้าบ้านโพธิ์ในวันนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนต้นกล้าจากกรมป่าไม้ และตั้งเป้าขยายการดำเนินงานสู่ภายนอก อีก 400,000 ต้น ต่อไป เพื่อให้ครบตามเป้าหมายในปีนี้ ที่ 600,000 ต้น
กิจกรรมในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของกิจกรรมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่โตโยต้าได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนรวมราว 2 ล้านต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 19,200* ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อันประกอบด้วย กิจกรรมปลูกป่านิเวศ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. อาคิระ มิยาวากิ ผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่านิเวศจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เริ่มต้น ณ โรงงาน โตโยต้าบ้านโพธิ์ ในปี พ.ศ. 2551 และได้ร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายฯ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน และหน่วยงานต่างๆ ในการปลูกป่านิเวศทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 1,350,000 ต้น และกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งจนถึงปัจจุบันได้มีการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 642,800 ต้น
นายสมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน โตโยต้า จึงมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในกระบวนการผลิต โดยนอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโรงงานแล้วนั้น การเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญ โดยกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ดี ที่แสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ซึ่งโตโยต้าเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนพลังด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs - Sustainable Development Goal) ตลอดจนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2050 ให้ลุล่วงต่อไป”
นอกเหนือจากกิจกรรมในวันนี้ โตโยต้ายังมุ่งมั่นในการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทย ภายใต้โครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว” ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ กิจกรรมลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา กิจกรรมลดเปลี่ยนโลก ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา เป็นต้น ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้และปรับพฤติกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองสีเขียว ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืนต่อไป