ในปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยเผชิญกับปัญหายอดขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างมาก โดยยอดขายรวมอยู่ที่ 572,675 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปี สาเหตุหลักมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 70%
แน่นอนว่าเมื่อยอดขายลดลง ก็ส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ในประเทศปรับลดลงเช่นกัน โดยในปี 2567 ไทยผลิตรถได้ 1.47 ล้านคัน ลดลง 20% จาก 1.83 ล้านคันในปี 2566 การลดลงนี้เกิดจากยอดขายในประเทศและการส่งออกที่ลดลงด้วย
แม้ตลาดรถยนต์โดยรวมจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์พลังงานทางเลือกอาจเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นตลาดในอนาคต
สำหรับค่ายรถที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
จากข้อมูลจะเห็นว่า ในปี 2567 ตลาดรถยนต์ไทยยังคงเผชิญกับภาวะซบเซา โดยค่ายรถยนต์ชั้นนำต่างมียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง
โตโยต้ายังคงครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 38.5% ด้วยยอดขาย 220,356 คัน ลดลง 17.1% จากปีก่อน ตามมาด้วยอีซูซุที่มียอดขาย 85,582 คัน ลดลงถึง 43.7% ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในกลุ่มผู้นำตลาด ขณะที่ฮอนด้าอยู่ในอันดับสาม ด้วยยอดขาย 76,574 คัน ลดลง 18.8% ส่วนมิตซูบิชิและบีวายดีมียอดขาย 27,318 และ 27,021 คัน ตามลำดับ โดยแม้มิตซูบิชิจะลดลง 16.4% แต่บีวายดีกลับลดลงเพียง 11.2% ซึ่งสะท้อนถึงกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
โตโยต้า ประเทศไทย ระบุว่า ความนิยมของรถในกลุ่มอีโคคาร์ของโตโยต้าที่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถยนต์นั่งยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสัดส่วนยอดขายรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่น Yaris Cross ที่ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้านับธตั้งแต่เปิดตัว
ในขณะที่สัดส่วนยอดขายของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังคงครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 44% จากการที่โตโยต้าพัฒนารถกระบะไฮลักซ์ให้รองรับการใช้งานต่างๆ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสำเร็จของ Toyota Hilux Champ ซึ่งให้การปรับแต่งเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้เป็นอย่างดี มียอดขายอยู่ที่ 11,743 คัน โดยมีส่วนแบ่งตลาด 7.2% ในกลุ่มรถกระบะ
ในปี 2567 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 338,107 คัน ลดลง 11% จากปี 2566 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกใน ปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 536,145 คัน หรือลดลง 14% จากปี 2566
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568 คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากกิจกรรมในภาคธุรกิจและการลงทุนที่จะกระเตื้องขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ให้สูงขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ตลอดจนกลยุทธการส่งเสริมการขายและสงครามราคาจากผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆที่คงจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์ที่ทางสถาบันการเงินอาจยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เนื่องจากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงและอัตราหนี้เสียที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2568 จะอยู่ที่ 600,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สำหรับโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 231,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 5% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 38.5%
สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2568 คาดการณ์ว่ายังต้องเผชิญกับภาวะทรงตัวสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศ คู่ค้า ส่งผลให้โตโยต้าตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 336,184 คัน หรือลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2568 อยู่ที่ราว 537,860 คัน หรือเพิ่มขึ้น 0.3% จากปีที่ผ่านมา
ที่มา: โตโยต้า ประเทศไทย , Reuters