จีนเปิดฉากตอบโต้สหรัฐฯ อย่างรุนแรง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยล่าสุดรัฐบาลปักกิ่งประกาศจะเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงถึง 84% ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 10 เมษายนนี้ นับเป็นการยกระดับความตึงเครียดในสงครามการค้าให้ลุกลามขึ้นอีกครั้งระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก
มาตรการตอบโต้ดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ฝั่งสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีนที่อัตราสะสม 104% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 100 ปีของระบบการค้าสหรัฐฯ
นอกจากการขึ้นภาษี จีนยังดำเนินมาตรการเชิงรุกหลายด้าน โดยประกาศว่าจะยื่นเรื่องฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมทั้งเพิ่มบริษัทอเมริกัน 12 แห่งลงใน “บัญชีควบคุมการส่งออก” และอีก 6 บริษัทเข้าสู่ “บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ” เพื่อจำกัดบทบาททางธุรกิจในประเทศจีน
ตลาดการเงินตอบสนองทันทีต่อสถานการณ์ที่ร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งดัชนีฟิวเจอร์สปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในวันพุธ
ในขณะเดียวกัน หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีและยานยนต์ขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบโดยตรง Apple ลดลงถึง 2% ในช่วงก่อนเปิดตลาด Ford Motor ตกลงกว่า 2% และ General Motors ลดลงราว 1%
นอกจากนี้ ตลอดช่วงสี่วันที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีหลัก ๆ ตกลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น Dow Jones ที่ร่วงไปกว่า 4,500 จุด และ S&P 500 ที่ลดลง 12%
ในวันอังคาร แม้ S&P 500 จะพุ่งขึ้นกว่า 4% ระหว่างวัน แต่สุดท้ายปิดลบ 1.6% ขณะที่ดาวโจนส์ที่เคยบวก 3.9% จบวันด้วยการลดลง 0.8% ทั้งนี้ S&P 500 ในขณะนี้อยู่ห่างจากจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 19%
ผลกระทบยังลุกลามไปถึงตลาดตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นกว่า 10 จุดพื้นฐาน มาอยู่ที่ 4.37% ในวันพุธ ซึ่งถือว่าพุ่งแรงเมื่อเทียบกับต้นสัปดาห์ที่เคยลดลงต่ำกว่า 4%
หลังจากจีนประกาศมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ความเห็นจากฝั่งสหรัฐฯ ก็เริ่มออกมา โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สกอตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Fox Business ว่า “น่าเสียดาย” ที่จีนไม่เลือกเส้นทางการเจรจา พร้อมเตือนว่าการยกระดับความขัดแย้งเช่นนี้ “ไม่เป็นผลดีต่อจีนเอง”
“พวกเขาเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับเรา เพราะฉะนั้นการตอบโต้แบบนี้จะทำให้พวกเขาเจ็บตัวมากกว่า” เบสเซนต์กล่าว พร้อมเสริมว่าในสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อมองในมุมของสัดส่วนผลกระทบ จีนจะเป็นฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมากกว่าสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อถูกถามว่าสหรัฐฯ จะให้เวลาภาคธุรกิจปรับตัวกับระดับภาษีที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เขาตอบชัดว่า “ไม่มี” พร้อมย้ำว่าความเสียหายจะหนักหน่วงยิ่งกว่าหากจีนยังเลือกเดินเกมแข็งกร้าว
เบสเซนต์เสนอว่า หากจีนต้องการแสดงความจริงใจ ก้าวแรกที่ควรทำคือการจัดการปัญหาการส่งออก สารตั้งต้นสำหรับผลิตยาเฟนทานิล ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด
เขายังเผยว่า มีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเพื่อนบ้านของจีน กำลังเข้ามาเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะ เวียดนาม ที่ “กำลังเดินทางมาหารือในวันนี้”
“ชัยชนะที่แท้จริงในเรื่องนี้” เบสเซนต์สรุป “คือการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็ง แล้วใช้แรงกดดันร่วมกันบีบให้จีนต้องปรับสมดุลใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ”
ด้านมุมมองของ คุณแบงก์-ชยนนท์ รักกาญจนันท์ Head Coach และ Co-Founder FINNOMENA ให้สัมภาษณ์กับ Spotlight ว่าการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐของจีนนั้นถือว่าจีนกล้าเดิมพันกับสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่า ภาษีที่แพงจะทำให้ความเป็นอยู่ของคนอเมริกันต้องจ่ายค่าสินค้าหลายรายการแพงขึ้นมาก ซึ่งความเดือดร้อนนี้จะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์เอง รวมถึงคะแนนนิยมของทรัมป์จะแย่ลง ซึ่งการโต้ตอบแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของจีนเช่นนี้ จีนอาจมองว่าท้ายที่สุดสหรัฐฯจะไม่สามารถทนกับสถานการณ์สินค้าที่แพงขึ้นได้
ขณะที่จีนเองมีความพร้อมที่รัฐบาลกลางต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และได้ดำเนินมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง จีนมีความพร้อมในการรับมือสงครามการค้ามาตั้งแต่ละลอกที่หนึ่งดังนั้นสงครามการค้าในรอบนี้จีนได้เตรียมความพร้อมไว้ในเรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าจีนจะสามารถอดทนผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้นานกว่าคนอเมริกันที่เดือดร้อนจากของแพง