ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการตอบโต้เชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศจำกัดการส่งออก “แร่หายาก” (Rare Earth Elements – REEs) ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในระดับโลก
เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประกาศมาตรการใหม่ในการควบคุมการส่งออกแร่หายาก โดยบรรจุแร่สำคัญ 7 ชนิดไว้ในบัญชีควบคุมอย่างเป็นทางการ ได้แก่ แซมาเรียม (Samarium), แกโดลิเนียม (Gadolinium), เทอร์เบียม (Terbium), ดิสโพรเซียม (Dysprosium), ลูเตเทียม (Lutetium), สแกนเดียม (Scandium) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอิตเทรียม (Yttrium) ซึ่งล้วนเป็นแร่หายากที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ในทันที และครอบคลุมทั้งวัตถุดิบ แม่เหล็กถาวร ไปจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ใช้บังคับกับทุกประเทศทั่วโลก สะท้อนถึงท่าทีของจีนที่พร้อมใช้อำนาจในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติเป็นกลยุทธ์เชิงยุทธศาสตร์บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
แร่หายากเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ ชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI), ระบบอาวุธ, มอเตอร์แม่เหล็กถาวร, รถยนต์ไฟฟ้า, สมาร์ตโฟน และเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21
แม้มาตรการของจีนยังไม่ถึงขั้นสั่งห้ามการส่งออกโดยสมบูรณ์ แต่การควบคุมใบอนุญาตสามารถใช้จำกัดปริมาณการส่งออกได้โดยตรง ซึ่งอาจทำให้ตลาดโลกตึงตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแหล่งผลิตทางเลือกมีอยู่จำกัดและยังไม่มีประเทศใดสามารถทดแทนบทบาทของจีนในห่วงโซ่อุปทานนี้ได้อย่างเต็มที่ในระยะสั้น
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของการผลิตทั่วโลก พร้อมทั้งเป็นผู้นำด้านการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่
แร่หายากเหล่านี้เป็นวัสดุพื้นฐานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หลายสาขา เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ชิปเซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ตโฟน ระบบนำทางของจรวด และอาวุธล้ำสมัย โดยตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ นีโอไดเมียม (Neodymium) ซึ่งใช้ในมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้า ดิสโพรเซียม (Dysprosium) ที่ใช้ในผลิตแม่เหล็กทนความร้อนสูงที่จำเป็นต่อเครื่องยนต์เจ็ต เทอร์เบียม (Terbium) ที่จำเป็นต่อระบบสั่นของสมาร์ตโฟน และทังสเตน (Tungsten) ซึ่งมีความแข็งสูงและใช้ในกระสุน, ชิป และเครื่องยนต์เจ็ต
รวมถึง แร่หายากอื่นๆ อย่างซามาเรียม แกโดลิเนียม ลูเตเทียม สแกนเดียม และแร่อิตเทรียม ที่มีบทบาทในเคลือบผิวใบพัดของเครื่องยนต์ และเรดาร์ความถี่สูง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในรายชื่อแร่ควบคุมการส่งออกฉบับล่าสุดของจีน
ด้วยอิทธิพลเหนือซัพพลายเชนแร่หายากทั้งในด้านปริมาณและเทคโนโลยีการแปรรูป จีนจึงถือไพ่เหนือกว่าในเวทีการค้าโลก และสามารถใช้แร่หายากเป็นเครื่องมือต่อรองเชิงยุทธศาสตร์ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านี้ ระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงเมษายน 2568 จีนเคยจำกัดการส่งออกแร่หายากมาแล้ว 3 ครั้ง เพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกีดกันด้านเทคโนโลยีออกมามากมาย รวมถึงการห้ามส่งออกชิประดับสูงไปจีน
ระลอกแรก ในเดือนธันวาคม 2567 จีนจำกัดการส่งออกแร่หายาก 3 ชนิด ได้แก่ แอนติโมนี (Antimony) แกลเลียม (Gallium) และเจอร์เมเนียม (Germanium) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวงจรเซมิคอนดักเตอร์และระบบสื่อสารความถี่สูง
ระลอกสอง ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 จีนได้ขยายขอบเขตการควบคุมไปยังโลหะที่ใช้ในการผลิตทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ชิป ได้แก่ ทังสเตน (Tungsten) อินเดียม (Indium) โมลิบดีนัม (Molybdenum) บิสมัท (Bismuth) และเทลลูเรียม (Tellurium)
ระลอกสาม ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา จีนได้ขยายมาตรการไปสู่กลุ่มแร่หายากที่มีบทบาททั้งในระบบสื่อสาร แม่เหล็กถาวร และการแพทย์ ได้แก่ สแกนเดียม ดิสโพรเซียม แกโดลิเนียม เทอร์เบียม อิตเทรียม ลูเทเทียม และซามาเรียม
มาตรการควบคุม 3 ระลอกนี้ สะท้อนถึงนโยบายของจีน ที่หันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบไฮเทคในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งในอุตสาหกรรมชิป เซมิคอนดักเตอร์ พลังงานใหม่ ระบบควอนตัม และการป้องกันประเทศ โดยตั้งเป้าเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศคู่แข่ง และสร้างอำนาจต่อรองด้านเทคโนโลยีในระยะยาว
นาธาน พิคาร์ซิค จากบริษัทที่ปรึกษา Horizon Advisory กล่าวว่า ในการจำกัดแร่หายากเพิ่มอีก 7 ประเภทในครั้งนี้ “จีนแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะยกระดับเกมการค้ากับสหรัฐฯ” และวิเคราะห์ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเกมเจรจาที่ยืดเยื้อกับสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2553 เมื่อจีนหยุดส่งออกแร่หายากไปยังญี่ปุ่น
มาตรการจำกัดการส่งออกแร่หายากของจีนที่ประกาศล่าสุด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทอเมริกันรายใหญ่ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น Lockheed Martin, Tesla, Apple, Boeing หรือ General Electric โดยเฉพาะในภาคการบินและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่แร่หายากมีบทบาทสำคัญในระบบขีปนาวุธ เครื่องยนต์เจ็ต และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
ไรอัน คาสติโญซ์ จากบริษัท Adamas Intelligence กล่าวว่า “เรากำลังจะเห็นการแข่งขันแย่งชิงแหล่งทรัพยากรจากพื้นที่อื่นที่มีอยู่อย่างจำกัด” ขณะที่เดวิด เมอร์ริแมน จาก Project Blue ระบุว่า แร่หายากประเภทหนัก (HREE) อย่างดิสโพรเซียมและเทอร์เบียมซึ่งอยู่ในรายการควบคุม เป็นกลุ่มที่จีนมีอิทธิพลเหนือห่วงโซ่อุปทานมากที่สุด
ปัจจุบันมีเพียงเหมืองแห่งเดียวที่ผลิตแร่กลุ่ม HREE นอกจีน พม่า และลาว คือเหมือง Serra Verde ในบราซิล ซึ่งยังต้องส่งแร่กลับจีนเพื่อแปรรูป แต่แม้ว่าจะมีเหมืองสำรอง ในด้านการแปรรูป แทบทุกประเทศยังคงต้องพึ่งพาจีน ซึ่งมีเทคโนโลยีและกำลังการผลิตสูงสุดในโลก ทำให้การลดการพึ่งพาจีนในระยะสั้นแทบเป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้ แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมยังเผยว่า มาตรการของจีนในครั้งนี้สร้างความกังวลในภาคการบินของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ยังไม่สามารถหาแหล่งแร่หายากอื่นได้นอกจากจีน และแร่หายากเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากสำหรับระบบอิเล็กทรอนิกส์การบิน (avionics)
แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเร่งผลักดันการสร้างความมั่นคงด้านแร่หายากภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาจีน แต่ความคืบหน้าในภาคการผลิตยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โครงการเหมืองของบริษัท NioCorp Developments ในรัฐเนบราสก้า แม้จะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ก็ยังอยู่ระหว่างการจัดหาเงินทุน ขณะที่บริษัท USA Rare Earth เพิ่งเริ่มต้นการก่อสร้างโรงงานผลิตแม่เหล็กถาวรในรัฐโอคลาโฮมา
ในฝั่งของผู้พัฒนาเทคโนโลยีแปรรูป บริษัทสตาร์ทอัพ Phoenix Tailings ซึ่งมีฐานอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้ประกาศแผนเพิ่มกำลังการผลิตจาก 40 เมตริกตัน เป็น 4,000 เมตริกตันต่อปีภายในปี 2027 เพื่อเร่งเสริมศักยภาพการจัดหาแร่หายากภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงมีอยู่ แม้แต่ MP Materials ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่หายากรายเดียวของสหรัฐฯ ก็ยังต้องส่งแร่ไปแปรรูปในจีน เนื่องจากสหรัฐฯ ยังขาดโรงงานแปรรูปในประเทศที่สามารถดำเนินการในระดับอุตสาหกรรม
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานภายในสหรัฐฯ และความจำเป็นในการสร้างระบบผลิตแร่หายากแบบครบวงจร ตั้งแต่การขุด การแปรรูป ไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย
การผลิตและแปรรูปแร่หายากต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงและต้นทุนมหาศาล ซึ่งสหรัฐฯ ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไลล์ ทรีตเทน ผู้เชี่ยวชาญด้านแร่สำคัญ ประเมินว่า ต่อให้เริ่มโครงการใหม่ทันที การเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 8 ถึง 10 ปี กว่าที่สหรัฐฯ จะได้เห็นกำลังผลิตใหม่ในระดับที่มีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า สหรัฐฯ ยังคงเผชิญอุปสรรคสำคัญ ทั้งการขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมเหมืองแร่และเทคโนโลยีวัสดุ รวมถึงนโยบายภาษีของสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่กำหนดในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเพิ่มต้นทุนในการสร้างโรงงานแปรรูปและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ฟาเบียน วิลลาโลบอส วิศวกรร่วมของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชัน ยังออกมาเตือนว่า การเปลี่ยนระบบส่งออกแร่หายากของจีนให้ต้องผ่านการขอใบอนุญาตรายกรณี ไม่เพียงแต่จะทำให้กระบวนการล่าช้าและจำกัดปริมาณการส่งออกในระยะสั้น แต่ยังอาจเป็นเครื่องมือให้จีนสามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ซื้อจากทั่วโลกได้ โดยเฉพาะบริษัทในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการป้องกันประเทศ อาทิ Lockheed Martin ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายการคว่ำบาตรที่เจาะจงได้ในอนาคต
“นี่คือความเสี่ยงที่แท้จริง” วิลลาโลบอส กล่าว “เมื่อคุณรู้ว่าใครต้องการอะไร คุณก็มีอำนาจในการควบคุมว่าใครจะได้หรือไม่ได้อะไรจากคุณ”
เขายังระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่นี้ การส่งออกแร่หายากจากจีนอาจชะงักหรือชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากกระบวนการอนุมัติใบอนุญาตต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
แม้ว่าปัจจุบันจีนยังไม่รวมแร่หายากบางประเภท เช่น นีโอไดเมียม (Neodymium) และพราซีโอไดเมียม (Praseodymium) ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการผลิตแม่เหล็กถาวร ไว้ในมาตรการควบคุม แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการดำเนินการล่าสุดของจีนเป็นเสมือน “การยิงเตือน” ที่บ่งชี้ถึงความพร้อมในการยกระดับข้อจำกัด หากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ปะทุรุนแรงยิ่งขึ้น
“ลองนึกถึงทุกสิ่งที่เคลื่อนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ถ้าคุณกดปุ่มแล้วมันขยับ มันเกือบทั้งหมดใช้แม่เหล็กจากแร่หายาก” วิลลาลอบอสกล่าวเสริม “หากจีนควบคุมการเข้าถึงแร่หายากเหล่านี้ได้จริง พวกเขาก็มีอำนาจควบคุมอนาคตของเทคโนโลยีโลกเช่นกัน”