วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2568 ประกาศผลการจัดอันดับ Bank of the Year 2025 โดยพิจารณาจากผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย 12 แห่ง ในปี 2567 ซึ่งผลปรากฏว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงเทพ คว้ารางวัลธนาคารแห่งปีจากความแข็งแกร่งของผลการดำเนินงานและฐานะการเงินอย่างโดดเด่น
ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงรักษาตำแหน่งธนาคารแห่งปีไว้ได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน (2566–2568) ด้วยกำไรสุทธิในปี 2567 สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ที่ 49,232.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.66% จากปีก่อนหน้า หนุนด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตถึง 104,600 ล้านบาท
SCB วางกลยุทธ์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งระยะยาว โดยเน้น 3 แกนหลัก ได้แก่
1.Value Driven Customer Strategy with Credit Efficiency Focus : การนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินอย่างเหมาะสมกับความต้องการ มูลค่า และระดับความเสี่ยงของลูกค้าเป้าหมาย
2. Productivity Optimization : การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อควบคุมอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว ผ่านการเพิ่มผลิตภาพและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่
(1) ด้านพนักงาน ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
(2) ด้านไอที มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศในด้านเสถียรภาพของระบบธนาคาร ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคุณภาพการให้บริการด้วยการปรับรูปแบบการทำงานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
3. AI-First Bank : การเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วย AI เป็นหลัก โดยดำเนินการลงทุนเพื่อวางรากฐานให้องค์กรสามารถนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ได้ในทุกส่วนงาน ทั้งระบบ
นอกจากนี้ ธนาคารยังดำเนินการนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในหลายส่วนงานสำคัญของธนาคาร อาทิ การอนุมัติสินเชื่อ การติดตามหนี้ การตรวจสอบความเสี่ยงด้าน Fraud การเพิ่มผลิตภาพของพนักงาน และการพัฒนาความเข้าใจลูกค้าอันนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะตัวบุคคล (Hyper-Personalization) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ธนาคารกรุงเทพกลับมาคว้าตำแหน่ง Bank of the Year 2025 ด้วยกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.59% เป็นอันดับ 3 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 23.69 บาท
ธนาคารกรุงเทพเดินหน้าด้วยนโยบายการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่
1. การเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) ธนาคารมุ่งสร้างการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและขยายธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนลูกค้าที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ หรือต้องการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียที่ธนาคารกรุงเทพมีสาขา ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับหลักการ Sustainable Banking และ Responsible Lending
2. พันธมิตรด้านแพลตฟอร์ม (Platform Partner) ธนาคารสนับสนุนการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
3. ความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงิน (Wealth and Wellness) ธนาคารนำเสนอบริการที่ช่วยให้ลูกค้าขยายผลต่อยอดความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัวในอนาคต
4. องค์กรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data-driven Organization) ธนาคารมุ่งเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูล โดยการพัฒนาระบบ Data Lake อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
5. การเสริมสร้างรากฐานองค์กร (Strengthened Foundation) ธนาคารมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะและความสามารถที่เพียงพอและเท่าทันสำหรับยุคแห่ง Disruption ของเทคโนโลยีดิจิทัล