Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิด 5 สินค้าตัวท็อป จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ โดนภาษีหนัก เร่งหาคู่ค้าใหม่
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เปิด 5 สินค้าตัวท็อป จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ โดนภาษีหนัก เร่งหาคู่ค้าใหม่

14 เม.ย. 68
18:11 น.
แชร์

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุรอบใหม่ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ  ประกาศขยายอัตราภาษีเพิ่มกับสินค้านำเข้าจากจีนทะยานไปถึง 145% แล้ว แม้ว่าทรัมป์จะออกมายกเว้นภาษีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในภายหลัง พร้อมกับเปิดประตูเปรยว่าทำเนียบขาวถือสายรอสี จิ้นผิงของจีน มาเริ่มเจรจาลดภาษีอยู่ แต่รัฐบาลจีนก็โต้แรงว่าไม่มีทางจะโทรไป ลั่นไม่ยอมถอยและจะสู้ให้ถึงที่สุด พร้อมตอบโต้กลับด้วยมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้าจากอเมริกาที่ 125% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการประกาศขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ ก็จะสร้างผลกระทบกับผู้ผลิตในจีนที่ต้องพึ่งพาสินค้าจากอเมริกา Spotlight ชวนส่อง 5 อันดับสินค้าที่จีนนำเข้าจากอเมริกามากที่สุด จะมีอะไรบ้าง และจีนจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจีนจะหันหน้าไปหาแหล่งผลิตอื่น เช่นเดียวกับปี 2018 ที่เคยโดนภาษีทรัมป์เล่นงานมาแล้วแบบเดียวกับปัจจุบัน ด้านคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ITC ได้รวบรวมข้อมูลสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศจีน 5 อันดับแรกในปี 2024 ดังนี้

1. ถั่วเหลือง เมล็ดพืชน้ำมัน และธัญพืช

จีนซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากสหรัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะ ถั่วเหลือง เมล็ดพืชน้ำมัน และธัญพืช  ตามข้อมูลของศุลกากรจีน รายงานว่า จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่าประมาณ 12,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันการส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ไปยังจีนอยู่ภายใต้ ภาษีนำเข้าสูงถึง 135% อันเป็นผลมาจากภาษีนำเข้า 10% ที่เรียกเก็บกับสินค้าเกษตรบางรายการในเดือนมีนาคม บวกกับภาษีนำเข้า 125% ที่ประกาศเรียกเก็บเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าถั่วเหลืองซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารสัตว์ เคยได้รับผลกระทบไปแล้วในช่วงโดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก เมื่อปี 2018 ในเวลานั้น จีนพยายามกระจายแหล่งนำเข้าใหม่ และมองหาประเทศอื่นสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร น บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกได้กลายมาเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ โดยจีนนำเข้าพืชตระกูลถั่วเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกถั่วเหลืองของบราซิลไปยังจีนเติบโตขึ้นมากกว่า 280% ตั้งแต่ปี 2010 ในขณะที่การส่งออกของสหรัฐฯ ยังคงเท่าเดิม

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สี จิ้นผิงได้เดินทางเยือนบราซิลอย่างเป็นทางการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ในปี 2024 รัฐบาลบราซิลพร้อมโอบรับ เพราะจีนได้กลายเป็นตลาดหลักส่งออกถั่วเหลืองของบราซิล โดยคิดเป็นมากกว่า 73% ของการส่งออกถั่วเหลืองทั้งหมดของประเทศ หลังจากสงครามภาษีปะทุขึ้น จีนอาจเรียกร้องการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากบราซิล รวมถึงประเทศอเมริกาใต้อื่น ๆ เช่น อาร์เจนตินา ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากบราซิลและสหรัฐอเมริกา

2. เครื่องบินและเครื่องยนต์ 

ในปี 2024 มีรายงานว่าจีนได้สั่งซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์จากสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 143,500 ล้านบาท บริษัท Boeing ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการขึ้นภาษี 145% เพราะจะมีราคาสูงขึ้นมหาศาล จนสายการบินจีนไม่อาจทำกำไรจากเครื่องบิน Boeing ได้เช่นเคย ในช่วงปี 2018 ทรัมป์ได้งดเว้นภาษีกับ Boeing แต่ยอดขายก็ลดลงอย่างรุนแรงอยู่ดี และจีนก็แบน Boeing มาเป็นเวลาหลายปี เพิ่งจะกลับมาอนุญาตให้นำเข้าเครื่องบินจากแบรนด์นี้ได้เมื่อต้นปีที่แล้ว

เมื่อจีนโต้ตอบภาษีทรัมป์ในครั้งนี้ โอกาสจึงตกเป็นของเครื่องบินและเครื่องยนต์จากยุโรป โดยเฉพาะคู่แข่งอย่าง Airbus โดยบริษัทรายงานว่าได้ส่งมอบเครื่องบินพาณิชย์ทั้งหมด 766 ลำ ให้กับลูกค้า 86 รายทั่วโลกในปี 2024 แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงว่ามีจำนวนกี่ลำที่ส่งมอบให้กับสายการบินจีนหรือบริษัทในจีน แต่จีนเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับ Airbus และมีการส่งมอบเครื่องบินให้แก่ลูกค้าชาวจีนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จีนยังบริษัทผู้ผลิตอากาศยานของรัฐบาลจีนเอง ภายใต้ชื่อ COMAC ที่มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่อันดับสามของโลก แข่งขันกับ Boeing และ Airbus ในตลาดการบินพาณิชย์โลก และยังนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของจีนในการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมการบิน และลดการพึ่งพาผู้ผลิตจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2018 COMAC ส่งมอบเครื่องบิน C919 จำนวน 13 ลำ ให้กับ 3 สายการบินหลักของจีน ได้แก่ China Eastern Airlines (8 ลำ), Air China (2 ลำ), และ China Southern Airlines (3 ลำ)

3. แผงวงจรรวม 

แผงวงจรรวม (Integrated Circuits - ICs) เป็นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นหัวใจหลักในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภทในประเทศจีน จีนนำเข้า ICs จำนวนมากเพื่อใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์และแล็ปท็อป โทรทัศน์และเครื่องเสียง เครื่องเล่นเกม อุปกรณ์สวมใส่ เช่น นาฬิกาอัจฉริยะหรือ สมาร์ทวอชท์ รวมถึงเครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังใช้ผลิตเครื่องมือการแพทย์ อุปกรณ์โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมยานยนต์

ในปี 2024 จีนนำเข้าวงจรรวมจากสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 10.4% จากปีก่อนหน้า แต่แท้จริงแล้ว สหรัฐอเมริกา เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 5 ของจีน เนื่องจากจีนมีแหล่งผลิตภายในที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากไต้หวันและเมืองเทคโนโลยีอื่น ๆ ในจีน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จีนจะขอเติมเต็มส่วนที่ขาดไปจากสหรัฐฯ แหล่งผลิตหลักนี้ที่มีกำลังการผลิตสูงไม่แพ้สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังหันหน้าหาบางประเทศในอาเซียน ล่าสุด สี จิ้นผิง ผู้นำจีนกำลังเดินทางเยือนอาเซียด้วยตัวเอง เพื่อหาความร่วมมือเพิ่มเติมในขณะนี้

4. ยารักษาโรค 

ในปี 2024 สหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาอันดับ 3 ของจีน UN COMTRADE ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมสถิติการค้าระหว่างประเทศของสหประชาชาติ เปิดเผยข้อมูลว่า จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่ากว่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้ายาที่สำคัญของจีน ส่วนผลิตภัณฑ์ยาหลักที่จีนนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เลือดมนุษย์หรือสัตว์, แอนติซีรา, วัคซีน, และยาที่บรรจุสำหรับการขายปลีก

อย่างไรก็ตาม จีนยังมีไอร์แลนด์และเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยารักษาโรคเป็นหลักให้กับจีน ไอร์แลนด์มีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับต้น ๆ และเป็นแหล่งนำเข้ายาอันดับ 1 ของจีน โดยมีมูลค่า 10,100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะจีนเองก็เป็นตลาดเภสัชภัณฑ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจีนมีผู้ผลิตยาจำนวนมาก โดยมีบริษัทอุตสาหกรรมยาขนาดใหญกว่า 10,000 แห่ง

5. ปิโตรเลียม 

ปี 2024 สหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบไปยังจีนประมาณ 166,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นน้อยกว่า 5% ของการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ และคิดเป็นเพียง 1.7% ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของจีน เนื่องจากจีนมีแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบที่หลากหลาย โดยหลักมาจากประเทศในตะวันออกกลาง รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียและแอฟริกา การวางแผนกระจายแหล่งนำเข้าช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนในภาวะที่สงครามการค้ากับสหรัฐฯ กำลังดุเดือด

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า การนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านของจีนพุ่งสูงขึ้นในเดือนที่แล้ว เป็นผลมาจากการกักตุนน้ำมัน ป้องกันผลกระทบจากภาษีศุลกากรของทรัมป์นั่นเอง ข้อมูลของบริษัทติดตามเรือ Vortexa ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า จีนนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านทะลุ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยตรงกับช่วงที่ระดับสต็อกน้ำมันในมณฑลซานตง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมันอิสระของจีนเพิ่มสูงขึ้น

บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Kpler คาดว่าจีนได้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอยู่ที่ 1.37 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จาก 747,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจีนเลือกหันมานำเข้าจากอิหร่านเพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการฝืนมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรการค้าน้ำมันของอิหร่านมาแล้ว 4 รอบ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้อง “แรงกดดันสูงสุด” ต่อรัฐบาลอิหร่านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


แชร์
เปิด 5 สินค้าตัวท็อป จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ โดนภาษีหนัก เร่งหาคู่ค้าใหม่