สิงคโปร์เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 หลัง ประธานาธิบดีทาร์แมน ชานมูการัตนัม ประกาศยุบสภาในวันนี้ (15 เมษายน) ตามคำแนะนำของ นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ซึ่งจะนำพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) ลงสนามเลือกตั้งในฐานะผู้นำรัฐบาลเป็นครั้งแรก โดยการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งจะประกาศในวันที่ 23 เมษายนนี้
สิงคโปร์เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 หลัง ประธานาธิบดีทาร์แมน ชานมูการัตนัม ประกาศยุบสภาในวันนี้ (15 เมษายน) ตามคำแนะนำของ นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ซึ่งจะนำพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party – PAP) ลงสนามเลือกตั้งในฐานะผู้นำรัฐบาลเป็นครั้งแรก โดยการเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งจะประกาศในวันที่ 23 เมษายนนี้
การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองสิงคโปร์ หลังจากที่ ลีเซียนลุง อดีตผู้นำซึ่งครองอำนาจมากว่า 20 ปี ส่งไม้ต่อให้นายหว่องในเดือนพฤษภาคม 2567 ภายใต้แผนเปลี่ยนผ่านผู้นำ "4G Leadership" ที่พรรค PAP เตรียมไว้นานนับทศวรรษ
แม้ PAP จะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลที่ปกครองประเทศมาตลอดตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 2508 และยังคงได้เปรียบในทุกสนามเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในเชิง “คะแนนนิยม” และ “เสถียรภาพของเสียงในสภา”
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2563 แม้ PAP จะคว้าชัยด้วยเสียงข้างมาก 61.24% และครองที่นั่งในรัฐสภา 83 จากทั้งหมด 93 ที่นั่ง แต่ถือเป็นผลคะแนนที่ต่ำที่สุดของพรรค นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนความท้าทายจากการเมืองยุคใหม่ และเสียงสะท้อนจากประชาชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็น
การเลือกตั้งปีนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในภาคส่งออกและการลงทุน จุดแข็งหลักของเศรษฐกิจสิงคโปร์
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) ได้ประกาศปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 ลงเหลือเพียง 0 – 2% จากเดิมที่คาดไว้ 1 – 3% สะท้อนแรงกดดันจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนจากปัจจัยภายนอก
การเลือกตั้ง 3 พฤษภาคมนี้ จึงไม่ใช่เพียงการตัดสินใจเรื่องผู้นำ แต่เป็นบททดสอบของระบบการเมืองสิงคโปร์ภายใต้ผู้นำยุคใหม่ ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจัยภายในที่คะแนนนิยมลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญและปัจจัยภายนอกในยุคของสงครามการค้าที่รุนแรง
ที่มา CNA