สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีภาพฝันใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้เห็น ‘iPhone’ สินค้าเรือธงแห่งโลกเทคโนโลยี ถูกประทับตรา “Made in USA” อย่างภาคภูมิ พราะการดึงสินค้าระดับตำนานอย่าง iPhone กลับมาผลิตในบ้านเกิด ไม่ได้เป็นแค่หมัดเด็ดกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการประกาศชัยชนะของยุทธศาสตร์ America First ที่จะส่งสารถึงทั้งโลกว่า สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่แล้ว ทั้งในเวทีเศรษฐกิจ และบนสายพานการผลิต
ทว่าเมื่อม่านควันของเวทีหาเสียงเริ่มจางลง ความจริงกลับไม่ได้สวยงามเช่นนั้น เพราะแม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทรัมป์จะเดินหน้ากดดันจีนด้วยมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อวานนี้ (12 เม.ย.) สหรัฐฯ กลับส่งสัญญาณผ่อนปรนเป็นครั้งแรก ด้วยการประกาศ “ยกเว้น” สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ ชิป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภทออกจากมาตรการภาษีชุดใหม่นี้อย่างกะทันหัน
ตามประกาศจากศุลกากรและการป้องกันพรมแดนสหรัฐฯ สินค้าไฮเทคเหล่านี้จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 10% ที่ใช้กับสินค้าทั่วโลก และยังได้รับการยกเว้นจากภาษีเฉพาะจีนที่เพิ่งถูกปรับขึ้น โดยมาตรการนี้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน และครอบคลุมสินค้าสำคัญอย่างเซมิคอนดักเตอร์ แผงโซลาร์เซลล์ และการ์ดหน่วยความจำ
แม้สหรัฐฯ จะอธิบายว่า มาตรการนี้มีไว้เพื่อเปิดเวลาให้บริษัทเทคโนโลยีย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่สหรัฐฯ แต่ความจริงที่หลบอยู่ใต้คำพูดเหล่านั้นคือ รัฐบาลทรัมป์เองก็รู้ดีว่า การให้ Apple ผลิต iPhone บนแผ่นดินอเมริกาในเร็ววันนี้นั้น “แทบจะเป็นไปไม่ได้” ไม่ใช่แค่เพราะต้นทุนที่สูงลิ่ว แต่เพราะสหรัฐฯ ยังขาดทั้งแรงงานฝีมือ โครงสร้างพื้นฐาน และห่วงโซ่อุปทานที่ฝังรากลึกในเอเชียมานานหลายทศวรรษ ที่หากจะย้ายกลับมาสหรัฐฯ จะต้องใช้เวลาเป็นสิบปีและเงินลงทุนมหาศาลระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้แนวคิดการผลิต iPhone ในสหรัฐฯ จะสอดคล้องกับนโยบาย “America First” ของรัฐบาลทรัมป์ แต่ทั้ง Tim Cook ซีอีโอของ Apple และนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมต่างเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้แทบเป็นไปไม่ได้
สาเหตุหลักคือ สหรัฐฯ ยังขาดแคลนทั้งแรงงานฝีมือที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะในการควบคุมเครื่องจักรและประกอบ iPhone โครงสร้างพื้นฐาน และระบบซัพพลายเชนที่จำเป็นต่อการผลิตในระดับมหาศาลแบบที่ Apple ต้องการ
ในปี 2017 Tim Cook ซีอีโอของ Apple เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Fortune ว่า “จีนไม่ใช่ประเทศที่ค่าแรงถูกที่สุดมานานแล้ว แต่ที่พวกเขามีคือทักษะและแรงงานฝีมือจำนวนมาก ซึ่งสหรัฐฯ ไม่มี” พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ถ้าจะจัดประชุมรวมวิศวกรเครื่องมือชั้นสูงในสหรัฐฯ อาจมีคนมาไม่กี่คน จัดให้อยู่ในห้องก็อาจจะยังไม่เต็มห้อง แต่ถ้าจัดในจีน คนจะมาเยอะจนบรรจุเต็มหลายสนามฟุตบอลได้เลย
Steve Jobs อดีตซีอีโอของ Apple เองก็เคยบอกกับอดีตประธานาธิบดีโอบามาอย่างตรงไปตรงมาว่า “คุณหาแรงงานมากขนาดนี้ในอเมริกาไม่ได้” โดยหมายถึงแรงงานกว่า 700,000 คนในจีน และวิศวกรอีกกว่า 30,000 คนที่จะต้องดูแลสายการผลิตอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน
ด้าน Matthew Moore อดีตวิศวกรของ Apple ก็เคยกล่าวเปรียบเทียบย้ำในทิศทางเดียวกันว่า “เมืองอย่างบอสตันมีประชากรราว 500,000 คน ถ้าจะผลิต iPhone ที่นั่น เมืองทั้งเมืองคงต้องหยุดกิจกรรมอื่นทั้งหมดแล้วมาช่วยกันประกอบ iPhone”
นอกจากนี้ แม้จะมีการเสนอให้ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบในสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แนวคิดนี้ยังเป็นไปได้ยาก เพราะ Apple ออก iPhone รุ่นใหม่ทุกปี ทำให้กระบวนการผลิต iPhone ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นแค่การปรับวัสดุหรือชิ้นส่วนเพียงเล็กน้อย หากผู้ผลิตใช้เครื่องจักรก็อาจต้องรื้อแบบโรงงานและวางแผนสายการผลิตใหม่ทั้งหมด และทั้งหมดนี้ต้องทำให้เสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน
“คุณออกแบบอุปกรณ์เสร็จ ต้องสร้างโรงงานใหม่ แล้วเหลือเวลาแค่หกเดือนก่อนวางขาย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” แหล่งข่าวในซัพพลายเชนของ Apple กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเท่ากับที่ Apple มีในเอเชีย โดยเฉพาะในจีน ที่บริษัทอย่าง Foxconn และ Pegatron มีความเชี่ยวชาญในการผลิต iPhone จนสามารถปรับสายการผลิตให้เข้ากับดีไซน์ใหม่ได้ทั้งหมด แม้จะเป็นการเปลี่ยนแค่จุดเล็กน้อยในตัวเครื่องก็ตาม
ปัจจุบัน แม้สัดส่วนการผลิต iPhone ในจีนจะลดลงมาเหลือประมาณ 85% ซึ่งต่ำกว่าระดับกว่า 90% ที่เคยเป็นมา จีนก็ยังคงเป็นหัวใจของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของ Apple โดยเฉพาะในส่วนของโรงงาน FATP (Final Assembly, Test and Pack-out) ที่ถือเป็นจุดรวมขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งออกสู่ตลาดทั่วโลก และมีความก้าวหน้าซับซ้อนในระดับที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถตามทันได้ในเวลาไม่กี่ปี
ในจีน โรงงาน FATP เหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่โรงงานธรรมดา แต่เป็นเหมือนเมืองขนาดย่อมที่ขับเคลื่อนทั้งระบบด้วยแรงงานหลายแสนคน พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานครบวงจร ตั้งแต่โรงเรียนฝึกอบรม ฟิตเนส ห้องพยาบาล ร้านค้า ไปจนถึงหอพักในพื้นที่เดียวกัน หนึ่งในโรงงานหลักที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ถึงกับถูกเรียกว่า “iPhone City” เพราะมีพนักงานมากกว่า 300,000 คน และเป็นแหล่งผลิต iPhone หลักของโลกมาหลายปี
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้จีนยังไร้คู่แข่ง ไม่ใช่แค่ขนาดหรือจำนวนคน แต่ยังรวมถึง “ความพร้อมแบบไร้รอยต่อ” ของเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่รายล้อมโรงงาน FATP ไม่ว่าจะเป็น Foxconn, Pegatron หรือซัพพลายเออร์ระดับ Tier 2 และ 3 ต่างสามารถปรับกระบวนการผลิตให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของดีไซน์และสเปกใหม่ได้แทบจะในทันที
ในทางกลับกัน แม้สินค้าบางประเภท เช่น iMac หรือ Mac Pro ซึ่งมีความซับซ้อนด้านการผลิตน้อยกว่า iPhone จะสามารถย้ายกระบวนการประกอบบางส่วนกลับมายังสหรัฐฯ ได้ เช่น Mac Pro รุ่นตั้งโต๊ะที่ปัจจุบันมีการประกอบขั้นสุดท้ายในโรงงานที่รัฐเท็กซัส แต่ความเป็นจริงคือ ชิ้นส่วนหลัก ๆ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังคงต้องผลิตในจีนอยู่ และยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้ก็อยู่ในระดับเพียงหลักพันเครื่องต่อปีเท่านั้น
เมื่อเทียบกับ iPhone ที่มียอดขายมากกว่า 220 ล้านเครื่องต่อปีทั่วโลก การผลิตในสเกลขนาดนี้จึงต้องพึ่งพาระบบการผลิตที่แข็งแกร่ง มีความชำนาญเฉพาะทาง และสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ในทันที ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้มี “อยู่ในจีน” อย่างครบถ้วน แต่ไม่มีในสหรัฐฯ ในตอนนี้
ปัจจุบัน Apple กำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่ โดยเริ่มย้ายสายการผลิต iPhone บางส่วนออกจากจีนไปยังอินเดีย โดยในปี 2567 อินเดียผลิต iPhone ได้แล้วถึง 12 ล้านเครื่อง และในช่วงมีนาคม 2024 ถึงมีนาคม 2025 มูลค่าการผลิตรวมพุ่งแตะ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 20% ของกำลังผลิตทั่วโลก
Foxconn พันธมิตรหลักของ Apple เป็นหัวหอกสำคัญในการลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะการตั้งโรงงานประกอบ iPhone ขนาดใหญ่ในรัฐกรณาฏกะและทางใต้ของอินเดีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกหลายสิบล้านเครื่องต่อปี ปัจจุบัน Apple สามารถผลิต iPhone ครบทุกซีรีส์ในอินเดียได้แล้ว รวมถึงรุ่นไฮเอนด์อย่าง iPhone Pro ที่ใช้วัสดุไทเทเนียม ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า Apple ไม่ได้เพียงกระจายความเสี่ยงจากจีน แต่กำลังทดสอบศักยภาพของอินเดียในฐานะ "ศูนย์กลางผลิตจริงจัง"
อย่างไรก็ตาม แม้ความเคลื่อนไหวนี้จะสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน แต่นี่ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแผนระยะยาว โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า กว่าจะทำให้อินเดียกลายเป็นฐานการผลิตที่ “พึ่งพาได้” Apple ต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ ฝึกฝนแรงงาน และเจรจากับภาครัฐเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ อินเดียยังเผชิญข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพแรงงานที่ยังไม่สม่ำเสมอ ระบบขนส่งที่ยังล่าช้า และห่วงโซ่อุปทานที่กระจัดกระจาย ทำให้การปรับไลน์ผลิตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของ Apple ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกปี ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็เริ่มมีบทบาทในระบบการผลิตของ Apple มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเน้นการผลิตสินค้าอื่นที่ซับซ้อนน้อยกว่า iPhone เช่น AirPods, iPad, MacBook หรือชิ้นส่วนประกอบบางประเภทเท่านั้น
สำหรับบราซิล ซึ่ง Apple ใช้เป็นฐานผลิต iPhone บางรุ่นสำหรับตลาดในประเทศ ก็ยังอยู่ในระดับโรงงานขนาดเล็ก มีข้อจำกัดทั้งด้านเทคโนโลยีและปริมาณกำลังการผลิต ซึ่งไม่สามารถขยายเพื่อรองรับตลาดโลกได้ในระยะสั้น
กล่าวโดยสรุป อินเดียอาจเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองในแผนการกระจายความเสี่ยงของ Apple แต่ยังต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะเติบโตจนกลายเป็น "ศูนย์กลางใหม่" ที่มาแทนที่จีนได้อย่างเต็มตัว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แนวคิดในการย้ายการผลิต iPhone กลับมายังสหรัฐฯ จึงยังคงเป็นเพียงภาพในอุดมคติ มากกว่าจะเป็นแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
โดยแม้ Apple จะพยายามส่งสัญญาณตอบรับต่อแรงกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการประกาศแผนลงทุนมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าสร้างงาน 20,000 ตำแหน่งภายในปี 2028 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าหัวใจของแผนดังกล่าว ไม่ได้อยู่ที่การผลิต iPhone เลยแม้แต่น้อย เพราะโครงการหลักของ Apple ในแผนลงทุนนี้ คือ การลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในเมืองฮิวสตัน เพื่อรองรับระบบเซิร์ฟเวอร์สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังเร่งพัฒนาเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดิจิทัล
พูดให้ชัดคือ แผนลงทุนขนาดมหึมานี้อาจดูยิ่งใหญ่ในเชิงตัวเลข แต่ไม่ได้เกี่ยวพันกับการตั้งฐานการผลิต iPhone บนแผ่นดินอเมริกาเลย
นอกจากนี้ ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรก ทรัมป์ยังเคยพยายามกดดัน Apple ให้ย้ายฐานผลิต iPhone กลับสหรัฐฯ มาแล้ว แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลก็ยังต้องยอมเว้น iPhone จากภาษีนำเข้าที่ใช้กับจีนในตอนนั้น โดยในช่วงเวลาดังกล่าว Apple ก็ได้ประกาศแผนลงทุน 350,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ และเริ่มกระบวนการกระจายการผลิต ซึ่งนำไปสู่การผลิต iPhone บางส่วนในอินเดีย และผลิตภัณฑ์บางชนิดในเวียดนาม
และหากย้อนกลับไปในปี 2019 Tim Cook ยังเคยพาทรัมป์เยี่ยมชมโรงงานในรัฐเท็กซัส ซึ่งใช้ประกอบ Mac Pro รุ่นตั้งโต๊ะ ภาพถ่ายที่เผยแพร่ในเวลานั้นดูเหมือนจะตอกย้ำแนวคิด “ผลิตในอเมริกา” ได้แต่ในความเป็นจริง โรงงานแห่งนั้นมีสายการผลิตขนาดเล็กมาก ผลิตได้เพียงไม่กี่พันเครื่องต่อปี และ ชิ้นส่วนแทบทั้งหมดก็ยังคงผลิตในจีน ก่อนจะถูกส่งมาให้สหรัฐฯ ทำหน้าที่ “ประกอบขั้นสุดท้าย” เท่านั้น
กรณีนี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ ไม่ใช่แค่เรื่องต้นทุนแรงงานหรือขาดแรงงานฝีมือ แต่เป็นเพราะประเทศนี้ยังไม่มี "ระบบซัพพลายเชนและโครงสร้างพื้นฐาน" ที่สามารถแข่งขันกับจีนได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความคล่องตัวของสายการผลิต หรือความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับดีไซน์ iPhone ที่เปลี่ยนแทบทุกปี
แม้บางฝ่ายจะเชื่อว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ในความเป็นจริง เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในปัจจุบัน ยังไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและซับซ้อนแบบ iPhone ได้อย่างเต็มรูปแบบ
ดังนั้น แม้แผนการลงทุนของ Apple ในอเมริกาจะเป็นความจริงในเชิงเม็ดเงินและตัวเลข แต่ในเชิง “การผลิต iPhone บนแผ่นดินสหรัฐฯ” แล้ว มันยังคงเป็นเพียงภาพฝันที่สวยงาม มากกว่าความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ในอนาคตอันใกล้
ที่มา: Time, The Guardian, Bloomberg, The Economic Times