จากกรณีข้อพิพาททางธุรกิจระหว่าง ‘เนสท์เล่’ และ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด หรือ QCP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเนสท์เล่และกลุ่มมหากิจศิริ ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งยืนยันว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” และ “เนสกาแฟ” ในประเทศไทย และสามารถใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้
คำสั่งศาลดังกล่าวมีผลทันทีตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 จึงทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ตามปกติแล้ว ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจให้รับทราบคำสั่งศาลดังกล่าว รวมถึงการกลับมารับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ตามปกติแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็จะสามารถหาซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เนสท์เล่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเวเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่มครอบคลุม 185 ประเทศทั่วโลก โดยมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น เนสกาแฟ เนสเปรสโซ ไมโล แม็กกี้ ตลอดจนแบรนด์ในท้องถิ่นอย่างตราหมีและมิเนเร่
สำหรับในประเทศไทย เนสท์เล่เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว นับตั้งแต่ปี 2533 - 2567 และผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในไทยจะถูกผลิตโดย บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด หรือ QCP ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนแบบ 50/50 ระหว่างเนสท์เล่และกลุ่มมหากิจศิริ ภายใต้สัญญาการร่วมทุนให้ เนสท์เล่ มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย และการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนับเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่
ข้อพิพาททางธุรกิจระหว่างเนสท์เล่และกลุ่มมหากิจศิริ เริ่มต้นในปี 2564 เนื่องจากเนสท์เล่แจ้งยุติสัญญาการให้สิทธิ QCP ในการผลิตเนสกาแฟผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ และการยุติสัญญาดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ภายหลังการยุติสัญญาดังกล่าว เนสท์เล่และกลุ่มมหากิจศิริไม่สามารถตกลงแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของทั้งสองฝ่ายได้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ‘เนสท์เล่ เอส เอ’ บริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มเนสท์เล่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อให้มีคำสั่งเลิก บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด หรือ QCP อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาต่อมา นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ในฐานะผู้ถือหุ้น QCP ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และในวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าเนสกาแฟในประเทศไทย
ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน 2568 เนสท์เล่ออกหนังสือชี้แจงลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจว่าบริษัทฯ ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ และกำลังดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งวันที่ 8 เมษายน 2568 เนสท์เล่ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งนี้ ศาลแพ่งมีนบุรี มีคำสั่งนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 17 เมษายน 2568 เวลา 9.00 น. เพื่อพิจารณาว่าจะเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่