Walmart ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์สั่งห้ามลูกค้าหญิงรายหนึ่งเข้ามาในร้านทุกแห่งทั่วประเทศ เนื่องจากลูกค้ารายดังกล่าวมีพฤติกรรมขโมยสินค้าหลายครั้งผ่านช่องทาง Self-Checkout หรือเครื่องชำระสินค้าด้วยตนเอง
รายงานจากสื่อต่างประเทศระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมหญิงวัย 37 ปี ที่สาขาแห่งหนึ่งของ Walmart ในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี โดยเธอพยายามขโมยสินค้ามูลค่ารวม 137.34 ดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วยกางเกงยีนส์ เสื้อยืด รองเท้า และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 11 แพ็ก โดยใช้การสแกนบาร์โค้ดของถ่านนาฬิกาที่มีมูลค่าชิ้นละ 1 ดอลลาร์
เหตุการณ์นี้เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างจากจำนวนมหาศาลของการขโมยสินค้าในร้านค้าปลีกที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ โดยสถิติในปี 2023 พบว่าร้านค้าปลีกต่าง ๆ รวมถึง Walmart มีเหตุการณ์ขโมยสินค้าในร้านเพิ่มขึ้น 93% เมื่อเทียบกับปี 2019 และช่องทาง Self-Checkout นับเป็นช่องทางโจรกรรมยอดนิยม โดยข้อมูลที่น่าตกใจจาก Capital One พบว่าชาวอเมริกันมากกว่า 20 ล้านคนเคยขโมยสินค้าในร้านด้วยวิธีนี้ และ 41% วางแผนที่จะทำอีก
การขโมยสินค้าผ่านช่องทาง Self-Checkout กำลังเป็นฝันร้ายของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ เนื่องจากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานภายในร้าน มีจุดประสงค์หลักในการลดต้นทุนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งในช่วงแรกของการป้องปรามไม่ให้มีการขโมยสินค้าผ่านช่องทาง Self-Checkout นั้น ร้านค้าปลีกหลายแห่งเลือกใช้วิธีการให้พนักงานตรวจสอบใบเสร็จกับสินค้าในถุงของลูกค้าก่อนที่จะออกจากร้าน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ลูกค้าบางรายไม่พอใจ เนื่องจากรู้สึกถูกสบประมาทและเสียเวลา
อีกกรณีคือการเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบให้กับช่องทาง Self-Checkout ไม่ว่าจะเป็นกล้องตรวจจับภาพสินค้าด้วยเอไอ เซนเซอร์ชั่งน้ำหนักความละเอียดสูง บาร์โค้ดลับที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนพนักงานประจำจุด Self-Checkout เพื่อสังเกตพฤติกรรมลูกค้า ก็ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับร้านค้าปลีก และสวนทางกับจุดประสงค์ในการนำช่องทาง Self-Checkout มาใช้งานในร้าน
ทั้งนี้ ร้านค้าปลีกบางแห่งที่มีการขโมยสินค้าเป็นประจำจึงหันมาใช้วิธีการที่เข้มงวดกว่า นั่นคือการล็อกสินค้ามูลค่าสูงไว้ในตู้ เมื่อลูกค้าต้องการของสินค้าชิ้นไหนจึงจะมาปลดล็อกให้เป็นครั้ง ๆ ไป ซึ่งเรื่องนี้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกอย่างมาก และนับเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายสำหรับลูกค้าพลเมืองดีที่ต้องการซื้อของหลาย ๆ ชิ้น
ท้ายที่สุด ร้านค้าปลีกหลายรายในสหรัฐฯ ทยอยยกเลิกช่องทาง Self-Checkout เนื่องจากพวกเขาไม่อาจควบคุมพฤติกรรมขโมยสินค้าของลูกค้า ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจภายในร้านได้ การกลับมาใช้แรงงานมนุษย์ที่แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็นับเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าการซื้อเทคโนโลยีขั้นสูงมาตรวจสอบลูกค้าที่ช่องทาง Self-Checkout ซึ่งความเคลื่อนไหวในครั้งนี้นับเป็นเรื่องน่าเสียดายของเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด จนเทคโนโลยีดังกล่าวอาจต้องหายไปในที่สุด