Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดไพ่ สหรัฐฯ VS จีน ใครกันแน่กำลังเดือดร้อนจากสงครามการค้าโลก
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เปิดไพ่ สหรัฐฯ VS จีน ใครกันแน่กำลังเดือดร้อนจากสงครามการค้าโลก

12 เม.ย. 68
11:02 น.
แชร์

แม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจะประกาศชะลอการขึ้นภาษีประเทศต่างๆออกไป 90 วันโดยจะเก็บภาษีต่างตอบแทนอยู่ที่ระดับ 10% ยกเว้นจีนที่โดนภาษีอย่างหนักหน่วง 145% ทำให้เห็นว่าเกมสงครามการค้าของสหรัฐฯยังไม่จบลงโดยง่าย ในระยะเวลา 90 วันจากนี้ไปเป็นช่วงเวลาของการเจรจาของประเทศต่างๆและเชื่อว่าระหว่างสหรัฐและจีนจะยังคงมีการตอบโต้มาตรการทางการค้ากันต่อไป

SPOTLIGHT มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และนักเศรษฐศาสตร์ อ่านเกมโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้ตัดสินใจยอมชะลอภาษีชั่วคราวให้กับหลายประเทศยกเว้นจีน เพราะไม่ต้องการให้ตลาดหุ้นอเมริกาเสียหายหนักไปมากกว่านี้ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯกับเศรษฐกิจจีน..ใครเดือดร้อนมากกว่ากันจากสงครามการค้าโลกครั้งนี้

ต้องการ “ห้ามเลือด” ให้ตลาดหุ้น

นับจากคืนวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีกว่า 60 ชาติในอัตราตั้งแต่ 10- 49% ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดำดิ่งรวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯที่มีมูลค่าหายไปกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 

“ตลาดหุ้นอเมริกา 4 วันทำการ หายไปกว่า 6 ล้านล้านเหรียญ… GDP ทั้งประเทศคือ 26 ล้านล้านเหรียญ นี่คือเลือดที่ไหลไม่หยุด”

สหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการและภาคการเงินสูงถึงกว่า 80% ของ GDP หากภาคการเงินล้มจะกระทบทั้งการบริโภค (ที่มีสัดส่วนถึง 70% ของ GDP) และส่งผลต่อเนื่องถึงโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้แน่นอน (Recession) ทรัมป์จึงต้องรีบ "ห้ามเลือด" ด้วยการส่งสัญญาณชะลอภาษี เพื่อดึง fund flow กลับเข้าตลาด ซึ่งก็ได้ผลในทันทีหุ้นดีดกลับแรงหลังจากการประกาศชะลอภาษี

การทูตที่ผิดพลาดของ โดนัลด์ ทรัมป์ 

“แครอทกับไม้หน้าสาม” ทูตแบบอเมริกันแท้ ดร.สมภพอธิบายว่า สิ่งที่ทรัมป์ทำใช้ไม่ใช่เพียงมาตรการภาษี แต่คือกลยุทธ์ทางการทูตแบบ “ขู่แล้วค่อยปลอบ” หรือ “Carrot and Stick”

“เค้าประกาศเก็บภาษีแรง ๆ ก่อน แล้วค่อยลดให้ทีหลังกับประเทศที่วิ่งเข้ามาเจรจา… อย่างกับตีกระต่ายก่อน แล้วค่อยให้แครอท”

กลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลในทันที เพราะทำให้ 70-80 ประเทศต้องรีบเสนอสิทธิประโยชน์ทางการค้าให้สหรัฐฯ ซึ่งในอดีตไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าทรัมป์ ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นการทูตที่คาดเดาได้  

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ทรัมป์เริ่มต้นการทูตด้วยนโยบายแข็งกร้าวเกินไป จนแม้แต่พันธมิตรดั้งเดิมก็ไม่สบายใจ และในช่วงแรกที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าประเทศอื่นๆ อเมริกากลับเป็นฝ่ายที่โดน “โดดเดี่ยวทางการทูต” เสียเอง “ตอนทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีชุดแรกเมื่อ 2 เมษายน โลกทั้งโลกชี้หน้าอเมริกาเลยว่า...คุณทำแบบนี้ได้ยังไง?”

นี่คือลักษณะของการทูตที่ผิดพลาด เพราะแทนที่จะสร้างความ “เกรงใจและไว้วางใจ” กลับทำให้คู่ค้ารู้สึกไม่ปลอดภัย

 “การทูตที่ดี ต้องทำให้คนเกรงและรักไปพร้อมกัน แต่ถ้าเกรงแล้วเกลียด แบบนั้นผิดพลาดแน่นอน”--รศ.ดร.สมภพ กล่าว

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ทำไม “จีน” ถึงเป็นเป้าหมายใหญ่ของทรัมป์

สหรัฐฯ อาจขัดแย้งกับหลายประเทศ แต่ “จีน” คือศัตรูหมายเลขหนึ่งในสายตาทรัมป์ — ด้วยเหตุผล 2 ข้อหลัก

1.จีดีพีจีนกำลังจะแซงหน้า - เศรษฐกิตจีนโตปีละ 5% ขณะที่อเมริกาโตเฉลี่ยไม่ถึง 2% หากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไปอีกไม่นานจีนอาจกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลก

2.จีนกำลังผงาดในด้านเทคโนโลยี - ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด แม้แต่หุ่นยนต์จีนก็เริ่มแซงแล้ว

“ Deep Seek ตัวเดียวที่ออกมาก็เขย่าตลาดหุ้นอเมริกาได้… แล้วไม่รู้จะมีอีกกี่ตัว?” 

นอกจากนี้สหรัฐฯ หวั่นว่า จีนจะเป็นผู้นำโลกในเทคโนโลยีต้นน้ำ เช่น AI, รถไฟความเร็วสูง, BioTech, Energy Tech ฯลฯ ซึ่งเคยเป็น “สมบัติของอเมริกา”

สหรัฐฯผู้ซึ่งเคยเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี บัดนี้กำลังถูกสั่นคลอนด้วย “จีน”แอบซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีมากมาย แถมเปิดตัวออกมาแต่ละครั้งในราคาที่ถูกกว่าเทคโนโลยีสหรัฐฯอีกด้วย และจีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทั้งตลาดโลก 

ความเดือดร้อนของคนอเมริกัน ของแพง เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยไม่ลง 

ผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามการค้าที่ดุเดือดในครั้งนี้กำลังจะสร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจของสหรัฐอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าที่กำลังจะแพงขึ้นด้วย เมื่อภาษีนำเข้าสินค้าจีนพุ่งเป็น 145% บริษัทอเมริกันที่ผลิตในจีน เช่น Apple, Walmart ย่อมถูกกระทบทันที

จึงไม่น่าแปลกใจที่ล่าสุด โดนัลด์ทรัมป์ ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% แนวทางดังกล่าวยังรวมถึงการยกเว้นสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอื่น ๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ หน้าจอโทรทัศน์แบบแผงเรียบ แฟลชไดรฟ์ การ์ดหน่วยความจำ และโซลิดสเตตไดรฟ์ที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูล

รศ.ดร.สมภพ ได้ให้สัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการ SPOTLIGHT ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศเว้นภาษีสมาร์ทโฟน โดยยกตัวอย่างถึงความเดือดร้อนของคนอเมริกันที่เห็นได้ชัดคือของแพงขึ้นแน่อน และนักธุรกิจอเมริกันจำนวนไม่น้อยมีฐานการผลิตอยู่ในจีน 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Apple ซึ่ง iPhone เกือบทุกรุ่นผลิตในจีนจะต้องเจอภาษีทันที ซึ่งหาก Apple ไม่ขึ้นราคา iPhone ซึ่งรายได้หลักรับรองได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ กำไรหาย แต่หากขึ้นราคาผู้บริโภคก็ต้องยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว

“หุ้น Apple หายไป 640,000 ล้านเหรียญในไม่กี่วัน… นี่ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ”-- รศ.ดร.สมภพ กล่าว

เช่นเดียวกับ Walmart  ร้านค้าปลีกเบอร์ 1 ของโลก ก็มีสินค้าจีนเป็นสัดส่วนหลัก น่าเจ็บใจกว่านั้นก็เป็นแบรนด์อเมริกัน ที่ไปตั้งฐานการผลิตในจีน เช่น Nike,Adidas และอีกมากมายเมื่อภาษีสูงขึ้น ย่อมต้องมีการผลักภาระต้นทุนนี้ไปที่ผู้บริโภคเช่นกัน ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่คนอเมริกันต้องกินต้องใช้ก็จะแพงขึ้นเป็นเท่าตัวเช่นกัน 

ผลที่ตามมา เมื่อของแพงขึ้น มีโอกาสที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อสูง และเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นจะ ทำให้ Fed ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ หรือ อาจกลับทางไปขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ ซึ่งปัญหานี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย และ “โดมิโน” ความเสื่อมศรัทธาในตัวทรัมป์จะเกิดขึ้น 

รศ.ดร.สมภพ ระบุว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบัน แทบพึ่งพิงภาคการผลิตน้อยเต็มที สินค้าจำนวนมากในสหรัฐฯล้วนผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ การขึ้นภาษีนำเข้าจึงเท่ากับเป็นเครื่องมือดึงอุตสาหกรรมอเมริกากลับบ้าน

ทรัมป์ไม่เพียงแค่โจมตีจีน แต่ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ในการ ฟื้นภาคการผลิต ในประเทศ อุตสาหกรรมที่เคยหนีออกไปจากสหรัฐฯตั้งแต่ยุคโลกาภิวัตน์ เช่น อลูมิเนียม แร่หายาก เซมิคอนดักเตอร์ หรือแม้แต่รถยนต์ กำลังถูกบังคับให้ “กลับสู่ผืนแผ่นดินอเมริกา” ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอย่างหนัก

“ทรัมป์กำลัง ‘ล็อกคอ’ อุตสาหกรรมให้กลับบ้าน...แม้กระทั่งเม็กซิโก–แคนาดา ที่เคยเป็น NAFTA ด้วยกัน ก็ไม่รอด”-- รศ.ดร.สมภพ กล่าว 

ทำไม ‘จีน’ ไม่กลัวสหรัฐ ทำไมกล้าตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน 

จีนสวนกลับขึ้นภาษีสหรัฐฯอย่างทันควันทุกครั้ง แม้ล่าสุดที่โต้กลับขึ้นภาษีเป็น 125% แล้วส่งสัญญาณเหมือนจะเป็นหมัดสุดท้ายของจีน เพราะมองว่าการขึ้นภาษีสูงไปกว่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ 

จีนกล้าสวนกลับ เพราะเศรษฐกิจจีนไม่ได้พึ่งพิงสินค้าจากอเมริกาซักเท่าไหร่ จีนส่งออกไปสหรัฐฯมาก แต่นำเข้าจากอเมริกาน้อยกว่ามาก 

สัดส่วนการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯอยู่ที่ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐบวกลบ  ซึ่งคิดเป็นแค่ราว 3% ของ GDP จีนที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในขณะที่ยอดค้าปลีกภายในประเทศจีน ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน สูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ แค่นี้ก็เพียงพอจะชดเชยการส่งออกที่หายไปจากจีนได้แล้ว 

“แม้จีนจะโดนหนัก แต่เค้าก็ใช้โอกาสนี้เร่งเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้โตจากภาคบริการแทนการผลิต”

รศ.ดร.อธิบายต่อว่า รัฐบาลจีนอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างหนัก ทั้งการเงิน การคลัง เทรดอิน (เอาสินค้ามาแลกซื้อสินค้าใหม่แบบได้ส่วนลดที่รัฐบาลอุดหนุน)  จีนพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนา Service Economy

จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากประเทศผู้ผลิต (Production-based) เป็นเศรษฐกิจบริการ (Service-based) จีนจึงใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศ Belt & Road เช่น ประเทศใน ASEAN การโดนสงครามการค้าเล่นงานในรอบนี้ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญพอดี เพราะเศรษฐกิจจีนถึงเวลาปรับฐาน เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ 

โดยจีนเร่ง กำลังลงทุนในนวัตกรรม โดยเน้น 3 ด้านหลัก

1.Information Technology (AI, 5G, Semiconductor)

2.Mechatronics (EV, Robot)

3.Biotechnology (เกษตรและการแพทย์)

จากนี้ไปการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะหมดยุค High GDP Growth ที่เราเคยเห็นตัวเลข GDP โตเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่กำลังเข้าสู่ Medium GDP Growth ซึ่งถือโตประมาณ 5% บวกลบ และอีกไม่นาน 5-10 ปี เศรษฐกิจจีนจะขึ้นชั้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้เช่นกัน 

"ตอนนี้ GDP ต่อหัวของจีนยังคงอยู่เพียง 3 ใน4 ของคนอเมริกันเท่านั้น จีนจึงต้องสร้างการเติบโตอีกมาก และทัพหลวงสำคัญที่นำพาเศรษฐกิจจีนขึ้นชั้นประเทศพัฒนาแล้วคือ “ นวัตกรรม” - รศ.ดร.สมภพ กล่าว

ไทยต้องเปลี่ยนเกม: ทางรอดอยู่ที่ “Service-Based Economy”

ในช่วงท้าย ดร.สมภพชี้ว่าไทยเองก็ควร “เลิกฝากชีวิตไว้กับการค้า” และเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจบริการ

“ตอนนี้เราส่งออก 60% ของ GDP สูงกว่าโลกเท่าตัว…แต่จีดีพีเรากลับเล็กกว่าหลายประเทศมาก”

“ผมไม่ได้บอกให้ลดการส่งออก แต่ผมคิดว่าต้องทำให้ GDP ประเทศมันโตกว่านี้ เมื่อเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น เอามาคำนวณแล้วหารมูลค่าจีดีพีที่มากขึ้น สัดส่วนการส่งออกจะลดลงไปเองได้” – รศ.ดร.สมภพ กล่าว 

ดังนั้นสิ่งที่ไทยควรพัฒนาคือการภารบริการที่เรามีความถนัดอยู่แล้ว 

Healthcare: ไม่ใช่แค่รักษา แต่ต่อยอดไปถึง Medical Device, AI Health, Wellness

Entertainment & Digital Content: ต้องโตได้แบบเกาหลี

Sports Economy, Food Service, Tourism: เพิ่มมูลค่า ไม่ใช่แค่ปริมาณ

Logistics & Insurance, Creative Tech: ผลักดันภาคบริการให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่

สรุปสุดท้ายใครจะอยู่รอด ต้องรู้ทันเกม และปรับตัวให้ไว

“สงครามการค้าครั้งนี้ ไม่ได้วัดกันแค่ภาษี แต่วัดกันที่ใครเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่มากกว่ากัน”

อาจารย์สมภพทิ้งท้ายว่า ประเทศใดก็ตามที่ยังยึดกับโครงสร้างเดิม จะกลายเป็นผู้แพ้ในระเบียบโลกใหม่ที่กำลังถูกเขียนขึ้นโดยมหาอำนาจ

แชร์
เปิดไพ่ สหรัฐฯ VS จีน ใครกันแน่กำลังเดือดร้อนจากสงครามการค้าโลก