Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนอดีตจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก รู้จัก Smoot-Hawley กำแพงภาษีที่เปลี่ยนโลก
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ย้อนอดีตจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก รู้จัก Smoot-Hawley กำแพงภาษีที่เปลี่ยนโลก

6 เม.ย. 68
12:30 น.
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

" บางครั้ง… กำแพงที่เราสร้างขึ้นเพื่อปกป้องตัวเอง อาจกลายเป็นกำแพงที่ขังเราทุกคน และโลกอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…. "

หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากทั่วโลกในอัตรา 10-49% กำลังสร้างความปั่นป่วนและความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างออกมาเตือนว่า ‘เศรษฐกิจโลกกำลังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย’

ประเทศไทยเองโดนมาตรการภาษี 37% และรองนายกรัฐมนนตรี และรัฐมนตรีคลังของไทย กำลังจะเดินทางไปเจรจากับทางการสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ (ก่อนสงกรานต์2568) เช่นเดียวกับนานประเทศที่ผู้นำต่างหาวิธีเพื่อรับมือกับการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯในครั้งนี้ 

นายกรัฐมนตรี ลอเรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ ถึงกับพูดช่วงหนึ่งในแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ว่า “ยุคแห่งโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีนั้นสิ้นสุดลงแล้ว” และให้ชาวสิงคโปร์เตรียมรับมือกับผลของภาษีจากสหรัฐฯ 

SPOTLIGHT นำบทความของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์  กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่ได้วิเคราะห์ลงใน FB ย้อนอดีตถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 1930 ที่ถูกจุดชนวนจากการขึ้นภาษีที่เรียกว่า Smoot-Hawley Tariff Act …ย้อนอดีตเพื่อเรียนรู้อนาคตว่า เรากำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกจาก ภาษีทรัมป์ หรือไม่? 

Smoot-Hawley: บทเรียนจากอดีตที่กำลังจะซ้ำรอยเดิม

ในโลกที่การเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วทุกวัน การกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ อาจช่วยให้เรามองเห็นอนาคตชัดขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องของ “ภาษีนำเข้า” หรือ Tariff ที่ดูเหมือนจะเป็นแค่เครื่องมือเศรษฐกิจธรรมดา แต่ในบางครั้งมันกลับกลายเป็นชนวนวิกฤตที่ลากทั้งประเทศ และทั้งโลก ดิ่งสู่ความตกต่ำแบบไม่รู้ตัว

หนึ่งในตัวอย่างที่เจ็บปวดที่สุด คือ Smoot-Hawley Tariff Act ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1930 ซึ่งหลายคนเชื่อว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ Great Depression อย่างรุนแรง

น่าเศร้าที่ 95 ปีผ่านไป วันนี้โลกอาจกำลังทำผิดพลาดแบบเดียวกันอีกครั้ง…

ก่อน Smoot-Hawley

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประเทศต่างๆ ค่อยๆ ลดภาษีนำเข้าสินค้า เพื่อกระตุ้นการค้าข้ามพรมแดนและสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน สหรัฐอเมริกาในยุคนั้นเองก็กำลังรุ่งเรือง หุ้นพุ่ง แรงงานเต็มที่ อุตสาหกรรมเฟื่องฟู

ช่วงทศวรรษ 1920 ถือเป็น “ยุคทองของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ”การลดภาษีถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและทันสมัย แต่ความรุ่งเรืองนั้นมีรากฐานที่เปราะบาง: ฟองสบู่ในตลาดหุ้น ภาคเกษตรที่ล้นตลาด หนี้สินที่สูงขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวเงียบๆ

จนกระทั่งปี 1929 ทุกอย่างพังลง

เมื่อฟองสบู่แตก ความกลัวก็เข้าครอบงำ

เหตุการณ์ Black Tuesday ในเดือนตุลาคม 1929 คือตอนที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพังครืน ราคาหุ้นดิ่งลง ผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัวในชั่วข้ามคืน

เศรษฐกิจเริ่มถดถอยอย่างรวดเร็ว คนตกงานนับล้าน โรงงานปิดตัว ราคาสินค้าทรุดต่ำ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ในสภาคองเกรส กระแสกีดกันทางการค้า และเสียงเรียกร้องจากเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมดังขึ้นเรื่อย นักการเมืองจำนวนมากคล้อยตาม โดยเฉพาะ วุฒิสมาชิก Reed Smoot กับ สมาชิกสภาผู้แทน Willis Hawley ผู้เสนอร่างกฎหมายที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากว่า 20,000 รายการ

Smoot-Hawley: กำแพงภาษีที่เปลี่ยนโลก

ในเดือนมิถุนายน 1930 ประธานาธิบดี Herbert Hoover ลงนามรับรอง Smoot-Hawley Tariff Act
ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ภาษีนำเข้าสินค้าหลายชนิดก็พุ่งขึ้นอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น ภาษีผ้าขึ้นจาก 30% เป็น 50% ภาษีอาหารและเหล็กก็เพิ่มสูงขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์

ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ราคาสินค้าในประเทศแพงขึ้น แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ ประเทศคู่ค้าเริ่มตอบโต้ แคนาดา ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐหลายรายการ ยุโรป ตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีของตัวเอง

ผลคือการค้าระหว่างประเทศชะงัก ส่งออกของสหรัฐลดลงเกือบ 60% ภายใน 4 ปี เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยลึก

Smoot-Hawley กลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลว

ภายหลังจากวิกฤตครั้งนั้น นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำโลกส่วนใหญ่ล้วนเห็นพ้องกันว่า การปิดประเทศด้วยกำแพงภาษีคือทางตัน ไม่ใช่ทางรอด

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง โลกจึงสร้างกลไกความร่วมมือใหม่ เช่น GATT และ WTO เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามภาษีอีก แต่เวลาผ่านไป ความทรงจำจางลง…

2025: Smoot-Hawley 2.0?

วันนี้ชื่อของ Smoot กับ Hawley ถูกพูดถึงอีกครั้ง
เมื่ออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีทุกประเทศทั่วโลกในระดับอัตราที่สูงกว่าคาดแบบไม่เชื่อสายตา และไม่มีเหตุผล แม้กระทั่งกับประเทศเล็กๆ และสูงกว่าสมัย Smoot-Hawley เสียอีก!

แม้นโยบายภาษี ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ผลกระทบเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ตลาดหุ้นผันผวนหนัก ดัชนีดาวโจนส์ร่วงกว่า 1,600 จุดในหนึ่งสัปดาห์

หลายประเทศรวมถึงจีนตอบโต้ทันควัน ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก

มีโอกาสที่โลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และความเชื่อถือเชื่อใจต่อสหรัฐหมดไปอย่างรวดเร็ว

คำถามคือ…เราจะเรียนรู้จากอดีตหรือไม่

Smoot-Hawley ในปี 1930 ไม่ได้ล้มเหลวเพราะเจตนาไม่ดี แต่มันล้มเหลวเพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว — เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันแน่นหนา และไม่มีใครอยู่รอดได้ด้วยการปิดประตูใส่กัน

ในปี 2025 โลกก็เปลี่ยนไปอีกขั้น
ห่วงโซ่อุปทานข้ามประเทศ แพลตฟอร์มดิจิทัล การลงทุนข้ามพรมแดน เรายิ่งเชื่อมโยงกันมากขึ้นกว่าเดิม
คำถามคือ…เรากำลังเดินไปข้างหน้า หรือแค่หมุนกลับไปยังร่องเดิมที่เคยล้มมาแล้ว?

ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว Trump ก็รู้ดีว่าไม่มีทางเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงขนาดนี้ได้ เพราะผลกระทบต่อผู้บริโภค ธุรกิจ และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล 

ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ชะลอลง และสงครามค่าเงิน มีโอกาสจะทำให้คะแนนความนิยมของ Trump และ พรรค Republican ร่วงลงอย่างรวดเร็ว แต่เราจะรอจนถึง mid term election ปลายปีหน้าได้หรือเปล่า

ผมคิดว่า Trump อาจจะอยากเห็นภาษีสินค้านำเข้าไปอยู่ประมาณ 10% เพื่อเป็นแหล่งรายได้ภาษีชดเชยการขาดดุล (สหรัฐนำเข้าปีละกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ เก็บภาษีมาคงได้เป็นแสนล้าน) และคงรู้แล้วว่าขึ้นภาษีไปก็ลดการขาดดุลการค้าไม่ได้หรอก

ยกเว้นสินค้าสำคัญอย่างรถยนต์ อุตสาหกรรมยา และ semiconductor ที่อยากเห็นการย้ายฐานการผลิตกลับมาสหรัฐจริงๆ  แต่ต้องการใช้โอกาสนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก เรียกข้อเสนอจากประเทศต่างๆให้มากที่สุด เหมือนจักรพรรดิเรียกดูเครื่องราชบรรณาการจากประเทศต่างๆ

ในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า เราคงได้ยิน Trump ประกาศชัยชนะ ที่ได้ “ดีล” จากประเทศนั้นประเทศนี้ และอาจจะประกาศเลื่อนการบังคับภาษีไป หรือ “ลดให้” เหลือ 10% 

แต่ความเสี่ยงคือถ้าประเทศใหญ่ๆขึ้นภาษีตอบโต้  เราอาจจะเห็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ และโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ง่ายๆ

ระหว่างนี้ ความไม่แน่นอนจะทำให้การตัดสินใจลงทุน การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงเลื่อนออกไป และอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น และการยกเลิกระบบการค้าที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการจะเปลี่ยนการค้าโลก และประสิทธิภาพของการผลิตโลกที่เติบโตมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ไปแบบกู่ไม่กลับ…

บางครั้ง… กำแพงที่เราสร้างขึ้นเพื่อปกป้องตัวเอง อาจกลายเป็นกำแพงที่ขังเราทุกคน และโลกอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป….

 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย  หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์  กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)
แชร์
ย้อนอดีตจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก รู้จัก Smoot-Hawley กำแพงภาษีที่เปลี่ยนโลก