แรงสั่นสะเทือนขนาด 7.7 และ 6.4 ที่โถมใส่เมียนมาที่เมืองมัณฑะเลย์และสะกายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 แม้มีระยะเวลาไม่กี่นาที แต่สร้างผลกระทบให้คนหลายล้านเป็นระยะยาว ข้อมูลจากรัฐบาลเมียนมาเมื่อวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 ระบุว่า มีคนมากกว่า 3,354 เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ 4,850 คนบาดเจ็บ และอีกราว 3.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนบาดลึกลงในแผ่นดินที่เดิมทีก็มีปัญหาสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ผู้หญิงและเด็กคือหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
บทความ Myanmar Earthquake 2025: What it means for women and girls โดย UN Women ได้อธิบายถึงผลกระทบที่ผู้หญิงและเด็กในเมียนมาพบเจอหลังเกิดแผ่นดินไหว 6 ข้อ ดังนี้:
คนเมียนมาจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ อย่างท้องถนน สวนสาธารณะ พื้นที่เปิดกลางแจ้ง ด้วยเพราะบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย หรือไม่ก็เพราะความหวาดกลัวอาฟเตอร์ช็อกหรือการถล่มเพิ่มเติม ผู้คนเหล่านี้ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ มีเพียงผ้าห่มบางๆ คั่นระหว่างพื้นที่พักผ่อน ไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ความเสี่ยงการถูกทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศ (gender-based violence) จึงมากขึ้น และพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้เมื่อจำเป็น
มีเด็กหลายคนถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากจากครอบครัวและต้องอยู่ในที่พักชั่วคราว การไร้ผู้ดูแลทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงต่อเด็ก การค้ามนุษย์ การอพยพอย่างไม่ปลอดภัย และโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มีความเสี่ยงเผชิญกับอันตรายทางเพศ หรือการแต่งงานก่อนวัยอันควร
โรงพยาบาลจำนวนมากได้รับความเสียหาย และยังมีความต้องการรักษาพยาบาลมากจากผู้คนที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้ผู้คนมากมาย รวมทั้งผู้หญิงและเด็กไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงการคลอดอย่างปลอดภัยและการดูแลสุขภาพมารดา อีกปัจจัยที่ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นไปได้ยากคือ ถนนที่เสียหายและการขาดแคลนเชื้อเพลิง
ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากรายงานว่า พื้นที่ห้องสุขาและพื้นที่อาบน้ำนั้นไม่ปลอดภัย และไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งทำให้ยากจะรักษาสุขอนามัยได้ โดยเฉพาะขณะมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ และหลังคลอด ในค่ายพักชั่วคราวแห่งหนึ่ง พบว่ามีห้องน้ำเพียง 14 ห้องเท่านั้นสำหรับผู้ใช้งาน 1,200 คน และไม่มีเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า สภาพแวดล้อมเช่นนี้ ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคระบาดอีกด้วย
อาหารเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ มีตลาดเพียงไม่กี่แห่งที่ยังเปิดให้บริการอยู่ ขณะที่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องปิดตัวไป และราคายังพุ่งสูงขึ้นมาก โดยมากผู้หญิงและเด็กมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการจัดหาอาหารในครัวเรือน ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มได้รับอาหารน้อยกว่าและมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่า และครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัวมักประสบปัญหาเข้าถึงความช่วยเหลือฉุกเฉิน และประสบปัญหาทางการเงินมากกว่า
คนส่วนมากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านมนุษยธรรมจะประสบภาวะความเครียดทางจิตใจ ประมาณ 1 ใน 5 คน อาจพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว แต่มีคนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม อ้างอิงจากรายงานของ Psychotraumanet ปี 2019 ผู้หญิงและเด็กในเมียนมาได้รับผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างมาก ทั้งการสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน คนที่รัก และยังมีความเครียดจากเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง และความขัดแย้งยาวนานในประเทศ
เพราะผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มคนกว่าครึ่งที่ได้รับผลกระทบ การตระหนักถึงปัญหาเฉพาะของผู้หญิงและเด็ก รวมถึงหาทางแก้ไขเป็นสิ่งจำเป็น UN Women ได้แนะนำ 5 แนวทางในการแก้ไขปัญหาของผู้หญิงและเด็กในสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา