Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จีนฉีกสัญญา เดินหน้าสร้าง โรงงานไฟฟ้าถ่านหินในอินโดฯ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จีนฉีกสัญญา เดินหน้าสร้าง โรงงานไฟฟ้าถ่านหินในอินโดฯ

29 เม.ย. 68
14:58 น.
แชร์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 รายงานวิเคราะห์การลงทุนกลุ่มประเทศ BRICS เปิดเผยว่า บริษัทพลังงานสัญชาติจีนยังคงเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในอินโดนีเซีย แม้เคยให้คำมั่นเมื่อปี 2021 ว่าจะยุติการสนับสนุนโครงการถ่านหินในต่างประเทศแล้วก็ตาม

รายงานของ Global Energy Monitor (GEM) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยจากสหรัฐฯ ชี้ว่า จีนมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตรวม 7.7 กิกะวัตต์ในอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการหล่อโลหะนิกเกิล

กลุ่มประเทศ BRICS ก่อตั้งโดย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนในปี 2009 ต่อมาได้ขยายสมาชิกและพันธมิตรเพิ่มเติม จนครอบคลุมประเทศที่มีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณทั่วโลก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จีนยังหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศกำลังพัฒนา

แม้ในบราซิล อินเดีย และจีนจะมีการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา จนเกินครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่ม BRICS แต่ประเทศสมาชิกใหม่ 10 แห่ง เช่น ไนจีเรีย คาซัคสถาน และอินโดนีเซีย ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากจีน

“มีความเสี่ยงมากที่ประเทศเหล่านี้จะเดินไปในทิศทางที่ผิด หากยังลงทุนกับถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน” เจมส์ นอร์แมน ผู้จัดการโครงการ Global Integrated Power Tracker ของ GEM กล่าว

ข้อมูลของ GEM ระบุว่า ทั้ง 10 ประเทศกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ รวม 25 กิกะวัตต์ เทียบกับเพียง 2.3 กิกะวัตต์จากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์และลม นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าก๊าซที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 63 กิกะวัตต์

การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของทั้ง 10 ประเทศนี้ส่วนใหญ่ได้รับการลงทุนจากบริษัทของรัฐจีน ทั้งด้านการเงิน การจัดซื้อ วิศวกรรม และการก่อสร้าง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่กำลังก่อสร้างในประเทศเหล่านี้กว่า 88% ได้รับการสนับสนุนจากจีน กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนยังไม่ตอบข้อซักถามต่อกรณีดังกล่าว

โรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลเสียอย่างไร?

ในปี 2022 ถ่านหินยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าราว 36% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก แม้จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้ถ่านหินให้เหลือ 4% ภายในปี 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี 2040 เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ สงคราม และการฟื้นตัวจากโรคระบาดใหญ่ ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป หันกลับมาใช้พลังงานจากถ่านหินมากขึ้นอีกครั้ง

จีนยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซ CO₂ จากถ่านหินมากที่สุด โดยในปี 2023 มีการปล่อย CO₂ สูงถึง 8,550 ล้านตันเมตริก ส่วนอินเดียกลายเป็นประเทศที่ปล่อย CO₂ จากถ่านหินมากเป็นอันดับสองของโลกตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ CREA ยังชี้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งปล่อยมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด โดยมักปล่อยสารอันตราย ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂), ไนโตรเจนออกไซด์ (NOₓ), ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) รวมถึงสารปรอทและโลหะหนักอื่น ๆ

แม้โรงไฟฟ้าถ่านหินจะจัดเป็น “แหล่งปล่อยมลพิษขนาดใหญ่ที่อยู่กับที่” (large, stationary point sources) แต่ด้วยจำนวนที่จำกัดและมีปล่องปล่อยอากาศไม่มาก การตรวจสอบและควบคุมจึงสามารถทำได้ง่ายกว่าแหล่งอื่น

จีนผิดคำมั่น?

หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยให้คำมั่นต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ว่าจีนจะไม่สร้างหรือสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศอีกต่อไป พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม รายงานประจำปีของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ปี 2024 ระบุว่า แม้กำลังการผลิตจากถ่านหินของจีนในต่างประเทศจะลดลงจาก 15.9 กิกะวัตต์ในปี 2022–2023 เหลือ 5.6 กิกะวัตต์ในปี 2024 แต่จำนวนโครงการใหม่กลับเพิ่มขึ้น โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเพิ่มจาก 18.3 กิกะวัตต์ในปี 2023 เป็น 26.2 กิกะวัตต์ในปี 2024 เพิ่มขึ้นถึง 7.9 กิกะวัตต์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมผู้นำ BRICS ที่จะจัดขึ้นที่บราซิลในเดือนมิถุนายนนี้ โดยเจ้าภาพได้เรียกร้องให้จีนและประเทศอื่น ๆ เพิ่มความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยมลพิษก่อนถึงการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP 30 ในเดือนพฤศจิกายน

ล่าสุด จีนให้คำมั่นว่าจะส่งแผนการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 ซึ่งจะครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจและก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในประเด็นนี้

อ้างอิง: Reuters, CREA


แชร์
จีนฉีกสัญญา เดินหน้าสร้าง โรงงานไฟฟ้าถ่านหินในอินโดฯ