นโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในมิติของห่วงโซ่อุปทาน เงินเฟ้อ และตลาดแรงงาน โดยนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักเตือนว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 50% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
หลังการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 145% เมื่อต้นเดือนเมษายน การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างสองประเทศลดลงอย่างหนักถึง 60% ตามการประเมินของนักวิเคราะห์ แม้ว่าผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างจะยังไม่เกิดขึ้นทันที แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสถานการณ์กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ซึ่งอาจเห็นผลชัดเจนตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป
ภายในเดือนพฤษภาคม บริษัทนับพันแห่ง ตั้งแต่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก จะต้องเร่งเติมสต็อกสินค้าใหม่ โดย Walmart และ Target ซึ่งเป็นสองผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่าผู้บริโภคอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรง ทั้งในด้านปริมาณและราคาที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายหมวดสินค้า
Torsten Slok หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Apollo Management ระบุว่า สหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญภาวะขาดแคลนสินค้าในระดับเดียวกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเร่งตัวขึ้นจากภาวะตึงตัวของอุปทาน นอกจากนี้ ยังอาจนำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมากในภาคขนส่ง โลจิสติกส์ และค้าปลีก ซึ่งจะยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งสัญญาณพร้อมทบทวนการจัดเก็บภาษีบางส่วน เพื่อบรรเทาความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานได้ลุกลามเกินกว่าจะควบคุมได้อย่างทันท่วงที และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นฤดูกาลจับจ่ายที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า สงครามการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 2025 และ 2026 โดยภาษีที่สูงขึ้นกำลังเร่งเงินเฟ้อ และบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของ GDP
ผลสำรวจล่าสุดของ Bloomberg ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 1.4% ในปี 2025 และ 1.5% ในปี 2026 ลดลงจากประมาณการเดิม ขณะที่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 45% จาก 30% ในเดือนมีนาคม
การขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 145% และการกำหนดภาษีขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าจากหลายประเทศ สะท้อนความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวแรง โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนที่เริ่มอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด
"การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากการยุติสงครามการค้า และฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ" เบรตต์ ไรอัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Deutsche Bank ระบุ
แม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะประกาศระงับการขึ้นภาษีบางส่วนชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน แต่ Bloomberg Economics ประเมินว่าอัตราภาษีโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ พุ่งแตะเกือบ 23% สูงที่สุดในรอบกว่าศตวรรษ กดดันความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก พร้อมเตือนว่าภาษีสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจขยายผลกระทบไปทั่วโลก
ในช่วงไตรมาสแรก นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นถึง 19.2% จากการเร่งสต็อกก่อนภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ แต่หลังจากนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2027 โดยการส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากแรงกดดันของมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า
สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (BEA) เตรียมเผยตัวเลข GDP ไตรมาสแรกเบื้องต้นในวันที่ 30 เมษายนนี้
ด้านเงินเฟ้อ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้เป็นเกณฑ์วัดเงินเฟ้อ จะเพิ่มขึ้นแตะ 3.2% ภายในสิ้นปี 2025 สูงกว่าประมาณการเดือนมีนาคม ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเร่งขึ้นเป็น 3.3%
"เงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น แต่ไม่รุนแรงเท่าช่วงปี 2022" นักเศรษฐศาสตร์จาก Comerica Bank กล่าว พร้อมเสริมว่า "ภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้ Fed มีข้อจำกัดมากขึ้นในการลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อไม่ลดลงเหมือนในภาวะช็อกเศรษฐกิจทั่วไป"
สำหรับตลาดแรงงาน คาดว่าจะยังทรงตัวในระยะสั้น โดยมีการจ้างงานเฉลี่ยเดือนละ 72,000-100,000 ตำแหน่งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่อัตราว่างงานคาดว่าจะขยับขึ้นเป็น 4.6% ภายในสิ้นปี 2025 จากเดิมที่คาดไว้ 4.3%
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ ปริมาณเรือสินค้าจากจีนที่เดินทางมายังสหรัฐฯ ลดลงถึงประมาณ 40% ขณะเดียวกัน ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ต่อเที่ยวเรือก็ลดลงกว่าหนึ่งในสาม
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก Drewry World Container Index ยังชี้ว่าค่าระวางเรือระหว่างจีนและสหรัฐฯ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปี สะท้อนภาวะชะลอตัวของการค้าอย่างชัดเจน
องค์การการค้าโลก (WTO) เตือนว่าภาษีการค้าอาจทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงมากถึง 80% สอดคล้องกับถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่เปรียบสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็น “การคว่ำบาตรทางการค้าโดยสมบูรณ์”
ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยเกือบ 50% โดยคาดว่าการนำเข้าจะหดตัวลงถึง 7% ในไตรมาสที่สอง ถือเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19
ทั้งนี้ แม้ว่าสงครามการค้าอาจมีแนวโน้มคลี่คลาย จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มแสดงท่าทีอ่อนข้อต่อจีนเพื่อขอเจรจา แต่การฟื้นตัวของการค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกลับเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ เนื่องจากอุตสาหกรรมขนส่งที่เคยลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาระดับราคา อาจไม่สามารถรองรับคำสั่งซื้อระลอกใหม่ได้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและค่าขนส่งพุ่งสูง ซ้ำรอยวิกฤตช่วงโควิด-19
"ท่าเรือและระบบขนส่งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความผันผวนในลักษณะนี้" ลาร์ส เจนเซน ซีอีโอ Vespucci Maritime กล่าว
โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลเตรียมสต็อกสินค้าสำหรับเทศกาลเปิดเทอมและคริสต์มาส หากการแก้ไขภาษีนำเข้าไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์อาจเผชิญภาวะขาดแคลนสินค้าในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของปี
"เรากำลังติดหล่ม" เจย์ โฟร์แมน ซีอีโอของ Basic Fun ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่กล่าว พร้อมเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ว่าไม่ต่างจาก "การคว่ำบาตรโดยพฤตินัย" และเตือนว่าหากอัตราภาษียังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกไม่กี่สัปดาห์ คำสั่งซื้อจำนวนมากอาจถูกยกเลิก
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ซัพพลายช็อกก็เริ่มปรากฏชัดในเอเชีย หลังจำนวนเรือบรรทุกสินค้าที่ออกจากจีนลดลงเหลือเพียง 40 ลำ พร้อมตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 320,000 ตู้ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการประกาศขึ้นภาษี
ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น สหรัฐฯ เริ่มหันไปเร่งนำเข้าสินค้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน โดย Hapag-Lloyd รายงานว่าการส่งออกจากกัมพูชา ไทย และเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า แม้จะพยายามกระจายแหล่งนำเข้า แต่ความปั่นป่วนในห่วงโซ่อุปทานและแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังคงยากจะหลีกเลี่ยง
นอกจากนี้ ภาวะอุปทานขาดแคลนอาจผลักดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ให้เร่งตัวสูงขึ้น โดยราคาสินค้านำเข้าจากจีนมีแนวโน้มพุ่งสูงเป็นสองเท่าในบางหมวดสินค้า ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอ่อนตัวลงต่อเนื่อง
หากสงครามการค้ายังยืดเยื้อ ผู้ค้าปลีกและซัพพลายเออร์อาจต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ทั้งในแง่การเลือกสินค้านำเข้า การจัดการสต็อก และการปรับราคาขายเพื่อรักษากำไร
ท้ายที่สุด หลายบริษัทอาจถูกบีบให้ลดต้นทุนอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนพนักงาน หรือชะลอการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ
"สถานการณ์ครั้งนี้อาจรุนแรงกว่าวิกฤตโควิดเสียอีก" เจย์ โฟร์แมน ซีอีโอ Basic Fun กล่าว "ยิ่งความขัดแย้งยืดเยื้อ ความเสียหายก็จะยิ่งลุกลาม แต่หากมีการยกเลิกภาษีในเร็ววัน ผลกระทบก็สามารถคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว"