Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
'เผ่าภูมิ' ยันรบ.มีกระสุนการคลังพร้อมสู้ศึกการค้า จ่อกระตุ้นกำลังซื้อ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

'เผ่าภูมิ' ยันรบ.มีกระสุนการคลังพร้อมสู้ศึกการค้า จ่อกระตุ้นกำลังซื้อ

26 เม.ย. 68
17:04 น.
แชร์

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้ชัด นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้กระทบแค่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่แรงสั่นสะเทือนกำลังลามถึง SMEs ไทย ที่ส่อมีรายได้และกำไรลดลงจากการหดตัวของกำลังซื้อในประเทศ แต่ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับมือ ยังมีทั้งกระสุนการคลังและเครื่องมือทางการเงินในมือ พร้อมเดินหน้ารับมือทุกแรงกระแทก เพื่อพยุงเศรษฐกิจและพา SMEs ไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

วันนี้ (26 เมษายน 2568) ในงาน SPOTLIGHT FORUM “SME Navigator 2025 ชี้ทางรอด นำทางรุ่งธุรกิจไทย” นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "SME ไทยฝ่าวิกฤตสู่อนาคตที่มั่นคง" โดยชี้ว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่สงครามการค้าสั่นคลอนโครงสร้างเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบตรงมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มแผ่วลงจากกำลังซื้อทั่วโลกที่อ่อนตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตรายใหญ่จะเป็นกลุ่มแรกที่รับแรงปะทะ ดร.เผ่าภูมิเตือนว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะเมื่อการส่งออกชะลอลง การลงทุนเริ่มลด การจ้างงานสะดุด เศรษฐกิจในประเทศจะอ่อนแรงตาม และสุดท้ายกำลังซื้อของประชาชนจะหดตัว กระทบย้อนกลับสู่ภาคธุรกิจในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ดร.เผ่าภูมิยังระบุว่า ความไม่แน่นอนที่ปกคลุมเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า ได้กดดันให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าสู่โหมด "รอดูท่าที" (Wait and See) ทำให้เม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ ไหลเข้าสู่ระบบลดน้อยลง เมื่อการลงทุนซบเซา โอกาสในการสร้างงานก็ลดลงตาม และสุดท้ายกำลังซื้อในประเทศจะยิ่งหดตัวลงอีก

ด้วยเหตุนี้ ดร.เผ่าภูมิจึงเน้นย้ำว่า SMEs ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เปิดมุมมองให้กว้างกว่าเดิม ไม่จำกัดอยู่แค่ตลาดในประเทศ แต่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจและก้าวข้ามช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ให้ได้

ต้องขยายตลาดในภูมิภาค หาตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ ภาครัฐได้มีโอกาสร่วมประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินระดับโลกอย่างธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกลุ่มอาเซียน ที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ข้อสรุปร่วมกันถึง 4 แนวทางสำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่

  • ส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค (Intra-Regional Trade) เพื่อลดการพึ่งพาตลาดนอกภูมิภาค และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจากภายใน
  • กระจายความเสี่ยงด้านการส่งออก ผ่านการลดการพึ่งพาตลาดหลักและเร่งขยายตลาดใหม่ๆ
  • เชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มโอกาสการลงทุน และรองรับความผันผวนของตลาดโลก
  • เพิ่มอุปสงค์ในประเทศ (Domestic Demand) ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากภายใน ให้ทุกประเทศเติบโตได้ด้วยตัวเอง

ยันยันไทยมีเครื่องมือเพียงพอ เสริมกำลังการคลัง-การเงิน สู้วิกฤต

ในระดับประเทศ ดร. เผ่าภูมิระบุว่า สถานะทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 64% และเพียง 58% ของ GDP ตามนิยามของ IMF ดังนั้นยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวลเท่าหนี้ครัวเรือน และภาคการคลังยังมีช่องว่างและกระสุนในการดำเนินนโยบายแน่นอน 

ในด้านการคลัง ดร. เผ่าภูมิ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน รัฐบาลกันงบประมาณไว้กว่า 150,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ประเทศไทยขาดแคลนมานาน เพราะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เหล่านี้เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนขนาดใหญ่ที่ลงไปถึง SMEs ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการสร้างการจ้างงานและขยายฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และรัฐบาลกำลังพิจารณาดูว่าจะใช้งบประมาณนี้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะเดียวกันในด้านการเงิน ดร.เผ่าภูมิเน้นว่า รัฐบาลยังมีช่องว่างและกระสุนการเงินที่พร้อมใช้อย่าง "ถูกจังหวะและได้ผล" (Timely and Effective) โดยปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการเติมสภาพคล่องให้ SMEs ซึ่งกำลังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจหรือพยุงธุรกิจในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่เป็นช่วง "Low Season" ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

โดยมาตรการที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการ ได้แก่

  • ปล่อยซอฟต์โลน (Soft Loan) และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ EXIM BANK โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP สูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่และกว้าง
  • มาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น มาตรการผ่อนเกณฑ์ LTV การลดค่าธรรมเนียมการจดจำนอง และปรับเกณฑ์การโอน เพื่อกระตุ้นยอดขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์
  • ขยายโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จากโครงการ PGS 11 หรือโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ยั่งยืน ระยะที่ 11 ที่กำลังจะหมดวงเงิน ไปสู่ PGS 12 เพื่อช่วยถ่ายเทความเสี่ยงและกระตุ้นให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น

เร่งปลดล็อกเกณฑ์สินเชื่อ-หนุนเอสเอ็มอีบุกตลาดใหม่

ในด้านนโยบายการปล่อยสินเชื่อ ดร. เผ่าภูมิชี้ว่ามาตรฐาน Responsible Lending แม้จะเหมาะสมในสภาวะเศรษฐกิจปกติ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก จำเป็นต้องมีการผ่อนปรน เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น เป็นการช่วยพยุงทั้งภาคเอสเอ็มอีและประชาชนในวงกว้าง

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้วางแผนสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ขยายตัวไปในทิศทางที่ตรงกับจุดยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น เช่นการสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายตลาดใหม่ ผ่านการให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษจาก EXIM Bank เพื่อกระตุ้นให้เอสเอ็มอีส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆ นำสินค้าไปโชว์ในประเทศใหม่ๆ และสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้าระหว่างประเทศ

ท้ายที่สุด ดร. เผ่าภูมิย้ำว่า แม้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง และเครื่องมือทางการคลังและการเงินที่พร้อมใช้งาน รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถใช้ทุกโอกาสและช่องว่างที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนภาคเอสเอ็มอี และผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าฝ่าวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างมั่นคง


แชร์
'เผ่าภูมิ' ยันรบ.มีกระสุนการคลังพร้อมสู้ศึกการค้า จ่อกระตุ้นกำลังซื้อ