นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้อัตราภาษีตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลกเมื่อวันที่ 2 เมษายนตามเวลาในสหรัฐฯ รัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ต่างเร่งติดต่อเพื่อเปิดการเจรจากับคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) หวังบรรเทาหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น อาเซียน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษ
ผ่านมาราวสามสัปดาห์ หลายประเทศในเอเชียสามารถเข้าพบและเริ่มการหารือกับฝั่งสหรัฐฯ ได้แล้ว โดยบางรายได้รับสัญญาณบวกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผ่อนปรน ขณะที่บางประเทศ รวมถึงไทย ยังคงรอการตอบรับอย่างเป็นทางการเพื่อกำหนดวันเข้าพบ พร้อมเดินหน้าเตรียมข้อเสนอและกลยุทธ์การเจรจา ท่ามกลางการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จะพาผู้อ่านไปสำรวจว่า ประเทศใดในเอเชียได้เริ่มต้นการเจรจากับสหรัฐฯ แล้วบ้าง พร้อมอัปเดตความคืบหน้าและคำมั่นที่แต่ละประเทศได้รับจากการพูดคุยกับทีมทรัมป์
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ได้เปิดการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม โฮ ดึ๊ก ฟุค (Ho Duc Phoc) ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของโต เลิม (To Lam) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อหารือกับรัฐมนตรีคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ และรัฐมนตรีพาณิชย์ โฮเวิร์ด ลัทนิค โดยมีเป้าหมายในการเร่งกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ
การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างโต เลิม กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงสองวันหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ ทำให้เวียดนามต้องเร่งดำเนินการทางการทูตอย่างรวดเร็ว
ฟุคได้เน้นย้ำในการหารือกับรัฐมนตรีคลังเบสเซนต์ว่า เวียดนามให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคี โดยเขาเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดกระบวนการให้เร็วที่สุด เพื่อเสริมความมั่นคงในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ
ขณะเดียวกัน เบสเซนต์ได้แสดงความชื่นชมต่อความพยายามของเวียดนามในการตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ และยืนยันว่าเขาได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของสหรัฐฯ และมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถหาข้อสรุปที่เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้
การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหารือทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม หลังจากที่เวียดนามได้ยื่นข้อเสนอหลายประการเพื่อลดผลกระทบจากภาษีตอบโต้ตั้งแต่ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศอัตราภาษีในวันที่ 2 เมษายน เช่น การปรับลดภาษีสินค้าหลายประเภท เช่น รถยนต์, LNG, เอทานอล, สินค้าเกษตร และสินค้าของแอปเปิลและไก่แช่แข็ง
แม้ว่าในท้ายที่สุดเวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% แต่เวียดนามยังคงเดินหน้าการเจรจาต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและป้องกันไม่ให้สินค้าจีนสวมสิทธิ์เป็นสินค้าของเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญสูง โดยจะยกเลิกการออก certificate of origin (C/O) จากองค์กรต่างๆ และโอนหน้าที่นี้ให้แก่หน่วยงานรัฐ และการส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจตราในสถานที่จริง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน รัฐมนตรีพาณิชย์เวียดนาม เหงียน ฮ่อง เดียน ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เจมีสัน เกรียร์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการในเรื่องข้อตกลงการค้า หลังจากการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง
ในระหว่างการสนทนา ฝ่ายเวียดนามได้แสดงความตั้งใจที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ สู่ระดับ "หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน" และมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าให้มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ โดยเวียดนามพร้อมร่วมมือเพื่อหาทางออกที่สมเหตุสมผลบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมและการแบ่งปันความเสี่ยง
กระทรวงการค้าของเวียดนามระบุว่า ฝ่ายสหรัฐฯ มีความมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่เหมาะสมในเร็วๆ นี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้มั่นคงและเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ด้าน ‘ญี่ปุ่น’ หนึ่งในเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชีย ก็ได้เริ่มต้นการเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน คณะผู้แทนจากญี่ปุ่นนำโดย เรียวเซ อากาซาวะ รัฐมนตรีส่งเสริมเศรษฐกิจ ได้เข้าพบรัฐมนตรีคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีพาณิชย์ โฮเวิร์ด ลัทนิค และผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เจมีสัน เกรียร์ โดยการหารือในครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
หลังการเจรจาครั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาประกาศว่า การเจรจาการค้ากับญี่ปุ่นมี "ความคืบหน้าใหญ่" ซึ่งเป็นการพบปะครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลก
ในการเจรจาครั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องหลายประการ เช่น การขยายการนำเข้าข้าวและมันฝรั่ง รวมถึงการยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่อากาซาวะได้สอบถามถึงข้อเรียกร้องใดที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
แม้ญี่ปุ่นต้องการจำกัดขอบเขตการเจรจาให้แคบลงเฉพาะเรื่องการค้าและการลงทุน แต่ทรัมป์ได้ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่าได้หารือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นด้วย โดยระบุว่า “เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบกับคณะผู้แทนญี่ปุ่นในประเด็นการค้า มีความคืบหน้าใหญ่!”
ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้นายริโฮเซอิ อากาซาวะ หัวหน้าผู้เจรจาด้านมาตรการภาษี เดินทางไปยังสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 30 เมษายนถึง 2 พฤษภาคม เพื่อเข้าร่วมการเจรจาครั้งที่สอง โดยแหล่งข่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า อากาซาวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะหารือกับรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ โดยมุ่งหวังที่จะทบทวนภาษีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์และสินค้าหลายประเภท
“แต่ละประเทศมีลำดับความสำคัญของตัวเอง และเราจะหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญที่สุดในที่ประชุม” อากาซาวะกล่าวกับสื่อในโตเกียวในวันนี้ “เราหวังว่าจะสามารถตัดสินใจในประเด็นเหล่านี้ในการประชุมครั้งที่สอง”
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับภาษีศุลกากร 10% สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ และภาษี 25% สำหรับรถยนต์ ซึ่งแม้ว่าจะมีการระงับอัตราภาษีที่สูงกว่าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน แต่การเก็บภาษีรถยนต์ยังคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อญี่ปุ่น เนื่องจากรถยนต์เป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 17 เมษายน คณะผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าพบกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นายเจมิสัน เกรียร์ และรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ นายฮาวเวิร์ด ลัทนิก โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าจะสรุปผลการเจรจาเกี่ยวกับความตกลงทางการค้าภายใน 60 วันข้างหน้า
หลังการหารือ อินโดนีเซียประกาศแผนการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการจัดซื้อพลังงานมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าเกษตรอย่างข้าวสาลี ถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง ตลอดจนสินค้าทุนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมยินยอมให้สัมปทานทางการค้าอื่น ๆ เพื่อแลกกับการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีนำเข้าใหม่จากรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือน โดยขณะนี้มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างระงับใช้ชั่วคราว 90 วัน และจะมีผลในเดือนกรกฎาคม หากไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้น
รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียจะเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนในภาคแร่ธาตุสำคัญ เช่น นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ ตลอดจนจะปรับปรุงกระบวนการนำเข้าสินค้าพืชสวนจากสหรัฐฯ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาตและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่บริษัทอเมริกันที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศ
นอกจากนี้ หนึ่งวันก่อนหน้า คือวันที่ 16 เมษายน รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย นายซูจิโอโน ยังได้เข้าพบนายมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อหารือแนวทางขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นมาตรการภาษี โดยฝ่ายอินโดนีเซียเสนอปรับลดข้อจำกัดด้านการนำเข้า รวมถึงการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ
ในแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุว่า การหารือดังกล่าวยังครอบคลุมถึงความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยฝ่ายอินโดนีเซียเสนอให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในการลงทุนในภาคแร่ธาตุที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ฝ่ายสหรัฐฯ โดยนายรูบิโอ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียในการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและการค้า โดยย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม สมดุล และยั่งยืนระหว่างสองประเทศ
ในขณะที่หลายประเทศต้องส่งตัวแทนไปเจรจาที่สหรัฐฯ อินเดียกลับได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อเจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนอินเดียพร้อมครอบครัวเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีด้วยตนเอง
ระหว่างการเยือนเป็นเวลา 4 วัน (21-24 เม.ย.) แวนซ์ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองชัยปุระ โดยเรียกร้องให้อินเดียและสหรัฐฯ ผนึกกำลังกันสร้างศตวรรษที่ 21 ให้เป็นยุคแห่งเสถียรภาพและความรุ่งเรือง พร้อมเตือนว่าหากทั้งสองประเทศล้มเหลวในการร่วมมือกัน โลกอาจเผชิญความไม่แน่นอนและความมืดมน
การแสดงจุดยืนเชิงรุกของแวนซ์เกิดขึ้นหลังการพบหารือกับนายกรัฐมนตรีโมดี ซึ่งทั้งสองฝ่ายยืนยันว่า การเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีมีความคืบหน้า โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐฯ ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอินเดียชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้
อินเดียเดิมมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาษีนำเข้าสูงถึง 27% ทำให้รัฐบาลนิวเดลีต้องเร่งเปิดโต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ แวนซ์เปิดเผยว่าทั้งสองฝ่ายได้บรรลุ “กรอบอ้างอิง” สำหรับการเจรจา ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญสู่ข้อตกลงสุดท้าย พร้อมยกย่องโมดีว่าเป็น “นักเจรจาที่แข็งแกร่ง” และ “รู้จักต่อรอง”
ทั้งนี้ แม้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างแวนซ์กับโมดีจะแน่นแฟ้น แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ลดโทนวิจารณ์ โดยเคยระบุว่าอินเดียคือ “ราชาแห่งภาษี” และเป็น “ผู้เอาเปรียบทางการค้า” ขณะที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เจมิสัน เกรียร์ ก็ยังคงกล่าวถึง “ความไม่สมดุล” ในการค้าระหว่างสองประเทศอย่างเปิดเผย
เพื่อรับมือกับแรงกดดันดังกล่าว อินเดียได้เริ่มทยอยลดภาษีสินค้าหลายรายการ และอยู่ระหว่างพิจารณาลดภาษีเพิ่มเติมในบางหมวด แม้ยังมีความขัดแย้งในภาคเกษตรกรรม ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการขยายการเข้าถึงตลาด ขณะที่อินเดียยังคงปกป้องเกษตรกรของตนอย่างเข้มงวด
ในช่วงการเยือน แวนซ์ยังระบุว่าสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มการส่งออกพลังงานและยุทโธปกรณ์มายังอินเดีย พร้อมหารือเรื่องความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกับผู้นำอินเดีย
นายกรัฐมนตรีโมดียังกล่าวยืนยันว่า เขาตั้งตารอต้อนรับทรัมป์ในการเยือนอินเดียภายในปีนี้ โดยหนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือการประชุมสุดยอดกลุ่มควอด (Quad Summit) ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ คาดว่าจะเดินทางเข้าร่วมด้วยตนเอง
ในขณะที่หลายประเทศได้เข้าพบทีมเจรจาการค้าของสหรัฐฯ แล้ว ประเทศที่ยังอยู่ในคิวรอแต่เตรียมพบเร็ว ๆ นี้คือ มาเลเซีย และ เกาหลีใต้
ตามรายงานของสำนักข่าว Bernama นายเต็งกู ซาฟรูล อับดุล อาซิซ รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของ 'มาเลเซีย' มีกำหนดเยือนกรุงวอชิงตันในวันที่ 24 เมษายน นี้ เวลาสหรัฐฯ เพื่อหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เตรียมใช้กับสินค้าไทยและมาเลเซีย
แม้เป็นการพบกันในระดับสูง แต่ซาฟรูลเน้นว่า การเดินทางครั้งนี้ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคี พร้อมระบุว่า “การเจรจาเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา” โดยวัตถุประสงค์หลักของการเยือนครั้งนี้คือการชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของมาเลเซียในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะระหว่างเอเชียกับสหรัฐฯ
ที่ผ่านมา มาเลเซียยืนยันว่าจะไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ต่อสหรัฐฯ แม้ต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 24% ภายใต้แผน "ภาษีตอบโต้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย" ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแม้จะถูกระงับชั่วคราว 90 วัน แต่ก็สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย
ซาฟรูลเผยว่า รัฐบาลได้เริ่มสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียในวอชิงตันแล้ว พร้อมระบุว่า “เราจำเป็นต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า มาเลเซียมีจุดยืนเป็นกลาง และมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ซึ่งไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ”
เขายังระบุเพิ่มเติมว่าจะใช้โอกาสนี้เป็นเวทีนำเสนอจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษี โดยอ้างอิงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนล่าสุด
หนึ่งในเป้าหมายหลักของการเยือนคือการแก้ไข “ความเข้าใจผิด” ที่สหรัฐฯ มีต่ออาเซียน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าสหรัฐฯ ไว้ในระดับสูง ซึ่งซาฟรูลยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พร้อมกล่าวว่า “เราต้องการให้สหรัฐฯ เข้าใจว่า มาเลเซียและประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ไม่ได้เก็บภาษีสูงอย่างที่ถูกเข้าใจ และเราพร้อมจะทำความเข้าใจใหม่ร่วมกัน”
ด้าน รัฐบาล ‘เกาหลีใต้’ จะเริ่มต้นการเจรจาการค้ารอบแรกกับสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีนี้เช่นเดียวกัน โดยมีประเด็นหลักคือความร่วมมือในภาคต่อเรือ พลังงาน และอาจรวมถึงการแบ่งภาระด้านกลาโหม ท่ามกลางความพยายามของเกาหลีใต้ในการลดภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ กำหนดใช้ตามแนวทาง "ภาษีตอบโต้"
คณะผู้แทนเกาหลีใต้ในการเจรจาครั้งนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก 8 กระทรวงหลัก ได้แก่ การคลัง การค้า การต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คมนาคม สิ่งแวดล้อม เกษตร และสาธารณสุข เพื่อรองรับการหารือในประเด็นอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers)
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในพันธมิตรเอเชียรายแรกที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์เปิดโต๊ะเจรจา ภายหลังเพิ่งหารือกับญี่ปุ่น ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 24% เช่นเดียวกัน
การประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นเวลา 8.00 น. เวลาสหรัฐฯ ควบคู่กับการประชุม IMF และธนาคารโลก โดยจัดขึ้นตามคำร้องขอของสหรัฐฯ หลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และรักษาการประธานาธิบดีฮัน ดักซู เมื่อวันที่ 8 เมษายน
ทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยในประเด็นการต่อเรือ การซื้อพลังงาน โครงการก๊าซธรรมชาติจากรัฐอะแลสกา และภาระค่าใช้จ่ายทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้
รัฐบาลโซลวางอุตสาหกรรมต่อเรือเป็น "ไพ่สำคัญ" โดยเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตเรืออันดับสองของโลก และประธานาธิบดีทรัมป์เองก็เคยเรียกร้องความร่วมมือในภาคนี้
ส่วนโครงการก๊าซธรรมชาติในอะแลสกา รัฐบาลโซลยังระมัดระวัง โดยระบุว่าอาจพิจารณาเข้าร่วมหากเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจเจรจา และต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ภาคยานยนต์ของเกาหลีใต้เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด โดยการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 49% ของการส่งออกยานยนต์ทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไปแล้ว 25% ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องออกมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับบริษัทรถยนต์รายใหญ่ เช่น ฮุนไดและเกีย
การเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เกาหลีใต้เผชิญวิกฤตการเมืองรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยอดีตประธานาธิบดียุน ซอกยอล เพิ่งถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งฉุกเฉินในวันที่ 3 มิถุนายน
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่า ความคืบหน้าที่แท้จริงของการเจรจาจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถให้คำมั่นผูกพันในประเด็นสำคัญ เช่น พลังงานและความมั่นคงได้