Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เลือกตั้งสิงคโปร์ ชี้ชะตา 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะนำชัยไหมเมื่อไร้ตระกูลลี
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เลือกตั้งสิงคโปร์ ชี้ชะตา 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะนำชัยไหมเมื่อไร้ตระกูลลี

24 เม.ย. 68
17:34 น.
แชร์

เลือกตั้งเดือด ผู้สมัครตบเท้าหาเสียง

หลังประธานาธิบดีทาร์แมน ชานมูการัตนัม ประกาศยุบสภาในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา สิงคโปร์ก็ได้เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 3 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ล่าสุด การหาเสียงสุดเข้มข้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อแต่ละพรรคการเมืองได้เสนอชื่อผู้สมัครอย่างเป็นทางการ และกำหนดว่าดาวเด่นคนไหนจะลงชิงชัยในเขตไหนบ้าง ทั้งนี้ ผู้สมัครทั้งหมด 206  คนจะแข่งขันเพื่อชิงที่ 92 ที่นั่งจาก 97 ที่นั่ง ใน 32 เขตเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ครั้งนี้ มีเหตุผลที่ทำให้มีการแข่งขันเพียง 92 จาก 97 ที่นั่งในรัฐสภา โดยอีก 5 ที่นั่งนั้นเป็นผลมาจาก "walkover" ซึ่งเกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งกลุ่ม (GRC) ที่มีชื่อว่า Marine Parade-Braddell Heights GRC ทีมจากพรรคกิจประชาชน (PAP) ได้รับเลือกตั้ง ครอง 5 ที่นั่งนี้โดยไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากเป็นเพราะพรรคแรงงาน (WP) ปรับกลยุทธ์ของพรรคในการมุ่งเน้นทรัพยากรที่มีจำกัดไปยังเขตเลือกตั้งอื่น ๆ ที่พวกเขามีโอกาสชนะ และเป็นผลดีกับพรรคมากกว่า

การเลือกตั้งในปีนี้ เรียกว่ามีความดุเดือดเป็นพิเศษ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง จะทำหน้าที่นำทัพพรรคกิจประชาชนหรือ PAP ลงเลือกตั้งเป็นปีแรก หลังรับไม้ต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตลอด 20 ปี และพรรค PAP ชนะเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลสิงคโปร์มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศโดยลี กวนยู บิดาของลี เซียนลุง ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นจุดวัดใจว่าเขาจะรักษาอำนาจของพรรคที่ถูกส่งต่อมาหลายสิบปีนี้ได้หรือไม่

พรรค PAP ทำเซอร์ไพร์ส ปรับผู้สมัครลงเขตสำคัญ

รองนายกรัฐมนตรี กัน คิมยองได้สร้างความประหลาดใจด้วยการนำทีม PAP ลงแข่งขันในเขตเลือกตั้งกลุ่มปังโกล ซึ่งจะมีผู้มีสิทธิลงคะแนน 123,557 คน เป็นเขตเลือกตั้งตัวแทนกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นการปรากฏตัวในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนการหาเสียงจะเริ่มต้นขึ้น ด้านนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง อธิบายว่าเป็นการหาผู้อาวุโสใกล้เคียงกับรัฐมนตรีอาวุโส เตียว ชี เฮียน ที่ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตปาซีร์ริส-ชางงี 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีอาวุโส เตียว ชี เฮียน และรองนายกรัฐมนตรี เฮง ซวี เกียต เป็นหนึ่งในนักการเมือง PAP 20 คนที่ประกาศถอนตัวจากการเมือง ซึ่งรวมถึงการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งใน GE2025 นี้ด้วย การถอนตัวของนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานเหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการเมืองสิงคโปร์ และผู้นำพรรค PAP พยายามแก้เกมด้วยการหาตัวแทนที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับอำนาจเก่ามากพอ ซึ่งยังรวมถึงจานิล พุธูเชียรี, ซัน ซั่วหลิง และ เหยว หวัน หลิง 

ขณะที่ผู้ชิงอย่างพรรค WP กลับโต้ด้วยการส่งผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งหมดในเขตเดียวกัน ได้แก่ อเล็กซ์ ดัง, ฮาปรีต สิงห์, แจ็กสัน อู่ และสิติ อาเลียทั้งนี้ พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ส่งผู้สมัคร 26 คนลงแข่งขันใน 8 เขตเลือกตั้ง และมีนายปรีตัม สิงห์ เป็นหัวหน้าพรรค

หัวเลี้ยวหัวต่อของสิงคโปร์

หากย้อนดูไทม์ไลน์การเมืองสิงคโปร์ จะเห็นว่าการถ่ายโอนอำนาจนายกรัฐมนตรีแต่ละคนถูกกำหนดไว้แล้ว และมีเพียงพรรค PAP พรรคเดียวเท่านั้นที่ครองเก้าอี้ข้างมากในสิงคโปร์มาตลอด

  • ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew):

ดำรงตำแหน่ง: 5 มิถุนายน ปี 1959 ถึง 28 พฤศจิกายน ปี 1990 

  • โก๊ะ จ๊กตง (Goh Chok Tong):

ดำรงตำแหน่ง: 28 พฤศจิกายน ปี 1990 ถึง 12 สิงหาคม ปี 2004

  • ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong):

ดำรงตำแหน่ง: 12 สิงหาคม ปี 2004 ถึง 15 พฤษภาคม ปี 2024

  • ลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong):

ดำรงตำแหน่ง: 15 พฤษภาคม 2024 -ปัจจุบัน

จะเห็นว่าลอว์เรนซ์ หว่องเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำประเทศได้เพียงขวบปี แต่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างสร้างความประทับใจให้กับชาวสิงคโปร์ เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้เป็นที่น่าพอใจ ในช่วงปีที่ผ่านมา และย้อนไปก่อนหน้านั้น เขาเป็นผู้นำร่วมในคณะทำงานเฉพาะกิจด้านโควิด-19 ของสิงคโปร์ และพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปได้เป็นอย่างดี จึงถูกมองว่ามีความสามารถและน่าเชื่อถือ

ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำที่เข้าถึงได้และเข้าใจความกังวลของประชาชน คนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์มีความคาดหวังในตัวเขาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในด้านนโยบายเเละการบริหารประเทศ คนรุ่นใหม่มองว่าเขามีความสามารถในการเข้าใจเเละเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าผู้นำรุ่นก่อน

แม้ว่าพรรค PAP มีแนวโน้มสูงที่จะชนะเสียงข้างมากในระบบประชาธิปไตยที่บริหารจัดการอย่างเข้มงวด แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองสิงคโปร์ เพราะนับว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไร้ชื่อของตระกูลลี และทำมาตรฐานเอาไว้ได้สูงเสมอในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 พรรค PAP ได้รับคะแนนเสียง 61.24 เปอร์เซ็นต์และได้ที่นั่งในรัฐสภา 83 จาก 93 ที่นั่ง ขณะที่อีก 10 ที่นั่งที่เหลือตกเป็นของพรรคแรงงาน WP อย่างไรก็ตาม คะแนนสนับสนุนของพรรค PAP ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์จากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 จึงเป็นโจทย์ให้กับผู้นำใหม่ของสิงคโปร์ ว่าจะสามารถรักษาระดับเสียงของผู้สนับสนุนเอาไว้ได้หรือไม่


แชร์
เลือกตั้งสิงคโปร์ ชี้ชะตา 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะนำชัยไหมเมื่อไร้ตระกูลลี