Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สหรัฐฯ ฟันภาษีโซลาร์เซลล์ไทยสูงสุด 972% ฉุดส่งออกเหลือใกล้ 0% ในปี 69
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

สหรัฐฯ ฟันภาษีโซลาร์เซลล์ไทยสูงสุด 972% ฉุดส่งออกเหลือใกล้ 0% ในปี 69

28 เม.ย. 68
16:01 น.
แชร์

SCB EIC ประเมินว่าการที่สหรัฐฯ ตั้งภาษีโซลาร์เซลล์ไทยสูงสุดถึง 972% จะกดดันให้การส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยหดตัวลงเกือบเป็นศูนย์ภายในปี 2026 เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2025 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) ขั้นสุดท้ายต่อแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทย เป็นอัตราสูงสุดถึง 972.23% หลังจากพบว่าการส่งออกจากไทยในช่วงปี 2015-2023 เพิ่มขึ้นกว่า 47 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี

การส่งออกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในจีนมายังไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่าไทยอาจเป็น “ช่องทางหลบเลี่ยงภาษี” ของจีน และส่งผลให้ไทยถูกร้องเรียนว่ามีการทุ่มตลาดสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้เริ่มไต่สวนการทุ่มตลาดของไทยควบคู่ไปกับการไต่สวนมาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2024

การไต่สวนข้อกล่าวหาดังกล่าวนำไปสู่การประกาศภาษี AD/CVD ขั้นต้นในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2024 และตามมาด้วยการประกาศภาษีขั้นสุดท้ายในเดือนเมษายน 2025 โดยมีอัตราภาษีสูงถึง 375.19%-972.23% สูงกว่าขั้นต้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น บริษัทซันไชน์ อิเลคทริคอล และไท่ฮั้ว นิว เอ็นเนอร์ยี ถูกเก็บภาษีสูงถึง 972.23% เทียบกับขั้นต้นที่ 189.20% ส่วนบริษัทอื่น ๆ ถูกเก็บที่ 375.19% จากขั้นต้น 80.72%

สหรัฐฯ เคาะภาษี AD/CVD ขั้นสุดท้าย โซลาร์เซลล์ไทย พุ่งสูงถึง 972%

ในวันที่ 21 เมษายน 2025 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศอัตราภาษี AD ขั้นสุดท้ายสำหรับบริษัทผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ในไทยที่ 111.45% - 172.68% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราเรียกเก็บขั้นต้นที่ 57.66% - 154.68% ในเดือนพฤศจิกายน 2024 และอัตราภาษี CVD ขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 263.74% - 799.55% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราเรียกเก็บขั้นต้นที่ประกาศไว้เพียง 0.14% - 34.52% เมื่อเดือนตุลาคม 2024

การประกาศมาตรการภาษีดังกล่าว ส่งผลให้การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทยไปสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับกำแพงภาษีรวมที่สูงระหว่าง 375.19% - 972.23%

โดยบริษัททรินา โซลาร์ จะถูกเรียกเก็บภาษี AD และ CVD ที่อัตรา 375.19% จากที่เคยถูกเรียกเก็บเพียง 77.99% ในขณะที่บริษัทซันไชน์ อิเลคทริคอล และไท่ฮั้ว นิว เอ็นเนอร์ยี จะถูกเรียกเก็บภาษี AD และ CVD ที่อัตรา 972.23% จากที่เคยถูกเรียกเก็บเพียง 189.20% ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุชื่อจะถูกเรียกเก็บภาษี AD และ CVD ที่อัตรา 375.19% จากที่เคยถูกเรียกเก็บเพียง 80.72%

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทยและแนวโน้มการหดตัวของการส่งออก

การเรียกเก็บภาษี AD/CVD จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงดังกล่าวจะกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนที่สำคัญของไทย

ในปี 2024 ไทยมีมูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนไปยังสหรัฐฯ 85,020 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.6% ของมูลค่าการส่งออกในหมวดนี้ทั้งหมด ซึ่งในปี 2024 ไทยมีผู้ส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไปสหรัฐฯ ทั้งหมด 16 ราย และผู้ส่งออกชิ้นส่วนแผงโซลาร์เซลล์ไปสหรัฐฯ ในปี 2024 มีอยู่ทั้งหมด 9 ราย โดยบริษัทซันไชน์ อิเลคทริคอล มีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของไทย

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนของไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะหดตัวใกล้ศูนย์ในช่วงปี 2026 จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ โดยหากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันอัตราเรียกเก็บ AD และ CVD ขั้นสุดท้ายตามที่ประกาศในวันที่ 6 มิถุนายน 2025 การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนของไทยไปสหรัฐฯ จะหดตัวลงรุนแรงต่อเนื่องจนใกล้เป็นศูนย์ภายในปี 2026 จาก 2 เหตุผลสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนอื่น ๆ ในเอเชีย ได้แก่ ลาว, อินโดนีเซีย, อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่ล้วนเป็นคู่แข่งกับไทยและไม่โดนเรียกเก็บภาษี AD/CVD เนื่องจากไม่โดนข้อกล่าวหาว่ามีการอุดหนุนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนจากจีนเพื่อส่งออก

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาอัตราภาษีต่ำสุดจากมาตรการ AD และ CVD จะพบว่า ไทยจะเสียเปรียบมาเลเซียและเวียดนามค่อนข้างมาก โดยมาเลเซียและเวียดนามถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่ำสุดที่ 14.64% และ 120.69% ต่างจากไทยที่อัตราภาษีต่ำสุดจะอยู่ที่ 375.19%

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาอัตราภาษีขั้นปลายสำหรับบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการระบุชื่อแบบเจาะจง พบว่าประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่า มาเลเซียค่อนข้างมาก โดยมาเลเซียถูกเรียกเก็บที่ 34.41% ในขณะที่ไทยถูกเรียกเก็บที่ 375.19%

2.มีหลักฐานชัดเจนว่าอัตราภาษีขั้นต้นจากมาตรการ AD และ CVD ที่ไทยถูกเรียกเก็บมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยสูญเสียตลาดแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนในสหรัฐฯ อย่างรุนแรง

ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ใน SEA ถูกเรียกเก็บภาษี CVD มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 และภาษี AD มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2024 ซึ่งเมื่อดูผลที่เกิดขึ้นจากการเก็บภาษี AD และ CVD ขั้นต้น จะพบว่า ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สะท้อนได้จากส่วนแบ่งตลาดแผงโซลาร์เซลล์ของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2025 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 6% จาก 28% ในช่วงเดียวกันของปี 2024

แนวโน้มที่ลดลงนี้ต่างจากประเทศคู่แข่งชั้นอย่างลาว อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่ส่วนแบ่งตลาดเติบโตอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งตลาดของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 2% ในช่วงเดือนแรกของปี 2024 มาอยู่ที่ 16% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2025 จากการได้รับอานิสงส์เชิงบวกของการเป็นประเทศที่มีต้นทุนการนำเข้าสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงดังกล่าว ยังส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2025 มูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทยไปสหรัฐฯ หดตัวสูงถึง 52% YOY จาก 26,369 ล้านบาท มาอยู่ที่ 12,623 ล้านบาท

ดังนั้น อัตราภาษี AD และ CVD ของไทยขั้นสุดท้ายที่อยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราขั้นต้นอย่างมหาศาลจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนของไทยไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวเข้าใกล้ศูนย์ภายในปี 2026

ทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ไทย

SCB EIC มองว่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนของไทยมีทางเลือกเชิงกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่

  1. การเข้าไปเป็น Supplier สินค้าขั้นกลางให้กับโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ ในระดับต่ำ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่เดิมส่งแผงโซลาร์เซลล์ไปสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบจากจีน อาจปรับเป็นการส่งออกชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากวัสดุในไทยหรือเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ไม่มีปัญหาด้านการค้ากับสหรัฐฯ ไปยังประเทศอินเดียซึ่งยังขาดชิ้นส่วนประกอบกลางนั้นเพื่อประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
  2. การเร่งขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โดดเด่น อาทิ อินเดีย ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มทวีปยุโรปและออสเตรเลียที่ภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการด้านพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ
  3. การขยายรายได้ไปในธุรกิจผลิตพลังงานสะอาดทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบเชิงต้นทุนและประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อขยายรายได้จากการผลิตไฟฟ้าสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนพื้นดินและแบบรูฟท็อป (Solar rooftop)
แชร์
สหรัฐฯ ฟันภาษีโซลาร์เซลล์ไทยสูงสุด 972% ฉุดส่งออกเหลือใกล้ 0% ในปี 69