SMEs ไทยเผชิญแรงกดดันรอบด้าน จากสงครามเศรษฐกิจและการค้า, การปะทะทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI, วิกฤตสิ่งแวดล้อม, ความเสี่ยงด้านสุขภาพ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการภาษีทรัมป์ยังส่งแรงสั่นสะเทือนโดยตรงต่อ SMEs ไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เสี่ยงฉุด GDP สูญเสียมูลค่ากว่า 38,000 ล้านบาท
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์ SME ไทย กล่าวในหัวข้อ “ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กับความท้าทายที่ SME ต้องเผชิญ” ในงาน SPOTLIGHT FORUM: SME Navigator 2025 ชี้ทางรอด นำทางรุ่งธุรกิจไทยว่า ปัจจุบัน ภาคผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กำลังเผชิญแรงกดดันจากรอบทิศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้น หรือปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
นายแสงชัยอ้างอิงถึงรายงานล่าสุดจาก World Economic Forum ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกกำลังเผชิญกับ 5 ความเสี่ยงใหญ่ ได้แก่ สงครามเศรษฐกิจการค้า, สงครามเทคโนโลยี AI, วิกฤตสิ่งแวดล้อม, ความเสี่ยงด้านสุขภาพ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อภาค SMEs ของไทย
ในหมู่ปัจจัยเหล่านี้ นายแสงชัยกล่าวว่า หนึ่งในแรงกดดันที่สำคัญที่สุดคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ได้ส่งผลกระทบลึกซึ้งต่อโครงสร้างการค้าโลก ดังนั้น SMEs ไทยในฐานะผู้ส่งออก จึงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า SMEs ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนถึง 20% หรือ 1 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกของ SME ทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้หากการเพิ่มกำแพงภาษีมีผลจริง อาจส่งผลให้ GDP ของภาค SMEs หดตัวลงราว 38,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของ GDP ของ SMEs
จากสถิติ สินค้าหลักของกลุ่ม SMEs ที่จะถูกกระทบมากที่สุด ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อาหารแปรรูป เครื่องประดับ เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม เพราะส่งออกไปสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง โดยคาดว่าจะมี SMEs กว่า 3,700 ราย ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากมาตรการภาษีนี้ รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ แม้ว่าสัดส่วนการค้าของ SMEs ไทยกับสหรัฐฯ จะอยู่ที่เพียง 14% ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ แต่ SMEs จำนวนมากมีสถานะเป็นซัพพลายเชนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ทำให้หากบริษัทใหญ่ได้รับผลกระทบ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็ย่อมไดรับผลกระทบเช่นกัน กล่าวได้ว่า SMEs ไทยกำลังเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ปัจจัยภายนอกที่กดดัน SMEs ไทยเท่านั้น นายแสงชัยมองว่าปัญหาภายในประเทศเองก็รุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงแตะระดับเกือบ 90% ของ GDP ขณะที่ GDP ไทยในปีล่าสุดมีมูลค่ารวม 18.5 ล้านล้านบาท แต่ขยายตัวได้เพียง 2.5% เท่านั้น สะท้อนถึงกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซาและภาวะเศรษฐกิจฐานรากที่อ่อนแรงลงอย่างน่ากังวล
นอกจากนี้ เศรษฐกิจนอกระบบของไทยยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว มีขนาดคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งประเทศ เป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากเมียนมา และอยู่อันดับ 15 ของโลก เศรษฐกิจนอกระบบที่เฟื่องฟูไม่เพียงแต่สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน แต่ยังลดประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม และทำให้ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องต้องเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นในการรักษาความสามารถทางการตลาด
โดยแม้ SMEs จะครอบคลุมถึง 99.5% ของผู้ประกอบการไทย และมีบทบาทในการจ้างงานถึง 70% ของกำลังแรงงาน แต่กลับสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้เพียง 35% ของ GDP เท่านั้น สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ SMEs ไทยยังติดอยู่กับธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการค้าและบริการถึง 82% ขณะที่ภาคการผลิตมีเพียง 16%
ขณะเดียวกัน จำนวน SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลยังค่อนข้างจำกัด แม้ว่าจะมีอยู่ราว 800,000 ราย แต่ก็ยังมีประเด็นการถือหุ้นผ่านนอมินีต่างชาติแฝงอยู่ การขับเคลื่อนให้บุคคลธรรมดาเข้าสู่ระบบนิติบุคคลอย่างจริงจัง เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจในระบบให้แข็งแรง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งผลักดัน
นอกจากนี้ ขณะที่ SMEs ไทยยังติดอยู่กับปัญหาภายใน นายแสงชัย กล่าวว่า ประเทศคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ก็ได้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยจีนดำเนินนโยบาย "Dual Circulation" เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กับการผลักดันผู้ประกอบการสู่ตลาดโลก พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการ "Little Giant" ที่ตั้งเป้าปั้น SMEs ขนาดกลางกว่า 10,000 ราย ให้กลายเป็นผู้เล่นระดับโลกในซัพพลายเชน
เวียดนามเองเร่งสร้างระบบนิเวศ AI และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยตั้งเป้าฝึกอบรมแรงงานใหม่กว่า 100,000 คนในระยะเวลาอันสั้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจใหม่อย่างเต็มตัว ขณะที่ SMEs ไทยยังคงเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างน่ากังวล
ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจโลก SMEs ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI และระบบอัตโนมัติ การยกระดับทักษะแรงงาน การสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง และการปรับตัวสู่มาตรฐาน ESG ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก กำลังกลายเป็นทางรอดเพียงหนึ่งเดียว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ต้องเร่งสร้างเสถียรภาพทางนโยบาย และเร่งปฏิรูประบบกฎหมายที่เป็นอุปสรรค พร้อมกับออกมาตรการสนับสนุนที่จับต้องได้ เพื่อส่งเสริมให้ SMEs ไทยสามารถฟื้นตัวและแข่งขันได้ในระยะยาว