Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
5 บทเรียน SME จากธุรกิจฝ่าหนี้พันล้าน และสร้างสมดุลชีวิตแบบ SE Life
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

5 บทเรียน SME จากธุรกิจฝ่าหนี้พันล้าน และสร้างสมดุลชีวิตแบบ SE Life

27 เม.ย. 68
08:18 น.
แชร์

“SME ที่มีหนี้ ต้องไม่กู้หนี้ มาจ่ายหนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือกลับมาประเมินธุรกิจ ว่ามันไปต่อได้จริงไหม” คือหนึ่งในบทเรียนที่คุณสมานชัย อธิพันธุ์อำไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอวูด จำกัด (มหาชน) มาแชร์ประสบการณ์ ฟันฝ่าความท้าทายครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤติการณ์การเงิน ปี พ.ศ. 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งทำให้บริษัทค้าวัสดุก่อสร้างแห่งนี้ สามารถแก้หนี้กว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยในเวลานั้นก็มากกว่า 1,000 ล้านบาท ได้สำเร็จ

คุณสมานชัย อธิพันธุ์อำไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอวูด จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งยังปรับกลยุทธ์การขายให้ทันสมัย ขึ้นชื่อว่าเป็น “ร้านวัสดุก่อสร้างบนออนไลน์” ผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 800,000 คน มาพร้อมกับลูกเล่นของการทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง คล้ายกิจการของคนรุ่นใหม่ แต่แท้จริงแล้วค่อย ๆ เติบโตมากว่า 53 ปี วันนี้ คุณสมานชัยขึ้นเวที SPOTLIGHT FORUM “SME Navigator 2025 ชี้ทางรอด นำทางรุ่งธุรกิจไทย” พร้อมบอกเล่าเรื่องราวเส้นทางที่พาธุรกิจไปต่อได้ เตรียม SME ไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเอาชนะความท้าทายใหม่ ๆ

หนี้ 1,000 ล้าน เกิดขึ้นได้อย่างไร

ด้วยธุรกิจนำเข้าต้องอาศัยการกู้เงินเพื่อซื้อสินค้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งช่วงนั้นอัตราอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 25 บาท พอเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ค่าเงินพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงสุดที่อัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 56 บาท นับว่าเกินเท่าตัวจากอัตราเดิม ทำให้บริษัทที่เคยติดหนี้เบ็ดเสร็จอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท พุ่งขึ้นเป็นอีกเท่าตัวกว่า 2,000 ล้านบาท แม้ทางบริษัทจะจ่ายหนี้เดิมไปแล้ว 1,000 ล้านบาท แต่ก็จะยังเหลือหนี้อีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้นมา 

แม้หนี้มหาศาลจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาด แต่คุณสมานชัยก็ยอมรับว่าได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ เป็นวัคซีนโดสแรกที่ทำให้บริษัทมีภูมิคุ้มกัน พร้อมปรับตัวสู้ทุกวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ไม่ว่าจะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซับไพรม์ในปี 2008 และล่าสุด การระบาดของโควิด-19 แต่กว่าจะผ่านพ้นมาได้ก็ใช้เวลาหลายปี ราวกับว่าบทเรียนครั้งนี้ได้มอบปริญญาทางธุรกิจใบใหญ่ Spotlight สรุปบทเรียนที่จะช่วยให้ SME เจ็บตัวน้อยลง ดังนี้

บทเรียนที่ 1: หนี้เพิ่มเพราะใช้เงินผิด

วิกฤตต้มยำกุ้งถือเป็นสภาวะทางการเงินในเอเชียที่บริษัทควบคุมไม่ได้ แต่หากมองย้อนกลับไปก่อนที่จะเหตุการณ์ไม่คาดคิด คุณสมานชัยยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเองที่ทำให้หนี้สินพุ่งสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะตอนนั้นธุรกิจไม่ได้มีปัญหา สามารถหารายได้มาจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด แต่กลับตัดสินใจ “กู้เพิ่ม มาปล่อยกู้ต่อ” ถึงจะต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคารเพิ่มขึ้น แต่ช่วงที่ยังไม่มีวิกฤติทางการเงินก็ถือว่าคุ้มกว่า นอกจากนี้ยังขยายเวลาคืนหนี้ จาก 180 วันเป็น 360 วัน เพื่อจะเอเงินก้อนนั้นมาลงทุนอย่างอื่น ทั้งหาเงินซื้อที่ดินเก็งกำไร ลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากการค้าไม้ พอค่าเงินดอลลาร์ฯ พุ่งสูงขึ้น จึงกลายเป็นหนี้ที่ก้าวกระโดดจนคาดไม่ถึง ดังนั้น บทเรียนแรกที่ซีอีโอ ลีโอวูด ในวัย 20 กลาง ๆ หลังเรียนจบจากเมืองนอกได้เพียงปีเดียวได้รับในขณะนั้น คือ “หนี้เพิ่มได้ หากใช้เงินผิด” 

บทเรียนที่ 2: “ไม่กู้หนี้ มาจ่ายหนี้” ถึงเวลาทบทวนธุรกิจ

คุณสมานชัยกล่าวว่า “SME ที่มีหนี้ ต้องไม่กู้หนี้ มาจ่ายหนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือกลับมาประเมินธุรกิจ ว่ามันไปต่อได้จริงไหม” เพราะปัญหาธุรกิจ SME ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องหนี้ แต่ต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่คือโมเดลธุรกิจที่ไปไม่รอด การกู้หนี้มาจ่ายหนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพราะจะแก้ปัญหาได้แค่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ ฉะนั้นควรกลับมาทบทวนว่าปัญหาธุรกิจของเราจริง ๆ คืออะไร และแก้ปัญหาให้ตรงจุด 

การแก้ปัญหาสำหรับ SME ที่ติดขัด จะต้องสังเกต Cash flow ของธุรกิจให้ดี ถ้ามันติดขัดต่อเนื่อง 3-6 เดือน ก็ต้องหาให้เจอถึงต้นตอ ท้ายที่สุด ถ้าเป็นที่โมเดลธุรกิจที่เราคิดมามันไปต่อไม่ได้ ก็ควรจะหยุดสร้างหนี้เพิ่มเติม และการปิดกิจการอาจทำให้เสียหายน้อยที่สุด แม้ว่าสิ่งที่ยากที่สุดของคนทำกิจการ คือการเลิกทำสิ่งที่เราปั้นมาก็ตาม

บทเรียนที่ 3: รับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ อยู่เป็นเจ้าสุดท้ายของวงการ

“ผมเริ่มทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย เมื่อตอนอายุ 50 ปีแล้วครับ ถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้ เราเรียนรู้ ปรับตัวเอง วิเคราะห์ตัวเองและปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้” คำบอกเล่าเรียบง่ายแต่สร้างแรงบันดาลใจของคุณสมานชัยจะยิ่งทรงพลังมากขึ้น หากได้เห็นคลิปวิดีโอ Reels สนุก ๆ บนช่องทางโซเชียลมีเดียเกือบทุกแพลตฟอร์ม 

บทเรียนนี้คือ SME ต้องปรับตัวรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ด้วยหลักการสั้น ๆ ที่ว่า “อยู่ให้ได้เป็นเจ้าสุดท้ายของวงการ” เช่นเดียวกับ ลีโอวูด ที่เริ่มต้นธุรกิจในรุ่นคุณพ่อคุณแม่จากการเป็นผู้นำเข้าไม้แปรรูป เป็นตัวแทนจำหน่ายที่ไม่ได้หยิบจับสินค้ามาดัดแปลงใด ๆ ให้กลายมาเป็นแบรนด์ที่ขายวัสดุก่อสร้างขึ้นชื่อด้านประตู-หน้าต่างไม้แปรรูป ไม้ปูพื้น และสารพัดก่อสร้างด้วยงานไม้ แถมยังสร้างความสะดวกสบายเอาใจพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ ที่รักความรวดเร็วเป็นพิเศษ เพราะลีโอวูดยังให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งของให้ถึงมือลูกค้าภายในไม่กี่วัน 

หลายคนที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้อาจรู้สึกมีไฟและพร้อมกลับไปทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับธุรกิจของตัวเองกันแล้ว แต่  Spotlight ยังขอชวน SME อ่านต่ออีกสักหน่อย เพราะจะพัฒนาธุรกิจให้ได้ดีในปี 2025 ก็ต้องมองหลายอย่างให้รอบด้าน โดยเฉพาะการหันกลับมาสำรวจสุขภาพกาย-ใจของหัวเรือใหญ่ในธุรกิจ โดยคุณภฤตยา สัจจศิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SE Life ชวนกระตุกความคิดที่ว่า ‘ชีวิตและสุขภาพสำคัญไม่แพ้ธุรกิจ’ พร้อมตอบคำถามว่า ‘SME จะจัดการให้สมดุลได้อย่างไร’ เพื่อเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

คุณภฤตยา สัจจศิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SE Life

บทเรียนที่ 4: Work & Balance สไตล์ SME 

นอกจากบทบาทของกรรมการผู้จัดการอาคเนย์ประกันชีวิตแล้ว คุณภฤตยา สัจจศิลา ยังเคยล้มลุกคลุกคลาน เป็นเจ้าของ SME ที่ล้มเหลวมาก่อน จนสามารถหาสมดุลให้ชีวิตและพาธุรกิจสำเร็จได้ในวันนี้ อีกบทบาทหนึ่งที่เธอภาคภูมิใจกว่าตำแหน่งใด ๆ คือ “บทบาทแม่” ย้อนกลับไปในวันที่เกิดจุดเปลี่ยนในการดูแลกิจการ คือวันที่ถามลูกชายว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรครับ” หนุ่มน้อยตอบว่า “เป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่ต้องเป็นแบบหม่ามี๊ เพราะไม่มีเวลาให้ผมเลย” คำตอบสั้น ๆ แต่บาดลึกลงใจทำให้เธอรู้ว่าได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวน้อยเกินไป และรู้ซึ้งถึงคำว่า “Work & Life Balance” เป็นครั้งแรก

คุณภฤตยาให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า Work & Life Balance ของ SME ไม่ได้หมายความว่า ถ้าจะต้องแบ่งเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ก็ต้องพักผ่อนให้เท่ากับ 8 ชั่วโมงด้วย เพราะเข้าใจดีว่างานที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต้องใช้เวลามากกว่าการพักผ่อน แต่เธอขอให้ช่วงเวลาที่ทำงานนั้น เต็มไปด้วยความสุข มีพลัง มีไฟ มีความสดใส ส่วนเวลาพักผ่อนที่อาจจะน้อยกว่าหลายเท่า ขอให้สร้างเวลาคุณภาพหรือ Quality time ที่ ใช้ไปกับครอบครัวอย่างเต็มที่ ฟังเสียงของคนที่รัก และทำให้สุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นบวก เพราะ“Work & Life Balance ที่ดีของผู้ประกอบการ SME ก็จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจ”

บทเรียนที่ 5: วางแผนธุรกิจ ให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตบ้าง

ในฐานะเจ้าของกิจการ จะต้องสวมหมวกหลายใบที่ทำให้ธุรกิจของเราไปรอด แต่คุณภฤตยาเชื่อว่า SME ที่ดีต้องวางแผนให้เป็น เพื่อที่จะไม่ต้องเหนื่อยกับสิ่งที่ไม่จำเป็น Spotlight สรุปเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกนำมาแชร์บนเวที ลองทำสิ่งเหล่านี้ รับรองว่าชีวิตดีขึ้น

  • สร้างตารางการทำงานให้ตัวเอง: แม้ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการก็ควรจัดเวลาการทำงานให้ตัวเอง สร้างเส้นแบ่งเวลาให้ชัดเจน เพราะนับเป็นวินัยในการทำงานเช่นกัน สำหรับพนักงานประจำอาจมีเวลาเริ่มงานและจบงานตามระเบียบของบริษัท แต่ในฐานะ SME จะต้องสร้างตารางการทำงานที่เหมาะกับตัวเอง โดยการจัดลำดับความสำคัญ จะช่วยสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และหลังจากเวลางานแล้ว ก็ควรแบ่งเวลาพักผ่อนให้เป็นระบบด้วยเช่นกัน เช่น เวลาที่ใช้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เวลาของ Social detox ด้วยการนั่งสมาธิสัก 10-15 นาที หรือเวลาที่ใช้ร่วมกับคนที่รัก เป็นต้น
  • สร้างระบบทำงานแทนด้วยเทคโนโลยี: ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถนำมาใช้ทำงานแทนมนุษย์ เจ้าของกิจการต้องลองหาเครื่องมือทางเทคโนโลยีช่วยทำงาน เช่น การประหยัดเวลาวางแผนงาน-หาข้อมูลด้วย CHAT GPT การสร้างแบบทดลองต่าง ๆ ด้วย AI หรือใครที่ทำร้านค้า เดี๋ยวนี้ก็มีเครื่องมืออย่าง POS เก็บข้อมูลร้านอย่างเป็นระบบ ซึ่งแต่ก่อนเจ้าของร้านอาจจะต้องเข้าร้านไปเช็กมาตรฐานและความเรียบร้อยตลอดเวลา แต่เดี๋ยวนี้มีกล้องวงจรปิด หรือมีระบบทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะตรวจสอบแทนเจ้าของกิจการแล้ว ดังนั้น ธุรกิจจะไปรอดได้หรือไม่ในปี 2025 นั้น การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมอาจเป็นหนึ่งในทางเลือกทางรอดของ SME  นอกจากนี้ การสร้างมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ SOP ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทำจะทำให้ SME แบ่งเวลาได้ดีขึ้น
  • สร้างระบบสนับสนุนด้วยทรัพยากรมนุษย์: “SME ที่ประสบความสำเร็จ ต้องอย่าเดินเพียงลำพัง” ซึ่งไม่ใช่แค่การมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ มีพนักงานที่ฉลาดและขยันในบริษัทเท่านั้น หรือการจ้างฟรีแลนซ์และพาร์ทไทม์เป็นกองทัพทำงานแทน เพื่อให้เจ้าของกิจการโฟกัสกับการบริหาร แต่การหาความรู้หรือมีสัมพันธ์กับหน่วยงานสนับสนุนทางธุรกิจก็สำคัญเช่นกัน คุณภฤตยายกตัวอย่างถึงสมาพันธ์ SME ที่พร้อมผลักดันธุรกิจทั่วประเทศไทย หรือแม้แต่งาน SPOTLIGHT FORUM “SME Navigator 2025 ชี้ทางรอด นำทางรุ่งธุรกิจไทย” ที่จัดขึ้น ก็เป็นเครือข่ายสนับสนุนทางธุรกิจเช่นกัน
แชร์
5 บทเรียน SME จากธุรกิจฝ่าหนี้พันล้าน และสร้างสมดุลชีวิตแบบ SE Life