Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทนไม่ไหวแล้ว! ญี่ปุ่นแห่ใช้  “บริษัทรับจ้างลาออก”
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ทนไม่ไหวแล้ว! ญี่ปุ่นแห่ใช้ “บริษัทรับจ้างลาออก”

25 เม.ย. 68
18:11 น.
แชร์

ทันทีที่ตัดสินใจจะลาออก หลายคนอาจเดินหน้าพูดคุยกับเจ้านาย แจ้งฝ่าย HR ของบริษัท ส่งเอกสาร-ยื่นใบลาออกไปตามขั้นตอน แต่ในญี่ปุ่นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น เพราะที่ญี่ปุ่นมีธุรกิจหนึ่งที่เรียกกันว่า “บริษัทรับจ้างลาออก” เปิดให้บริการและกำลังเติบโตได้ดีในหลายเมืองใหญ่

“โมมูริ” คำในญี่ปุ่นที่แปลว่า “ฉันทนต่อไปไม่ไหวแล้ว” เป็นเสียงร้องเรียนจากลูกค้าที่บริษัทได้ยินบ่อยที่สุด ชิโอริ คาวามาตะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของโมมูริ กล่าวว่า ในปี 2024 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว พวกเขาได้รับการติดต่อใช้บริการจากลูกค้ามากถึง 11,000 รายการ โดยบริษัทของเขาตั้งอยู่ในมินาโตะ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโตเกียว เปิดตัวในปี 2022 ด้วยชื่อที่ต้องการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยในภาษาญี่ปุ่นคำว่า “โมมูริ” นั่นเอง

ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของโมมูริเล่าให้ฟังว่า บริการของบริษัทคือมีหน้าที่ทำให้การลาออกของลูกค้าสำเร็จลุล่วง ลูกค้าบางคนตัดสินใจใช้บริการ หลังจากที่พยายามยื่นจดหมายลาออกให้บริษัทที่ทำงานของพวกเขาถึง 3 ครั้ง แต่กลับถูกละเลยทุกครั้งไป นายจ้างไม่ยอมให้พวกเขาลาออก แม้ว่าพวกเขาจะคุกเข่าลงกับพื้นเพื่อโค้งคำนับก็ตาม  

ลูกค้าเหล่านี้จึงยอมจ่ายเงินเพื่อจ้างคนกลางมาช่วยยื่นใบลาออก เจรจากับบริษัท และให้คำแนะนำด้านกฎหมาย หากเกิดข้อพิพาทใด ๆ ขึ้น ในราคาเริ่มต้นประมาณ 22,000 เยน หรือราว 5,140 บาท สำหรับการลาออกจากงานประจำ และแม้แต่พนักงานพาร์ทไทม์ก็ยังประสบปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งบริษัทจะคิดค่าบริการสำหรับงานพาร์ทไทม์ 12,000 เยน หรือ 2,800 บาท

บริษัทโมมูริยังออกมาเปิดเผยว่า ช่วงหลังปีใหม่ที่มีหยุดยาว และกลับมาเริ่มทำงานกันอีกครั้งในวันที่ 6 มกราคม พนักงานได้รับสายโทรเข้าตั้งแต่เช้าตรู่ และมีจำนวนลูกค้าที่ขอคำปรึกษาสูงเป็นประวัติการณ์ โดยปกติแล้ว บริษัทจะรับสายลูกค้าประมาณ 180 สายต่อวัน แต่ในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ในช่วงใกล้เลิกงานประมาณ 17.00 น. บริษัทได้รับสายลูกค้าสูงถึง 250 สายในวันเดียว ถือเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 40%

ถูกบริษัทคุกคาม โดนติดตามเมื่อจะลาออก

เหตุผลในการลาออกในบรรดาคำร้องที่ได้รับเมื่อวันที่ 6 มกราคม คือพนักงานส่วนใหญ่รู้สึกเหนื่อยหน่าย ทำงานหนักกันจนถึงสิ้นปี และรู้สึกแย่มาก ๆ ที่ต้องกลับมาทำงานต้นปีแล้ว นอกจากนี้ ลูกค้าบางคนที่แจ้งลาออก ต้องเผชิญกับการโดนคุกคามสารพัด บางครั้งลูกค้าจะโทรมาร้องห่มร้องไห้ ขณะขอคำปรึกษาว่าจะลาออกเพราะเหตุผลต่าง ๆ ได้ไหม บริษัทก็จะต้องคอยปลอบใจและแจ้งให้ทราบว่าการลาออกเป็นสิทธิแรงงาน สามารถทำได้ตามกฎหมายของญี่ปุ่น

คนงานบางคนบ่นว่าเจ้านายคอยคุกคาม เมื่อพนักงานแจ้งลาออก อีกทั้งยังแวะไปที่อยู่อาศัยของพวกเขา กดกริ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่บ้านหรือะอพาร์ตเมนต์ พนักงานคนหนึ่งเคยเล่าว่า เมื่อเขาแจ้งจะลาออก กลับถูกเจ้านายลากไปวัดเพื่อแก้คำสาป เจ้านายโวยวายว่าพนักงานถูกผีเข้า จึงไม่ยอมทำงานและอยากจะลาออก ฉะนั้นเมื่อแก้คำสาปแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น ทำงานต่อได้ไม่ต้องลาออก ซึ่งสร้างความอับอายให้แก่พนักงานเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือมักทำงานให้กับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด รองลงมาคือกลุ่มการดูแลสุขภาพและสวัสดิการ

สาเหตุที่เจ้านายหรือเจ้าของกิจการชาวญี่ปุ่นไม่อยากให้ลูกน้องลาออกเป็นเพราะญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก Trading Economics รายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ระบุว่า อัตราส่วนงานว่างต่อผู้สมัครงานของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.24 หมายความว่ามีตำแหน่งงานว่าง 124 ตำแหน่งสำหรับผู้สมัครงาน 100 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์ The Japan Times รายงานว่า บางภาคส่วนมีอัตราตำแหน่งงานว่างสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ภาคการก่อสร้างและภาคการดูแลสุขภาพ 

มีการคาดการณ์ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นจะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต มหาวิทยาลัย Chuo University คาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานเทียบเท่ากับ 3.84 ล้านคน หรือ 17.75 ล้านชั่วโมงทำงานต่อวันภายในปี 2035 ซึ่งจะรุนแรงกว่าปี 2023 ถึง 1.85 เท่า

ญี่ปุ่นเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ภักดีกับบริษัทอีกต่อไป

นอกจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำให้บริษัทรับจ้างลาออกเติบโตขึ้นแล้ว พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของแรงงานญี่ปุ่น เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมแห่งการทำงานหนัก คนส่วนใหญ่ทำงานถวายชีวิตให้กับบริษัทแห่งเดียวตั้งแต่วัยหนุ่มสาวยันเกษียณอายุ เรียกว่ามีความภักดีต่อบริษัทเป็นที่หนึ่ง แต่ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น ด้วยแนวคิด Work-Life Balance รวมถึงการมองหาความก้าวหน้า อยากเติบโตในอาชีพการงาน ซึ่งคนญี่ปุ่นพร้อมจะไป หากองค์กรไม่ตอบโจทย์เป้าหมายของพวกเขา

ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองและหัวใจอันเนื่องมาจากการทำงาน 54 ราย และได้รับเงินชดเชยในปี 2022 นักข่าวการเมืองวัย 31 ปีจากสถานีวิทยุแห่งชาติ NHK เสียชีวิตในปี 2017 หลังจากมีอาการหัวใจล้มเหลวซึ่งเกิดจากการใช้เวลาทำงานนานหลายชั่วโมง โดยเธอทำงานล่วงเวลา 159 ชั่วโมงในเดือนก่อนเสียชีวิต และ 5 ปีต่อมา แพทย์ วัย 26 ปีจากโรงพยาบาลในโกเบเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายหลังจากทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 200 ชั่วโมงภายในเดือนเดียว

ปัญหาการทำงานหนักเกินไปของคนญี่ปุ่น ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ข้อคิดและบทเรียนเช่นกัน เพราะการทำงานหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตในญี่ปุ่น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย วัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาหามรุ่งหามค่ำ แรงกดดันจากเจ้านาย เกิดขึ้นแทบทุกที่ แต่มีการลากไส้แฉกันออกมามากขึ้น จนเกิดเป็นการขึ้นแบล็คลิสต์บริษัทที่เอาเปรียบลูกน้องจนเหมือนใช้แรงงานทาส ซึ่งเรียกกันในชื่อ “บริษัทดำ”

ฮิโรชิ โอโนะ ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรบุคคลจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า สถานการณ์ที่บริษัทเอาเปรียบลูกจ้างจนเป็นการละเมิดกฎหมายมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเพิ่มรายชื่อบริษัทดำ พร้อมเผยแพร่รายชื่อนายจ้างที่ไร้จริยธรรม เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวญี่ปุ่นหลงไปทำงานกับบริษัทเหล่านี้ ทั้งนี้ บริษัทมากกว่า 370 แห่งถูกขึ้นบัญชีดำโดยสำนักงานแรงงานทั่วประเทศนับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายชื่อดังกล่าวในปี 2017

ธุรกิจรับจ้างลาออกเติบโตในญี่ปุ่น

ธุรกิจรับจ้างลาออกในญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ The Guardian รายงานว่า บริษัทรับจ้างลาออกผุดขึ้นในญี่ปุ่นประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศขณะนี้ได้รับการให้คำปรึกษาออนไลน์แล้ว 350,000 รายการและยื่นใบลาออกแล้ว 20,000 รายการ ความเติบโตเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 คลี่คลายลง ที่ผู้คนมองรูปแบบการทำงานและความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลายคนต้องพิจารณาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตใหม่

ทั้งนี้ กว่า 60% ของลูกค้าที่ใช้บริการรับจ้างลาออกของบริษัทโมมูริมีอายุระหว่าง 20-30 ปี สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นที่เปิดเผยว่า บัณฑิตจบใหม่กว่า 30% ลาออกจากงานภายใน 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าฐานลูกค้าของโมมูริส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาว แต่บริษัทก็ยังได้รับคำขอให้ช่วยเหลือจากคนงานที่มีอายุมากกว่าด้วย “เราติดต่อกับบริษัทต่างๆ มากมาย ตั้งแต่บริษัทชื่อดังไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก”

ผลสำรวจของ Mynavi Corp. ในปี 2024 พบว่า เกือบ 1 ใน 5 (18.6%) ของผู้ที่ลาออกจากงานในช่วงอายุ 20 ปี ใช้บริการรับจ้างลาออก นอกจากนี้ สัดส่วนผู้ใช้บริการในกลุ่มอายุ 30 และ 40 ปี ก็สูงถึง 17.6% และ 17.3% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่หันมาใช้บริการเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนี้ ผลสำรวจในปี 2024 พบว่า มากกว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้จัก บริษัทที่ให้บริการรับจ้างลาออก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริการเหล่านี้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคมมากขึ้น

ปฏิกิริยาของนายจ้างแตกต่างกันไป นายจ้างจำนวนหนึ่งแสดงความเสียใจและขอโทษลูกจ้างทางอ้อม และส่วนใหญ่ก็ยอมรับการตัดสินใจและกรอกเอกสารที่จำเป็น แต่นายจ้างจำนวนไม่น้อยก็คลุ้มคลั่งและขู่ว่าจะมาที่สำนักงานของบริษัทรับจ้างลาออก


แชร์
ทนไม่ไหวแล้ว! ญี่ปุ่นแห่ใช้  “บริษัทรับจ้างลาออก”