SPOTLIGH ร่วมกับสมาพันธ์ SME ไทย จัดงาน ‘SPOTLIGHT FORUM - SME Navigator ชี้ทางรอด นำทางรุ่งธุรกิจไทย’ งานเสวนาเพื่อร่วมหาคำตอบและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้รอดในยุคสงครามการค้าโลก
นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่ SPOTLIGHT สื่อออนไลน์ด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ ภายใต้บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้ต่อยอดเนื้อหาด้านธุรกิจเศรษฐกิจมาสู่เวทีเสวนา SPOTLIGHT FORUM โดยงานแรกของปี 2568 เริ่มต้นด้วย “SME Navigator ชี้ทางรอด นำทางรุ่งธุรกิจไทย” ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกับสมาพันธ์ SME ไทย ในการเชิญชวนวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจของไทย มาร่วมให้ความรู้และฉายภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์สงครามการค้าโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ไทยได้เห็นแนวทางในการปรับตัวและนำพาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้
ภายในงานเสวนาได้รับเกียรติจาก ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานเสวนา และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “SME ไทยฝ่าวิกฤต สู่อนาคตที่มั่นคง” ซึ่งกล่าวถึงผู้ประกอบการไทยที่กำลังเผชิญแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการค้าและมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ไม่เพียงกระทบภาคการส่งออกเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ SME ไทยโดยตรง ทั้งในแง่ความเปราะบางของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดย่อมกระทบต่อผลประกอบการของผู้ประกอบการไทยเอง
ดร. เผ่าภูมิ กล่าวว่ารัฐบาลมี ‘กระสุนการคลังและการเงิน’ เพียงพอในการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว โดยในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเดินหน้านำงบประมาณมาเร่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศ พร้อมส่งเสริมให้ SME เข้าถึงแหล่งลงทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงเงินสนับสนุนในการขยายตลาดและโชว์ศักยภาพสินค้าใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงไม่กี่แห่ง
ในช่วงท้าย ดร. เผ่าภูมิ เน้นย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ภาคเอกชนไทยเผชิญความเสี่ยงตามลำพัง พร้อมยืนยันว่า แม้จะหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกไม่ได้ แต่ประเทศไทยยังมีช่องว่างการคลังและเครื่องมือทางการเงินที่เพียงพอในการบริหารจัดการความเสี่ยง และรัฐบาลจะใช้ศักยภาพเหล่านี้อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญนี้
คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์ SME ไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กับความท้าทายที่ SME ต้องเผชิญ” ว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการกำลังเผชิญแรงกดดันจากรอบทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้น หรือปัญหาเชิงโครงสร้างภายใน
ประเทศที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในแรงกดดันที่สำคัญที่สุด คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ได้ส่งผลกระทบลึกซึ้งต่อโครงสร้างการค้าโลก ดังนั้น SME ไทยในฐานะผู้ส่งออกจึงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจนอกระบบของไทยยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และลดประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องต้องเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นในการรักษาความสามารถทางการตลาด คุณแสงชัยแนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง นำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ AI และระบบอัตโนมัติมาใช้งาน เพื่อยกระดับทักษะแรงงาน รวมถึงปรับตัวสู่มาตรฐาน ESG ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ภายในงานเสวนา คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ Group Chief, Brand Innovation & Marketing บริษัท เดนท์สุ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “กลยุทธ์เอาตัวรอดและสร้างการเติบโต ปี 68” พร้อมคำกล่าวแรก “ผมไม่เชื่อว่ามีปีไหนที่ SME ทำงานได้ง่ายขึ้น” ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าโลกธุรกิจนั้นไม่เคยปรานีผู้ประกอบการ ขณะที่ความท้าทายใหม่ ๆ ยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ในโลกที่บริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความเชื่อมโยงไร้พรมแดนที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบสินค้าและบริการจากทั่วโลกได้ทันที ความสำเร็จในอดีตจึงไม่อาจการันตีความอยู่รอดในอนาคตได้ ดังนั้นการทำการตลาดให้ตรงความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน จึงควรเชื่อมโยงกับลูกค้าได้ในระดับอารมณ์ มากกว่าความสัมพันธ์เพียงในระดับการซื้อขาย ซึ่งจะมีโอกาสสร้างฐานลูกค้าซ้ำ (Repeat Customers) และลูกค้าภักดี (Loyal Customers) ซึ่งเป็นหัวใจของการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในปัจจุบัน
คุณภฤตยา สัจจศิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SE Life ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “สร้างสมดุลชีวิตและสุขภาพสำหรับเจ้าของธุรกิจ SME” ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้การเติบโตของธุรกิจอาจสะดุดลงได้ หากถูกละเลย ทั้งนี้ คุณภฤตยาให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า Work & Life Balance ของผู้ประกอบการไม่ได้หมายความว่าต้องแบ่งเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ก็ต้องพักผ่อนให้เท่ากับ 8 ชั่วโมง แต่เป็นการสร้างสมดุลในช่วงเวลาที่ทำงานนั้นเต็มไปด้วยความสุข มีพลัง มีไฟ และมีความสดใส ส่วนเวลาพักผ่อนที่อาจจะน้อยกว่าหลายเท่า ขอให้สร้างเวลาคุณภาพ (Quality Time) ที่ ใช้ไปกับครอบครัวอย่างเต็มที่ ฟังเสียงของคนที่รัก ซึ่งจะทำให้สุขภาพกายใจของตัวเองเป็นบวก ท้ายที่สุดก็จะเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจ
สำหรับกรณีศึกษาของธุรกิจที่น่าสนใจ ภายในงานเสวนาได้มีการเปิดเผยเรื่องราวและบทเรียนธุรกิจของ ‘ลีโอวูด’ ที่ประสบกับวิกฤติการณ์การเงินในปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้บริษัทค้าวัสดุก่อสร้างแห่งนี้เกิดหนี้สินมากกว่า 1,000 ล้านบาทจากอัตราแลกเปลี่ยน โดย คุณสมานชัย อธิพันธุ์อำไพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอวูด จำกัด (มหาชน) เล่าว่าด้วยธุรกิจนำเข้าต้องอาศัยการกู้เงินเพื่อซื้อสินค้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ค่าเงินพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แม้บริษัทจะจ่ายหนี้เดิมไปแล้ว 1,000 ล้านบาท แต่ก็จะยังเหลือหนี้อีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งหนี้มหาศาลก้อนนี้ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาด แต่ก็ได้มอบบทเรียนธุรกิจที่สำคัญเอาไว้ และกลายเป็นวัคซีนเข็มแรกที่ทำให้บริษัทมีภูมิคุ้มกัน พร้อมปรับตัวสู้ทุกวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ไม่ว่าจะวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ปี 2008 (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ภายในงานเสวนายังมีตัวแทนของผู้บริหารยุคใหม่ร่วมแบ่งปันแนวทางสร้างการเติบโตจาก SME สู่ธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท คุณอังคนางค์ ใหม่มงคล บรรณาธิการบริหารของ SPOTLIGHT เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในหัวข้อ “สร้างความสำเร็จธุรกิจในแบบผู้ประกอบการยุคใหม่” โดยมี คุณจักรกฤติ สายสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO Group เครือร้านอาหารมหาชนที่ใช้เวลาสร้างแบรนด์มามากกว่า 10 ปี รวมถึงการเป็นเจ้าของไวรัลสนั่นโซเชียลมีเดียอย่าง “ซูชิคำโต” โดยคุณจักรกฤติกล่าวว่า MAGURO เริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อน 4 คน ที่ได้มีการลองผิดลองถูกมาสักระยะ แล้วอยากทำธุรกิจร่วมกันเป็นของตนเองที่ต้องเติบโตในระยะยาว โดยเลือกจับช่องว่างการตลาดที่ยังมีพื้นที่เหลืออยู่และมีคู่แข่งน้อย นั่นก็คือการเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นแบบ Premium Mass ซึ่งเป็นอาหารคุณภาพสูง แต่ราคากลาง ๆ จนทำให้เกิด MAGURO สาขาแรกขึ้นมา ชิค รีพับบลิค บางนา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากเต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร ลูกค้ากำลังซื้อสูง และลดการแข่งขันกับร้านอาหารญี่ปุ่นในตัวเมือง ซึ่งมีจุดอ่อนคือการจราจรที่ติดขัด นอกเหนือจากการค้นหาช่องว่างการตลาดแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันสูงของธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบการยังควรเป็นผู้ฟังที่ดี ทั้งเสียงของผู้บริโภค ตลาด และเทรนด์ คอยสังเกตและติดตามความรู้สึกของผู้บริโภค รวมถึงการจับจังหวะในการดำเนินธุรกิจว่าจุดไหนควรเดินหน้า ถอยหลัง หรือหยุดรอโอกาสเพื่อไปต่อ
ทางด้าน คุณพีรดนย์ เหมยากร ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง iHAVECPU ตัวแทนจากธุรกิจร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กล่าวว่าเริ่มต้นธุรกิจจากความชื่นชอบความพิวเตอร์ แต่จุดอ่อนของร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในช่วงเวลานั้น คือการตั้งสินค้าไว้ภายในตู้โชว์ ไม่มีความแตกต่างกัน และตัวผู้บริโภคเองก็ไม่อาจรับรู้ได้ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ทำอะไรได้บ้าง นั่นจึงเป็นที่มาให้ iHAVECPU ต้องทำการขายแบบ “ห้องลองเสื้อ” คือลองใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้าดู ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ส่วนรูปแบบการขายที่เริ่มต้นจาก Offline to Online นั้น แม้หลายคนจะมองเป็นการทำการตลาดแบบย้อนกลับ แต่คุณพีรดนย์เชื่อมั่นว่าหัวใจของ iHAVECPU ที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า หากมีหน้าร้านจะช่วยต่อยอดได้มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ถามตอบกับผู้เชี่ยวชาญแบบ Face to Face ซึ่งนับว่าเป็นจุดแข็งของ iHAVECPU ในฐานะตัวจริงด้านคอมพิวเตอร์
MAGURO Group และ iHAVECPU เป็น 2 ธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจากการเป็น SME ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้ 2 ธุรกิจนี้เติบโตและกวาดรายได้ระดับพันล้านได้ คือ การจับจังหวะหาโอกาสใหม่ๆเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ และสิ่งที่สำคัญคือ การไม่ยอมหยุดพัฒนาตนเอง หมั่นหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา