Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ความจริงที่เห็นมากับตา ที่ World Expo 2025
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

ความจริงที่เห็นมากับตา ที่ World Expo 2025

27 เม.ย. 68
11:57 น.
แชร์

บทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมองของผู้เขียนเองเกี่ยวกับงาน World Expo Osaka 2025 ไม่ได้มีผู้ว่าจ้างให้เขียนหรือไหว้วานให้เขียนแต่อย่างใด

ที่ต้องอธิบายแบบนี้ก่อนเพราะเห็นว่าหัวข้อดังกล่าวยังอยู่ในวังวนดราม่าร้อนแรง ส่วนที่ถูกตั้งคำถามก็มีหน้าที่ในการให้คำตอบต่อไปเพื่อให้สังคมเข้าใจ แต่ส่วนที่เห็นและเป็นอยู่ของศาลาหรือ Pavilion จากประเทศต่างๆรวมทั้งของไทยคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่คนทั่วโลกโดยเฉพาะคนญี่ปุ่นจะได้เห็นต่อเนื่องตลอดเดือนนี้ (เม.ย. – ต.ค. 2568) ที่เมืองโอซาก้า

เป็นเวลากว่า 170 ปีแล้วที่งานนนี้ถูกจัดขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ในการนำเสนอวิทยาการ นวัตกรรมและ ‘วัฒนธรรม’ จากนานาประเทศ ที่งานนี้สำคัญก็เพราะเขาไม่ได้จัดกันบ่อยๆ จะมีให้ดูก็คราวละ 5 ปีเท่านั้นเอง โครงสร้างรายได้ของงานนี้มาจากการขายบัตรเข้าชมงาน การเช่าพื้นที่ การจัดกิจกรรมและการสนับสนุนจากภาคเอกชน รวมถึงรายได้ทางอ้อมจากการท่องเที่ยว การลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย World Expo อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Bureau International des Expositions (BIE) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ควบคุมมาตรฐานการจัดงานและกำหนดหลักเกณฑ์ เจ้าภาพจะต้องเสนอตัวและได้รับการคัดเลือกจากสมาชิก BIE

โดยรัฐบาลของประเทศเจ้าภาพจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักและแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานระดับชาติ มีองค์กรหรือสมาคมเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการงานเช่น สมาคมญี่ปุ่นสำหรับงานเวิลด์เอ็กซ์โป 2025 เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการแบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ เช่น การตลาด การประชาสัมพันธ์ การก่อสร้าง การเงิน และการประสานงานกับประเทศที่เข้าร่วม

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการจัดงานนี้ที่เมืองโอซาก้า มันเคยเกิดขึ้เนแล้วเมื่อปี 1970 ผ่านมา 55 ปี งาน World Expo 2025 โดยรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นก็ยังทำได้ดี น่าสนใจ จะบอกว่า ‘สมกับเป็นญี่ปุ่น’ ก็พูดได้เต็มปาก ที่ต้องชมเชยคือโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่ดีเยี่ยม พาผู้เข้าชมงานมาถึงที่สถานียูเมะชิมะและเข้าสู่พื้นที่จัดงานได้สะดวก รถไฟฟ้าใต้ดินมีจุดให้แตะบัตรเครดิตเพื่อจ่ายค่าโดยสารไม่ต้องพะวงกับการเติมเงินเข้าบัตร ซึ่งเขาเริ่มใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา (เรื่องนี้ถ้ามองกลับมาที่บ้านเราก็ต้องให้เครดิต BEM ที่ทำมานานแล้ว ทำให้เดินทางสะดวกขึ้นมาก)

 World Expo 2025

สิ่งที่น่าทึ่งของงานคือ ทั่วทั้งพื้นที่การจัดงานมีสิ่งจัดแสดงละลานตาเต็มไปหมด โดยเฉพาะศาลาของแบรนด์ญี่ปุ่นทั้งหลายที่เป็นจุดสัมผัสแรกๆเมื่อก้าวเข้างาน จากนั้นเมื่อสำรวจไปรอบๆ ก็พบว่านี่คือเวที “โชว์ของ” ของแต่ละประเทศที่แท้จริง โครงสร้างและรายละเอียดของแต่ละศาลาจะสื่อสารด้วยวิธีการแตกต่างกัน บางศาลาก็จะบอกตรงๆว่าตัวเองเป็นใคร จุดเด่นคืออะไร อยากเล่าอะไร บางศาลาก็ใช้วิธีชวนให้คิด คิดว่าทำไมต้องใช้สิ่งนั้นๆ เป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่อง ทำให้คนตั้งคำถามและอยากหาคำตอบว่าทำไมศาลาของประเทศนี้ถึงพูดเรื่องนี้

เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับกันก่อนว่า คนเรานั้นไม่เหมือนกัน บางคนชอบคนพูดตรงๆ บางคนชอบคนพูดใช้ภาษาสละสลวย หรือบางคนก็ชอบปริศนาธรรมให้คาดเดา การตัดสินวิธีคิดของคนอื่นว่าผิดเพราะไม่ตรงกับวิธีคิดของตนเองนั้นอาจเป็นเรื่องที่ตัดสินใจเร็วไปหน่อย

แม้กับคณะที่เข้าชมงานด้วยกัน คนไทยเหมือนกัน ก็ยังมองและตีความการสื่อสาร การจัดวาง หรือการจัดการของแต่ละศาลาไม่เหมือนกัน บางศาลาที่เราเห็นว่าน่าสนใจ ทำได้ดีมาก แต่คนอื่นกลับมองว่าไม่มีอะไรเลยหรือไม่รู้ว่าจะสื่ออะไร เรื่องแบบนี้ถือเป็นธรรมดา

ผู้เขียนได้เข้าชมศาลาของประเทศไทย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีใต้ จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และสเปน จึงมีความเห็นส่วนตัวได้จำกัดเฉพาะศาลาที่เข้าชมและภาพรวมของการจัดงานเท่านั้น

 World Expo 2025  World Expo 2025

ศาลาที่คิดว่าน่าสนใจและอยากแนะนำให้ผู้อ่านที่สนใจจะเข้าชมไปเปิดหูเปิดตาเริ่มจาก ซาอุดิอาระเบีย ที่ทำได้ดีเยี่ยม ประเทศนี้จะมีตัวตนโดดเด่นในเวทีใหญ่ๆของโลกเสมอ กระทั่งการจัดประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ทุกต้นปี ซาอุก็จะจัดบ้านหรือ House ที่โดดเด่น ลงทุนสูง ประกาศศักยภาพของประเทศอยู่เสมอ ที่งาน World Expo นี้ก็เช่นเดียวกัน ทั้งโครงสร้างที่ทำได้เนี้ยบ การฝังลำโพงขนาดใหญ่จำนวนมากกลืนไปกับตัวอาคาร เจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นได้ยอดเยี่ยม เล่าการสร้างบ้านแปงเมืองบนผืนทะเลทรายแบบทันสมัย ให้พื้นที่ศิลปินของประเทศมาบอกเล่าเรื่องราวชิ้นงานและความเกี่ยวพันกับดินแดนเกิด ไม่พลาดขายเทคโนโลยีใหม่ๆตั้งแต่เครื่องพิมพ์สามมิติที่พิมพ์ปะการัง ไปจนถึงเทคโนโลยีพันธุกรรม การดักจับคาร์บอน และการพัฒนาเมืองด้วย

 World Expo 2025

อีกศาลาที่ไม่ควรพลาดคือศาลาของจีน ที่โชว์ความยิ่งใหญ่ของชาติ ด้วยแผ่นซีกไม้เขียนด้วยพู่กันจีนแบบดั้งเดิม ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า ผู้เขียนตีความเองว่านี่คือการบอกโลกว่าจีนมีปัญญา มีรากฐานที่ลึกซึ้งมายาวนานหลายพันปีเชื่อมโยงมนุษย์และธรรมชาติมาช้านานแล้ว และจีนก็ยังเป็นจีนอยู่

จะมายิ่งใหญ่เหมือนกันไม่ได้

จีนไม่อ้อมค้อมต่อระเบียบที่เข้มงวด ติดกล้องวงจรปิดด้านหน้าของศาลาในจุดที่เห็นเด่นชัดและแปะป้ายบอกชัดเจนว่า นี่คือพื้นที่ที่ถูกตรวจสอบและควบคุม เจ้าหน้าที่ของศาลาทั้งหมดเป็นคนจีน มีสำนักงานอยู่ภายในศาลา ทุกคนปฎิบัติหน้าที่เสมือนถูกจับตาอยู่ตลอดเวลาจึงค่อนข้างเป๊ะพอสมควร ภายในศาลายังโชว์ศักยภาพของจอวงกลมขนาดใหญ่ที่ทำโค้งได้อีกต่างหาก รวมทั้งนำวัตถโบราณมาวางและอธิบายด้วยเทคโนโลยีภาพ นอกจากวัฒธรรมแล้ว จีนก็ไม่พลาดในการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้งเมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีการแพทย์ด้วย พอชมเสร็จ เดินออกมาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ของเขายิ่งใหญ่จริงๆ

 World Expo 2025

ส่วนศาลาที่ต้องเขียนถึงและเชื่อว่าผู้อ่านจะเลือกเป็นศาลาแรกที่เดินตามหาและต่อคิวเข้าชม ก็คือศาลาของประเทศไทย เนื่องจากWorld Expo ทั้งงานจัดได้ดี ลงทุนมหาศาล การมีอยู่ของศาลาประเทศตัวเองก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่อยากไปดูให้เห็นกับตาและบอกเล่าให้คนได้รู้กันทั้งนั้น วันที่ผู้เขียนไปก็เห็นว่าคิวเข้าชมยาวเหยียด ผลตอบรับค่อนข้างดี ตัวโครงสร้างของศาลาทำได้น่าสนใจกับแนวคิดศาลาครึ่งเดียวแล้วสะท้อนอีกครึ่งหนึ่งบนกระจก ซึ่งรายละเอียดน่าจะมีผ่านหูผ่านตาคนไทยไปมากแล้ว

 World Expo 2025

โดยส่วนตัวเมื่อยืนมองแล้วมองอีก ก็คิดว่าสวยและทำให้คนที่ผ่านไปมาหยุดดู หยุดถ่ายรูปเหมือนกัน เมื่อก้าวเข้าไปในศาลาจะมีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย โชว์มาสคอต เปิดประตูเข้าสู่ห้องแรกซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ทำได้ดีที่สุดของศาลาแล้วกับวีดิทัศน์ความเป็นไทย จากนั้นจะพาไปอีกห้องที่โชว์ศักยภาพสมุนไพรไทยและการแพทย์ของไทย น่าเสียดายที่ไม่มี ‘อะไรสักอย่าง’ มาหยุด ทำให้คนดูสะดุด หรือดักผู้เข้าชม เพราะเป็นห้องโล่ง มีสินค้าและข้อมูลติดที่ผนัง ผู้เข้าชมก็เดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว มีน้อยคนที่จะหยุดดู จากนั้นจะเข้าสู่ห้องสุดท้ายที่ทำครัวกระจกโชว์การทำอาหารไทย แน่นอนว่าต้องมีส้มตำและอาหารจานหลักที่ชาวต่างชาติรู้จัก ด้านข้างเป็นจุดโชว์สมุนไพรไทย เมื่อเดินออกไปมีร้านขายสินค้าที่ระลึก และเมื่อก้าวออกจากศาลา ส่วนที่เป็นเหมือนหลังบ้านมีบูธเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว การนวด และธุรกิจโรงแรม โดยรวมถือว่าทำได้ดีแบบไทยๆของเรา ที่เราจะได้เห็นจากการจัดแสดงในศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่อย่างเมืองทองธานี ไบเทคบางนา หรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แต่เข้าใจว่านี่คือ World Expo และมีศาลาของประเทศอื่นให้เปรียบเทียบเต็มไปหมด พอสัมผัส รับรู้ เกิดประสบการณ์ในงานอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง จึงไม่แปลกที่จะเกิดช่องว่างความคาดหวัง (Expectation Gap) ขึ้นมาได้ ช่องว่างของบางคนก็ใหญ่ ช่องว่างของบางคนก็เล็ก

ถ้าดูจากแนวคิดของงานคือ ออกแบบสังคมแห่งอนาคตเพื่อวิถีชีวิตของพวกเรา (Designing Future For Our Lives) แล้วเอากรอบเรื่องวิทยาการ นวัตกรรมและวัฒนธรรมมาจับ ก็ต้องบอกว่าศาลาของไทยไม่ได้ทำข้อสอบผิดชุดแต่อย่างใด ก็เอาจุดขายเรื่องศูนย์กลางทางการแพทย์ เรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งธุรกิจอาหารและบริการมานำเสนอ บอกตรงๆ บอกชัดๆ ว่าหมอบ้านเราเก่ง สาธารณสุขบ้านเราดี โปรดมาเยี่ยมเยือนมารักษาตัวและพักผ่อนที่ประเทศของฉัน ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยเราโตต่ำ ยังไงก็ต้องการเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้าไว้ ก็ขายกันไปตรงๆเลย

ไม่ต้องมีเทคโนโลยีอะไรเยอะก็ได้และนวัตกรรมนั้นมันกว้างกว่าแค่เรื่องใช้เทคโนโลยี จะเป็นนวัตกรรมเชิงกระบวนการหรือนวัตกรรมการบริการก็ได้ ส่วนเรื่องวัฒนธรรมอันนี้ก็สบาย เพราะประเทศไทยเรามีจุดขายที่ชัด

เพียงแต่ผู้เขียนสงสัยเองว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเขาจะสนใจจริงหรือไม่ หรือคนหนุ่มสาวจะพาพ่อแม่ตัวเองบินไปรักษาตัวหรือเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยกันกี่มากน้อย เข้าใจว่าน่าจะมีการศึกษารองรับมาแล้วจนผู้จัดงานมั่นใจและอยากสื่อสารออกมาแบบนี้

โครงสร้างไม่ได้เป็นประเด็นสำหรับผู้เขียนนัก เพียงแต่การเล่าเรื่องรวมทั้งประสบการณ์ลูกค้าในแต่ละจุดสัมผัส ตั้งแต่การเข้าคิว เข้าชมงาน เดินออกมาด้านข้างศาลา ยืนชมกิจกรรมบนเวทีด้านหน้าของศาลานั้นยังตรงๆ ชัดๆ จะๆ อะไรดีก็ว่าดี ไม่ต้องย่อยอะไรหรือชวนให้ฉุกคิดอะไรเท่าไหร่ เชื่อว่ารายละเอียดทั้งหมดของศาลาน่าจะตรงเป๊ะตามเอกสารกำหนดขอบเขตและรายละเอียด (Term of Reference - TOR) อย่างดีเยี่ยมแน่นอน รวมทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบก็อาจเป็นไปตามตัวอักษรของตัวบทกฎหมายที่มีอยู่อย่างชัดเจน

สรุปตรงนี้คือ ศาลาไทยสวย คนสนใจเข้าชม น่าภูมิใจกับการมีอยู่ของศาลาบ้านเราในงานขนาดใหญ่นี้ คุ้มค่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาเที่ยวโอซาก้าและแวะเข้าชม World Expo 2025 อย่างแน่นอน

ส่วนคุ้มค่ากับงบประมาณ คุ้มค่ากับโอกาสในการทำการตลาดประเทศ คุ้มค่ากับการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเพื่อส่งผลดีต่อเรื่องศูนย์กลางทางการแพทย์หรือไม่ ผู้เขียนไม่มีความรู้เพียงพอที่จะตอบคำถามนี้

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์
ความจริงที่เห็นมากับตา ที่ World Expo 2025