ก่อนถึง "วันปลดแอก" ของสหรัฐฯ เพียง 2 วัน ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก สามชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ได้แก่ 'จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้' ได้ร่วมกันประกาศจุดยืนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า พร้อมผลักดันการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีสามฝ่าย (Trilateral Free Trade Agreement - FTA) ให้คืบหน้า
โดยมีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานเครือข่ายการค้าที่มีเสถียรภาพ คุณภาพสูง เอื้อประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว และเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าและมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่กำลังจะถูกประกาศออกมาในวันที่ 3 เมษายน นี้
ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการประชุมด้านเศรษฐกิจและการค้าไตรภาคีครั้งที่ 13 ระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ณ หอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี เขตจุง กรุงโซล โดยมีรัฐมนตรีการค้าจากทั้งสามประเทศเข้าร่วม ได้แก่ นายอัน ด็อกกึน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ นายโยจิ มูโตะ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และ นายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีหารือระดับสูงครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 ซึ่งการเจรจาครั้งก่อนจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยในครั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่เน้นการขยายความร่วมมือเชิงรุกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับพหุภาคี
หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทั้งสามประเทศเร่งสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจ คือ นโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเตรียมประกาศให้วันที่ 2 เมษายน เป็น “วันปลดแอก (Liberation Day)” ของสหรัฐฯ พร้อมแผนออกมาตรการภาษีใหม่ภายใต้ระบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) เพื่อจำกัดการพึ่งพาสินค้าต่างประเทศ และเพิ่มการปกป้องอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ
แนวทางดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศผู้ส่งออกหลักอย่าง 'จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้' ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก และยังเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูงติด 10 อันดับแรก
โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ปี 2024 จีนครองอันดับหนึ่งของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ตามด้วยญี่ปุ่นในอันดับ 7 และเกาหลีใต้อันดับ 8 ทำให้ทั้งสามประเทศตกอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ที่มีเป้าหมายหลักในการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ทั้งสามประเทศได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีแบบไตรภาคี (Trilateral FTA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่การค้าเสรีที่ “ครอบคลุม เป็นธรรม มีคุณภาพสูง และเป็นประโยชน์ร่วมกัน” ซึ่งหากสำเร็จ จะครอบคลุมเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นเกือบ 25% ของ GDP โลก
จากการประชุม ทั้งสามประเทศมีข้อตกลงในการเพิ่มการหารือเชิงนโยบายเพื่อสร้างความโปร่งใสและลดความเสี่ยงจากมาตรการจำกัดการส่งออก รวมถึงเห็นพ้องในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนเป็นกลาง และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม บัญชี “Yuyuan Tantian” บน Weibo ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐจีน (CCTV) ยังรายงานว่า ทั้งสามประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการ ‘ตอบโต้’ การเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีแผนนำเข้าวัตถุดิบเซมิคอนดักเตอร์จากจีน ขณะที่จีนก็แสดงความต้องการนำเข้าชิปขั้นสูงจากทั้งสองประเทศเช่นกัน
หากความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์นี้เกิดขึ้นจริง บริษัทหลักทรัพย์ Innovest X ประเมินว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ได้แก่
- เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะกลางถึงยาว ทั้งในเชิงการแข่งขันและการค้า
- ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตหลักของเกาหลีใต้อย่าง Samsung และ SK Hynix ต่างใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์จากบริษัทสหรัฐฯ เช่น Applied Materials (AMAT), Lam Research (LRCX), Micron (MU) และ Qualcomm (QCOM)
- อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนอาจได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นตลาดหลักของญี่ปุ่น รวมถึงชิ้นส่วนหน่วยความจำ DRAM และ NAND ซึ่งเป็นจุดแข็งของเกาหลีใต้ ตัวอย่างของบริษัทจีนที่อาจได้รับประโยชน์ ได้แก่ Longi Green Energy Technology, BYD Semiconductor, SMIC และ Will Semiconductor
นอกจากการผลักดันความร่วมมือภายในกรอบไตรภาคี จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนเวทีความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยหนึ่งในเวทีสำคัญคือการประชุมแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแถบทะเลเหลือง (Pan-Yellow Sea Rim Economy and Technology Exchange Conference) ครั้งที่ 23 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่เมืองแทจอน สาธารณรัฐเกาหลี
ในระดับโลก ทั้งสามประเทศยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเจ้าภาพการจัดเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีอิทธิพล โดยเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพสัปดาห์ผู้นำเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Week - AELW) ในปี 2025 ตามด้วยจีนในปี 2026 ขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมเป็นเจ้าภาพงาน Expo 2025 ณ เมืองโอซาก้า ซึ่งถือเป็นเวทีแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระดับโลก
ความร่วมมือที่กำลังก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ทั้งสามประเทศจะมีประเด็นความขัดแย้งบางประการ เช่น ข้อพิพาททางทะเล ประวัติศาสตร์ระหว่างชาติ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ผลประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี และความมั่นคงทางพลังงาน ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่นำไปสู่การประสานงานและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศมหาอำนาจและคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา