Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จีนลงดาบ ตึกกากเต้าหู้ ผู้รับเหมารับผิดชอบชั่วชีวิต บทเรียนตึกสตง.ถล่ม
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จีนลงดาบ ตึกกากเต้าหู้ ผู้รับเหมารับผิดชอบชั่วชีวิต บทเรียนตึกสตง.ถล่ม

2 เม.ย. 68
11:46 น.
แชร์

ตึก สตง. ถล่ม เป็นชั้น ๆ พังเหมือนเค้ก

คนกรุงเทพฯ หลายคนสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ขนาด 7.7 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสกาย ประเทศเมียนมา บ้านพักและอาคารขนาด 1-4 ชั้น แทบไม่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน แต่คอนโดสูงและอาคารกลางเมืองบางแห่งทรุดตัวเล็กน้อย หรือเกิดรอยร้าวไม่กระทบโครงสร้างหลัก

แต่เหตุสลดที่เกิดขึ้นขณะแผ่นดินไหวอยู่ที่อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือตึก สตง. ใหม่ ในย่านจตุจักร เพราะเป็นอาคารสูง 30 ชั้นแห่งเดียวในบริเวณนั้น และเป็นตึกเดียวในกรุงเทพมหานคร ที่ถล่มลงมากองกับพื้นในช่วงเวลาไม่กี่วินาที ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมตึกแห่งนี้จึงเป็นตึกเดียวที่ถล่มลงมา 

“อาคารยังไม่เซ็ตตัว” คือข้อสันนิษฐานแรก โดยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ ผู้รับผิดชอบงาน ภายหลังตึก สตง. เผยว่า เบื้องต้นสภาพพื้นที่เป็นอาคารระหว่างก่อสร้าง ความแข็งแรงของตัวอาคารยังไม่เซ็ตตัว หลังเกิดการสั่นไหวทำให้พังลงมา โดยพังลงมาเป็นชั้น ๆ เหมือนเค้ก แต่ในขณะที่ทีมกู้ภัยกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคารต่อเนื่อง 24 ชม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาเปิดเผยในภายหลังว่า ไม่น่าจะใช่สาเหตุดังกล่าว

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มีคำสั่งให้ติดตามต้นตอของเหตุตึกถล่ม โดยขีดเส้นตาย เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน โดยระบุว่า “อาคารก่อสร้างถล่มครั้งนี้ ต้องหาสาเหตุ และหาผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก ต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป” ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่พบว่ามีนอมินีมากถึง 17 บริษัท

“เหล็กเส้นตกเกรด” ผลงานบริษัทจีน

แม้จะยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าคำตอบหลังการสืบสวนจะเป็นผลพวงจากการทุจริตหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ประชาชนหรือแม้แต่หน่วยงานสงสัย คือการใช้วัสดุคุณภาพต่ำ ลดสเป็กเพื่อลดต้นทุน แลกกับการทำตึกแบบไม่ได้มาตรฐาน นี่จึงเข้าอีหรอบเดียวกันกับ “ตึกกากเต้าหู้” ภาพตึกถล่มที่เผยแพร่ไปทั่วโลก จุดกระแสให้สังคมจีนกลับมาตั้งคำถามกันตั้งแต่วันแรกว่า บริษัทก่อสร้างของจีนมีเอี่ยวในการสร้างตึกอันเปราะบางแห่งนี้หรือไม่

ชื่อของ “บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด” ปรากฏขึ้นเป็นบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ ซึ่งได้สัมปทานก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งนี้ร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ก็ยิ่งตอกย้ำว่าตึกที่ถล่มลงมา มีบริษัทจีนเข้ามาดูแลรับผิดชอบไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ยังได้งานโครงการรถไฟไทย-จีน กรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า1 

หลังจากแผ่นดินไหวได้ 3 วัน สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบตัวอย่างเหล็กที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ พบเบาะแสทางการอย่างแรก คือ “เหล็กเส้นตกเกรด” ไม่ผ่านมาตรฐานถึง 13 ท่อน จาก 2 ไซซ์ คือ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. ตกเรื่องมวลต่อเมตร ทำให้เหล็กน้ำหนักเบาเกินไป และเหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. ที่ตกเกรดค่าความเค้น (yield) ส่งผลต่อภายในเนื้อวัสดุและแรงต้านทาน ขณะที่ตัวอย่างอีก 14 ชิ้น จากเหล็ก 4 ประเภท นับว่าผ่านมาตรฐานทั้งหมด

สำหรับตัวอย่างเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการสืบสาวไปถึงบริษัทผู้ผลิต พบชื่อของ “บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด” โดยบริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ด้วยทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 1,530 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นหลัก 73.63% คือ นายเฉิน เจี้ยนฉี (สัญชาติจีน) และโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ถูกสั่งปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากโรงงานไร้ความปลอดภัย และวัสดุที่ผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐาน

บทเรียน “ตึกกากเต้าหู้” 

ทีมข่าว Spotlight ได้พูดคุยกับดร. ร่มฉัตร จันทรานุกูล อาจารย์ประจำคณะการจัดการธุรกิจและการเงิน มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ผู้ซึ่งจบปริญญาโทและปริญญาเอกจาก University of International Business and Economics ประเทศจีน และเคยเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ Beijing International Studies University ณ กรุงปักกิ่ง โดย ดร. ร่มฉัตรมองว่า เหตุตึก สตง. ถล่ม ก็มีลักษณะคล้าย “ตึกกากเต้าหู้” หรือ “โต้ฝู่จา เฉิงกง” คำนี้ ในสังคมจีนใช้อธิบายถึงตึกที่ลดทอนคุณภาพวัสดุ ตึกที่ไม่แข็งแรง และถล่มง่าย 

แต่ยังมีอีกความหมายแฝงถึงโครงการก่อสร้างของรัฐบาล ซึ่งมีการทุจริต ทั้งด้านฮั้วประมูล ตัดราคา หักค่าหัวคิว จนผู้รับเหมาต้องมาหาทางลดต้นทุนเอง โดยการลดสเป็กวัสดุก่อสร้าง ซึ่งหมายรวมถึงทั้งอาคาร โรงเรียน โรงพยาบาลหรือแม้แต่ถนนและสะพานที่ไม่แข็งแรง จนเกิดเป็นเหตุอันตรายต่อชีวิตในหลายครั้ง โดยคำว่า กากเต้าหู้ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1998 หรือตั้งแต่ 27 ปีก่อน ขณะที่นายกรัฐมนตรีจู หรงจี กล่าวขณะเยี่ยมชมเขื่อนกั้นน้ำ ริมแม่น้ำแยงซี เมื่อได้เห็นเขื่อนอันเปราะบาง เขาพูดขึ้นว่า “เขื่อนกั้นน้ำดูเปราะบางและมีรูพรุนเหมือนกากเต้าหู้!” นั่นเอง

แผ่นดินไหว ปูดทุจริต

เหตุตึก สตง. ถล่มอาจมองได้ว่าเป็นเพราะเหตุแผ่นดินไหว จึงทำให้ผู้คนหัวมาสนใจปมทุจริตก่อสร้าง หากจะเทียบเคียงเหตุการณ์ปูดทุจริตในจีน จึงชวนให้นึกถึงเหตุแผ่นดินไหวในจีน ที่นำมาสู่คดีฉาวอาคารเรียนถล่ม ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2008 วันที่ 12 พฤษภาคม ในขณะที่ผู้คนเข้าตึกออฟฟิศทำงานในช่วงบ่าย และเด็ก ๆ หลายหมื่นชีวิตกำลังนั่งเรียนอยู่ในห้องที่พวกเขาคุ้นเคย ก็ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาด 7.9 แมกนิจูด ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่อำเภอเหวินฉวน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเฉิงตู ซึ่งมีความลึกอยู่ที่ 19 กิโลเมตร และผู้คนจดจำกันในชื่อ “เหตุแผ่นดินไหวเหวินฉวน” และยกให้เป็นหนึ่งในวันมหาวิปโยคทางประวัติศาสตร์

เหตุแผ่นดินไหวในครั้งนั้น มีการบันทึกอย่างเป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิต 87,587 คน ผู้บาดเจ็บมากถึง 374,643 คน ยังไม่นับรวมผู้สูญหายอีก 18,392 คน พร้อมกับตึกรามบ้านช่อง อาคารเรียนและสำนักงาน ที่พังทลายลงเกือบราบเป็นหน้ากอง และที่สำคัญ ชาวจีนยังเชื่อกันว่า หากไม่มีปมทุจริตในวงการก่อสร้าง ตัวเลขความสูญเสียอาจไม่พุ่งทะยานถึงเพียงนี้ 

หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว มีรายงานว่าเด็กนักเรียนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เสียชีวิตจากการโดนตึกถล่มทับร่าง ส่วนใหญ่เป็นอาคารเรียนที่รัฐบาลจีนเร่งสร้างขึ้นมาอย่างหละหลวม โดยใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาการทุจริตในการก่อสร้างอาคารเรียน ทำให้สังคมจุดกระแสเรื่อง “ตึกกากเต้าหู้” นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองผู้สูญเสียยังออกมาเดินขบวนประท้วงและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเด็ก ๆ ที่อาจรอดชีวิต หากอาคารเรียนมีความแข็งแรงตามมาตรฐานกว่านี้

เวลาผ่านไป 2-3 ปี แทนที่ความโกรธแค้นของชาวบ้านจะทุเลาลง แต่กลับปะทุหนักขึ้น เมื่ออาคารที่จะใช้เป็นศูนย์พักพิง รวมถึงบ้านหลังใหม่ของชาวบ้าน กลับพังทลายลง ทั้ง ๆ ที่ อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็จะแล้วเสร็จ รวมถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับอาคาร เมื่อสืบสาวกลับไปแล้ว ล้วนเป็นอาคารที่ผู้รับเหมาสร้างตึกแบบลวก ๆ ใช้วัสดุคุณภาพต่ำเพื่อลดต้นทุน จนท้ายที่สุดนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตในหลายเหตุการณ์

“รับผิดชอบตลอดชีพ” บทลงโทษผู้รับเหมาฮั้วทุจริต

เมื่อถามถึงมาตรการหรือบทลงโทษของรัฐบาลจีน ดร.ร่มฉัตร เล่าว่า รัฐบาลกลางของจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเสียงกร่นด่าของประชาชนในประเด็นตึกกากเต้าหู้ โดยรัฐบาลกลางของจีนได้ออกบทลงโทษรุนแรงต่อทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและบริษัทผู้รับเหมา หากพบหลักฐานว่ามีการทุจริตจริง หนึ่งในบทลงโทษที่ออกมา ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ คือสั่งให้บริษัทผู้รับเหมาต้อง ‘รับผิดชอบไปชั่วชีวิต’ ต่อสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย คำสั่งสุดโต่งแบบนี้เกิดขึ้นได้จากระบบคอมมิวนิสต์ของจีน แต่หากเป็นเมืองไทยหรือประเทศอื่นอาจจะออกคำสั่งแบบเดียวกันได้ยากกว่า

คำสั่งดังกล่าว แม้จะนำมาบังคับใช้ได้ยากในความเป็นจริง แต่ก็ทำให้วงการผู้รับเหมาเกรงกลัวต่อบทลงโทษรุนแรงเช่นนี้ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคำสั่งขึ้น ‘บัญชีดำ’ บริษัททำตึกกากเต้าหู้ด้วย แม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นสั่งปิดบริษัท แต่ก็นับเป็นการตัดอนาคตของธุรกิจไปอีกในระยะยาว จนแทบจะกลับมารับงานอีกไม่ได้ เพราะไม่หลงเหลือความเชื่อมั่นต่อผู้จ้างงานอีกแล้ว 

รัฐบาลกลางของจีนยังสั่งปรับระบบการจ้างบริษัทผู้รับเหมาของหน่วยงานราชการท้องถิ่นให้มีความเข้มงวดมากขึ้นด้วย โดยเพิ่ม Third party เข้าไปในการลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้าง คือมีตัวแทนจากรัฐบาลกลาง มีตัวแทนจากภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เพื่อลดการทุจริตระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น หน่วยงานท้องถิ่น กับบริษัทผู้รับเหมา ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่น หรือหน่วยงานรัฐบาลก็จะถูกลงโทษตามกฎหมายปราบปรามทุจริต ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่ปรับ จำคุก และโทษสูงสุดประหารชีวิต หากพบว่ามีการฉ้อโกงต่อทรัพย์สินแผ่นดิน 

ดร. ร่มฉัตร จันทรานุกูล อาจารย์ประจำคณะการจัดการธุรกิจและการเงิน มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มองว่า หากผลของการตรวจสอบเหตุตึกถล่ม มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตจริง รัฐบาลก็ควรเร่งตรวจสอบโครงการอื่น ๆ ที่มีบริษัทต่างชาติได้รับสัมปทานก่อสร้างด้วยว่า เกิดเหตุคอร์รัปชันในลักษณะเดียวกันไหม เพราะผลร้ายที่จะตามมาก็จะส่งผลถึงชีวิตและความปลอดภัยของคนในประเทศ และท้ายที่สุดก็คือภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทยที่จะสูญเสียอีกมหาศาล


แชร์
จีนลงดาบ ตึกกากเต้าหู้ ผู้รับเหมารับผิดชอบชั่วชีวิต บทเรียนตึกสตง.ถล่ม