อินโดนีเซียกำลังเดินหน้าโครงการสุดทะเยอทะยาน เพื่อจัดหาอาหารฟรีให้กับเด็กนักเรียน 80 ล้านคนทั่วประเทศ แต่แผนนี้กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะล่าสุด เด็กนักเรียนเกือบ 80 คนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสองแห่งในเมืองจิอันจูร์ ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา มีอาการป่วยหลังรับประทานอาหารกลางวันในโรงเรียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ขณะนี้ได้กลับบ้านแล้ว
เหตุการณ์นี้ถือเป็นหนึ่งในกรณีอาหารเป็นพิษหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารฟรี อันถือเป็นนโยบายโดดเด่นของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต
เจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่สอบสวนกรณีนี้ระบุว่า สาเหตุเบื้องต้นน่าจะมาจากการเตรียมอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยมีการเก็บตัวอย่างอาเจียนของนักเรียนไปตรวจในห้องแล็บ ขณะเดียวกันตำรวจก็ได้สอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่พ่อครัว ผู้บรรจุอาหาร ไปจนถึงพนักงานส่งของ
นักเรียนชายวัย 16 ปีรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า ไก่ฉีกที่อยู่ในอาหารมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ทำให้เขารู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ แล้วก็อาเจียน
ทั่วโลกมีโครงการจัดหาอาหารฟรีในโรงเรียน ซึ่งโครงการดังกล่าวมักช่วยส่งเสริมสุขภาพ ผลการเรียน และการมาเรียนของนักเรียนอย่างเห็นได้ชัด
แต่ในกรณีของอินโดนีเซีย ซึ่งทุ่มงบประมาณกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 980,000 ล้านบาทจนกลายเป็นโครงการอาหารฟรีที่แพงที่สุดในโลก กลับถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารและกลายเป็นประเด็นร้อนที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงนับพันคนออกมาเดินขบวนต่อต้านการตัดงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการอาหารฟรีของประธานาธิบดีปราโบโว โดยมีป้ายข้อความหนึ่งระบุว่า "เด็กกินฟรี พ่อแม่ตกงาน"
สำหรับโครงการอาหารฟรีในโรงเรียน มีขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาภาวะแคระแกร็น หรือ stunting ซึ่งเป็นภาวะเกิดจากการขาดสารอาหารในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมีเด็กอินโดนีเซียราวหนึ่งในห้าคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะนี้
ปราโบโวเคยกล่าวไว้ในปี 2023 ว่า ด้วยโครงการดังกล่าว เด็กๆ อินโดฯจะสูงขึ้นและกลายเป็นแชมเปียน
ในระยะแรกของโครงการ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาหารฟรีถูกแจกจ่ายให้กับนักเรียนจำนวน 550,000 คนใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ
นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการอาหารกลางวันฟรีของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุการณ์อาหารเป็นพิษหลายครั้งในหมู่นักเรียน
มิเชล นักเรียนประถมจากจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก เป็นหนึ่งในเด็กนักเรียนที่สงสัยว่าได้รับพิษจากอาหารในเดือนกุมภาพันธ์ เธอบอกกับ BBC Indonesian ว่า อาหารที่กินเข้าไปจืดชืดและเหม็นหืน และทำให้เธอปวดท้อง
อินโดนีเซียตั้งงบไว้กว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับโครงการอาหารกลางวันฟรีในปีนี้ เมื่อเทียบกับอินเดียที่ใช้จ่ายเพียง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพื่อเลี้ยงเด็ก 120 ล้านคนในโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือบราซิลที่ใช้จ่ายในระดับใกล้เคียงกันเพื่อดูแลเด็กนักเรียนราว 40 ล้านคน งบประมาณของอินโดนีเซียถือว่าสูงมาก
เพื่อหาเงินมาชดเชยค่าใช้จ่ายนี้ ประธานาธิบดีปราโบโวได้ขอความร่วมมือจากมหาเศรษฐีภายในประเทศ และยังรับข้อเสนอเงินทุนจากจีน นอกจากนี้ยังสั่งตัดงบประมาณกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงต่างๆ เพื่อครอบคลุมโครงการนี้และนโยบายประชานิยมอื่นๆ
หลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ต้องถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง ข้าราชการบางคนที่ยังอยู่ในตำแหน่งเปิดเผยว่า พวกเขาต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการปิดแอร์ งดใช้ลิฟต์ และแม้แต่เครื่องพิมพ์
โครงการอาหารกลางวันฟรีของรัฐบาลอินโดนีเซียยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการบริหารงบประมาณอย่างไม่โปร่งใส โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานปราบปรามคอร์รัปชันของอินโดนีเซียเตือนว่า มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่จะเกิดการทุจริตในโครงการนี้
ในเดือนเมษายน ตำรวจได้เริ่มการสอบสวน หลังจากผู้จัดเตรียมอาหารในกรุงจาการ์ตาตอนใต้กล่าวหาทางการว่าโกงงบ โดยอ้างว่าเธอยังไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่เริ่มจัดทำอาหารกลางวันให้โรงเรียนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
ฺ