ในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา ประเด็นที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อทั้งตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นกรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน
สงครามการค้าในรอบนี้เริ่มตั้งแต่ทรัมป์ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เม็กซิโก และแคนาดาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมาตรการดังกล่าวได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง ทั้งในแง่ของอัตราภาษีที่สูงขึ้น รวมถึงจำนวนประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีซึ่งขยายออกไปมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกในเดือนเมษายน
แต่ประเด็นที่สร้างความกังวลมากที่สุด คือท่าทีตอบโต้ของจีนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมถอย พร้อมทั้งใช้มาตรการภาษีในอัตราใกล้เคียงเพื่อตอบโต้กลับสหรัฐฯ โดยตรง ซึ่งส่งผลให้การตอบโต้ทางภาษีในรอบนี้ลุกลามจนแตะระดับที่ต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีกันมากกว่า 100% แล้ว
คำถามสำคัญในเวลานี้คือ “สถานการณ์นี้จะยืดเยื้อต่อไปได้อีกแค่ไหน และฝ่ายใดจะมีแต้มต่อในการต่อรองมากกว่ากัน?”
ไพ่ของสหรัฐฯ: ความสามารถในการประคับประคองตัวเอง
เพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มในอนาคต เราจำเป็นต้องพิจารณาเครื่องมือที่แต่ละฝ่ายยังคงเหลืออยู่ เริ่มจากฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งมีไพ่หลักในมืออยู่ 3 ใบสำคัญ:
- การปรับขึ้นภาษีเพิ่มเติม เป็นไพ่ใบที่หงายหมดแล้ว และตลาดผ่านจุด panic ที่สุดไปแล้วเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการขึ้นภาษีไปจนถึงระดับมากกว่า 100% แล้ว ซึ่งเป็นจุดที่ทางผู้ประกอบการจีนไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว หากจะยกระดับไปถึง 150%, 200% หรือแม้แต่ 300% ก็อาจไม่ได้สร้างแรงกระทบใหม่เท่าใดนัก
- การกดดันผ่านพันธมิตรทางการค้า (Secondary Tariff) หนึ่งในยุทธวิธีที่สหรัฐฯ อาจนำมาใช้คือการกดดันให้ประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะ 60 ประเทศที่อยู่ในข่ายถูกเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ กีดกันสินค้ากับจีน โดยเปรียบเสมือนการบังคับเลือกข้างอย่างชัดเจนว่าจะทำการค้ากับฝั่งใด ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยการโจมตีจีนได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองมากนัก
- อัดฉีดสภาพคล่อง ยื้อเศรษฐกิจถดถอย สหรัฐฯ ยังมีความสามารถในการดูแลเศรษฐกิจภายในผ่านนโยบายการคลัง เช่น การลดภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภาษี รวมถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Quantitative Easing) หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อประคองเศรษฐกิจจากภาวะถดถอย
อาวุธของจีน: แม้จำกัด แต่ทรงพลัง
ทางด้านจีน แม้จะมีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างทางการเงินและการทูตเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีเครื่องมือสำคัญที่สามารถใช้เป็นมาตรการตอบโต้ได้ในยามจำเป็น ซึ่งได้แก่:
- การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น โดยถืออยู่ที่ราว 780,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ปีนี้สหรัฐฯ ต้องทำการรีไฟแนนซ์หนี้ของรัฐบาลในปริมาณสูงสุดในรอบทศวรรษ (ประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์) หากจีนเริ่มเทขายพันธบัตรเหล่านี้ จะส่งผลให้ราคาตราสารลดลง และอัตราผลตอบแทน (Yield) ปรับตัวสูงขึ้นทันที ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ภาคธุรกิจ และการจำนอง (Mortgage) ของประชาชนอีกด้วย
- การควบคุมการส่งออกแร่หายาก จีนมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับต้นน้ำของแร่หายากที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และแผงโซลาร์เซลล์ โดยครองส่วนแบ่งตลาดโลกในบางประเภทมากถึง 70-90% การจำกัดการส่งออกวัตถุดิบเหล่านี้จึงสามารถกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ได้อย่างรุนแรง และอาจทำให้ความขัดแย้งลุกลามจากสงครามการค้าไปสู่สงครามทรัพยากรได้ในอนาคต
สถานการณ์ต่อจากนี้: รอใครอ่อนแรงก่อน?
แม้ว่าทั้งสองประเทศจะได้ใช้นโยบายภาษีในระดับที่สูงจนยากจะเพิ่มขึ้นอีกมากนัก แต่ยังคงมี “อาวุธทางเศรษฐกิจ” ที่สามารถนำมาใช้ได้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ
ความขัดแย้งนี้จึงอาจยังไม่สิ้นสุดลงในเร็ววัน จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเริ่มแสดงสัญญาณอ่อนแรงทางเศรษฐกิจ หรือมีความจำเป็นต้องเข้าสู่การเจรจาเพื่อยุติความตึงเครียดดังกล่าว
สิ่งที่นักลงทุนควรติดตามต่อไป:
- ตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ หากมีสัญญาณอ่อนแอจากฝ่ายใดก่อน อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสการเปลี่ยนแปลงจุดยืนเชิงนโยบาย และนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจา
- ทิศทางของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นสัญญาณว่าจีนได้เริ่มดำเนินการเทขายพันธบัตร และจะนำไปสู่ความตึงเครียดที่มากขึ้นของระหว่างสองประเทศ
หมายเหตุ
คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวนและสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ผู้เขียน
นายธนลภย์ ปรีดามาโนช บริษัท ผู้จัดการเงินทุน เมอร์เคิล แคปปิตอล จำกัด
Sources:
https://www.bloomberg.com/explainers/us-china-trade-war
https://www.cnbc.com/2025/04/08/why-the-stock-market-hates-tariffs-and-trade-wars.html