จากกรณีชายชาวจีนก่อเหตุฆาตกรรมสาวประเภทสองในเมืองพัทยาที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ สร้างความปั่นป่วนให้สังคมตั้งข้อสันนิษฐานถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ เพราะสภาพความเสียหายของร่าง เรียกว่า ‘โดนชำแหละอวัยวะภายใน’ อย่างน่าสลด และมีปอดข้างหนึ่งหายไปอย่างเป็นปริศนา แม้ตำรวจจะสามารถจับกุมมือสังหารโหด นายตงหยวน ฟู่ ได้แล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะกำลังจะหลบหนีไปเมืองคุนหมิง ประเทศจีน และเจ้าตัวออกมาให้การรับสารภาพว่าลงมือก่อเหตุจริง แต่ไม่ได้ยุ่งกับอวัยวะภายในใด ๆ ยิ่งทวีความน่าสงสัยของเหตุฆาตกรรมนี้
หนึ่งในการคาดเดาของสังคมมองว่า ชายจีนผู้ก่อเหตุอาจเกี่ยวข้องกับเส้นทางค้าอวัยวะข้ามชาติ ซึ่งแน่นอนว่าขัดต่อหลักกฎหมายและมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง ท่ามกลางกระแสข่าวเชิงลบของ ‘จีนเทา’ ที่รุกคืบเข้ามาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งโหมให้สังคมสงสัยว่าการลักลอบค้าอวัยวะ อาจเป็นอีกหนึ่งเส้นทางค้ามนุษย์ ที่กำกลังกัดกินคนชายขอบในเมืองไทยอยู่ในขณะนี้
Spotlight รวบรวมคดีสุดอื้อฉาวเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะทั่วโลก ซึ่งคดีเหล่านั้นสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก จนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องยิบยกขึ้นมาแก้ปัญหา เพราะเป็นวาระที่สร้างความเสียหายระดับชาติ
ในอดีต จีนเคยเก็บเกี่ยวอวัยวะจากนักโทษที่ถูกประหารชีวิตเพื่อนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ นี่เป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีหลักฐานยืนยันจากหลายแหล่ง โดยให้เหตุผลว่าจีนเกิดภาวะขาดแคลนอวัยวะ เพราะผู้คนมีความเชื่อว่าไม่ควรบริจาคร่างกาย จะทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ในโลกหลังความตาย จำนวนการบริจาคจึงน้อยมาก เทียบกับประชากรที่ล้นเมือง อวัยวะจากนักโทษที่ถูกประหารชีวิตถือเป็น "ทรัพยากร" ที่พร้อมใช้งานได้ทันที ซึ่งช่วยลดระยะเวลารอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะได้อย่างมาก
หลายฝ่ายเชื่อว่าา การปลูกถ่ายอวัยวะในจีนกลายเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรสูง และการใช้อวัยวะจากนักโทษที่ถูกประหารชีวิตซึ่งอาจได้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้โรงพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์ทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ในปี 2015 รัฐบาลจีนได้ประกาศว่า จะยุติการใช้อวัยวะจากนักโทษที่ถูกประหารชีวิตอย่างเป็นทางการและเปลี่ยนไปใช้ระบบการบริจาคอวัยวะโดยสมัครใจ เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสและการดำเนินการจริงของการยกเลิกนี้ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับโทษประหารในจีนถือเป็นความลับของรัฐ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบอย่างอิสระว่าการเก็บเกี่ยวอวัยวะจากนักโทษได้ยุติลงจริงหรือไม่
ผู้ฝึกฝ่าหลุนกง (Falun Gong) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ฝ่าหลุนต้าฝ่า (Falun Dafa) คือศาสตร์การฝึกฝนทางจิตวิญญาณที่มีพื้นฐานมาจากหลักการของ ความจริง ความเมตตา และความอดทน ควบคู่ไปกับการทำกายบริหารคล้ายไทเก๊ก ซึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 สังคมจีนให้การตอบรับอย่างดี แนวคิด-แนวปฏิบัติแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลจีนนับเป็นภับคุกคามร้ายแรง เพราะขัดต่อแนวคิดพรรคคอมมิวนิสต์ที่ในทางปฏิบัติแล้ว ต้องเน้นทุนนิยมและการควบคุม ในปี 1999 ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงจำนวนมากได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหลังจากมีการจับกุมผู้ฝึกฝน ผู้นำเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น จึงเร่งปราบปรามอย่างรุนแรงทั่วประเทศ
ข่าวการค้าอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับผู้ฝึกฝ่าหลุนกงเริ่มเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติประมาณ ปี 2006 จากการออกมาให้ข้อมูลของพยานสองคนคือ แอนนี่ (นามสมมติ) เธออ้างว่าเป็นภรรยาของศัลยแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลซูเจียถุน มณฑลเหลียวหนิง เธอให้การว่าสามีของเธอได้ทำการผ่าตัดนำดวงตาออกจากผู้ฝึกฝ่าหลุนกงที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีผู้ฝึกฝนจำนวนมากถูกสังหารเพื่อนำอวัยวะไปขายในโรงพยาบาลแห่งนั้น พยานอีกคนคือแพทย์ทหารที่เคยทำงานในระบบโรงพยาบาลของจีน ดร.หวัง เหวินอี้ เธอให้การว่าเคยเห็นรายงานเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวอวัยวะจากนักโทษ รวมถึงผู้ฝึกฝ่าหลุนกง
หลักฐานที่สอดคล้องกับคำบอกเล่าของพยาน คือสถิติตัวเลขการปลูกถ่ายอวัยวะในจีนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด การปลูกถ่ายอวัยวะในจีนสูงมากอย่างไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริจาคโดยสมัครใจที่น้อยมาก ขณะที่ผู้ป่วยในจีนสามารถได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะได้ในระยะเวลาที่สั้นมาก บางครั้งเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือวัน ขณะที่ประเทศอื่นต้องใช้เวลารอเป็นปี ๆ นอกจากนี้ ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงบางคนที่รอดชีวิตจากการปราบปรามออกมาเล่าว่า พวกเขาโดนตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะอวัยวะภายในซึ่งไม่สมเหตุสมผล หากไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการปลูกถ่าย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากการสืบสวนขององค์กรอิสระมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยระบุว่าเป็น "ข่าวลือที่ใส่ร้าย" และ "เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง" รัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับการสอบสวนอิสระจากองค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ
“ผมหมดสติ เมื่อตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน ผมรู้สึกปวดท้องน้อยและหมอบอกว่า ไตของผมถูกผ่าตัดออกไปแล้ว พวกเขาขู่ว่าไม่ให้บอกใคร” นี่คือคำบอกเล่าของเหยื่อจากคดีสุดอื้อฉาวในอินเดีย ซึ่งคดีนี้รู้จักกันในชื่อ ขบวนปลูกถ่ายไตในคุรเคาน์ (Gurgaon) พื้นที่ก้าวหน้าทันสมัย ใกล้กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย โดยในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีการเปิดโปงเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ล่อลวงผู้ยากจนจากทั่วอินเดียมาขายไตให้กับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ร่ำรวย ซึ่งสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกและนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นในอินเดีย
คดีนี้เกี่ยวข้องกับแพทย์อย่างน้อย 4 ราย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าดำเนินธุรกิจปลูกถ่ายอวัยวะผิดกฎหมายมานานกว่า 9 ปี เจ้าหน้าที่คาดว่ามีการปลูกถ่ายไตเกิดขึ้นที่นี่ราว 400-500 ราย โดยบางครั้งใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ แต่ในบางกรณีผู้ขายก็ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นค่าปิดปากของพวกเขาด้วย ในกรณีของโมฮัมหมัด ซาลิม เป็นหนึ่งในเหยื่อของการหลอกลวงนี้ เขาเล่าว่า “ผมกำลังหางานอยู่ มีชายนิรนามเสนองานให้ผมเป็นเวลา 4-5 เดือนในนิวเดลี และเสนอค่าจ้างให้ผมวันละ 150-160 รูปี พร้อมอาหารและที่พักฟรี” แต่ไม่นานชีวิตของชายวัย 30 ปีคนนี้ ก็กลายเป็นฝันร้าย เขาถูกมือปืนจับกุมและนำตัวไปที่บ้านส่วนตัว ก่อนจะโดนฉีดยาสลบแต่ตื่นมาพบกับร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ชาวต่างชาติอย่างน้อย 5 คน เป็นชาวอเมริกัน 2 คน และชาวกรีก 3 คน ถูกจับกุมในความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นลูกค้าผู้ร่ำรวยจากต่างแดน ซึ่งมาท่องเที่ยวอินเดียในรูปแบบ ‘Transplant Tourism’ หรือการท่องเที่ยวเพื่อลักลอบปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ถูกปล่อยตัวในภายหลังเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ เนื่องจากโรงพยาบาลจะปลอมแปลงเอกสารบริจาคอวัยวะอย่างถูกกฏหมาย เช่น การทำเอกสารว่าเป็นญาติกัน หรือทำเอกสารยินยอมบริจาค เป็นต้น
บุคคลสำคัญเบื้องหลังที่ถูกระบุอย่างชัดเจนคือ ดร.อมิต กุมาร เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่วางแผน สั่งการ และดำเนินการเครือข่ายการค้าไตนี้มาเป็นเวลานาน มีรายงานว่าเขามีทรัพย์สินจำนวนมากที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายนี้ เขาถูกจับกุมในประเทศเนปาลในปี 2008 ในคดีที่ใกล้เคียงกัน หลังหลบหนี และถูกส่งตัวกลับมาอินเดีย ในปี 2013 ศาลพิเศษของ CBI (Central Bureau of Investigation) ตัดสินให้เขาจำคุก 7 ปี พร้อมปรับเงินจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานการจับกุมแพทย์และผู้ช่วยแพทย์คนอื่นๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
หลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวการค้าไตที่โรงพยาบาลคุรเคาน์ รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย Transplantation of Human Organs Act (THOA) อย่างเข้มงวด ซึ่งกฎหมายนี้มีอยู่แล้วตั้งแต่ปี 1994 แต่หลังเกิดเหตุ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อปราบปรามการซื้อขายอวัยวะและการแสวงหาผลประโยชน์ อีกทั้งยังผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ สร้างบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น และการทำให้กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะมีความโปร่งใสและมีการควบคุมมากขึ้น
อินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวในภูมิภาคที่เกิดปัญหาค้ามนุษย์ดังกล่าว มีรายงานว่าปากีสถานเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการค้าอวัยวะ โดยมีผู้ยากจนถูกชักชวนให้ขายไตให้กับผู้ป่วยที่ร่ำรวย ล่าสุด หน่วยงานต่อต้านการทุจริตของสำนักงานสอบสวนกลาง (FIA) จับกุมหัวหน้าแก๊งที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายไตผิดกฎหมาย นายมูฮัมหมัด อีร์ฟาน อัสลาม เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ หลังมีเหยื่อออกมาร้องเรียนว่าขบวนการของเขาทำการจับคู่เนื้อเยื่อปลอมเพื่ออำนวยความสะดวกในการปลูกถ่ายไตที่ผิดกฎหมาย เขาถูกกล่าวหาว่ากรรโชกทรัพย์จากผู้ป่วยเป็นจำนวนหลายล้านรูปีและจัดการผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชน
ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็เป็นแหล่งของการค้าอวัยวะขนาดย่อมเช่นกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับประเทศที่มีคนจนเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้ มีกรณีที่นักการเมืองระดับสูงของไนจีเรีย ภรรยา และแพทย์ ถูกตัดสินจำคุกในสหราชอาณาจักรในข้อหาสมคบคิดเพื่อนำชายคนหนึ่งจากไนจีเรียมาสหราชอาณาจักรเพื่อเก็บเกี่ยวไตของเขาเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับลูกสาวของนักการเมือง กรณีนี้เน้นย้ำถึงความพยายามในการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่เปราะบางเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์