Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เศรษฐกิจไทยพึ่งจีนหรือสหรัฐฯ มากกว่ากัน? สำรวจผ่านการค้า-การลงทุนปี 67
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เศรษฐกิจไทยพึ่งจีนหรือสหรัฐฯ มากกว่ากัน? สำรวจผ่านการค้า-การลงทุนปี 67

29 เม.ย. 68
18:51 น.
แชร์

ปี 2568 กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญบนเวทีเศรษฐกิจโลก เมื่อการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ จีนและสหรัฐฯ ยกระดับความเข้มข้น ทั้งในมิติการค้า เทคโนโลยี และอิทธิพลภูมิรัฐศาสตร์

การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าแบบกวาดวงกว้าง รวมถึงมาตรการ “ภาษีตอบโต้” ที่ไม่เว้นแม้แต่พันธมิตรดั้งเดิม ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหม่ในระบบการค้าโลก ประเทศไทยในฐานะจุดยุทธศาสตร์ของห่วงโซ่อุปทานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงหลีกเลี่ยงแรงปะทะจากเกมมหาอำนาจนี้ไม่ได้

ในบริบทเช่นนี้ ไทยกำลังเผชิญโจทย์ซับซ้อน คือการรักษาสมดุลในโลกที่กำลังแบ่งขั้ว โดยไม่ถูกดึงให้ต้องเลือกข้าง ไทยจำเป็นต้องเข้าถึงทั้งตลาด เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนจากทั้งสองฝั่ง โดยไม่บั่นทอนอิสระในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของตนเอง

บทความนี้ ทีม SPOTLIGHT ชวนสำรวจเชิงลึกว่า ไทยมีความเชื่อมโยงกับจีนและสหรัฐฯ อย่างไร ผ่านภาพรวมการค้า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และทิศทางของทุนเคลื่อนย้าย ที่อาจใบ้ให้เราเริ่มเห็นชัดขึ้นว่า ไทยกำลังพึ่งพาใครมากกว่า และหากประเทศไทยจำเป็นต้องเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ผลลัพธ์จะสะเทือนไปถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

การค้าไทยพึ่งจีนเพื่อผลิต พึ่งสหรัฐฯ เพื่อขาย

ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศปี 2567 ชี้ชัดว่าจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ด้วยมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 4 ล้านล้านบาท ขณะที่สหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับสองที่ 2.6 ล้านล้านบาท แต่แม้ตัวเลขของจีนจะดูเหนือกว่าในเชิงปริมาณ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสองประเทศนี้ในลักษณะที่ต่างกันอย่างชัดเจน

ในกรณีของจีน ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 2.86 ล้านล้านบาท แต่ส่งออกไปจีนเพียง 1.24 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 1.62 ล้านล้านบาท สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่จำเป็นต่อภาคการผลิต เช่น เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของจีนในฐานะแหล่งเทคโนโลยีและวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไทย

โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ มูลค่า 224,623.34 ล้านบาท
  • เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ มูลค่า 153,051.52 ล้านบาท
  • เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้ง มูลค่า 112,924.1 ล้านบาท
  • เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มูลค่า 110,270.67 ล้านบาท
  • แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 90,055.24 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนกลับเป็นสินค้าขั้นต้น สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าค่อนข้างต่ำ หรือสินค้าที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อย สะท้อนว่าในห่วงโซ่การผลิต ไทยยังอยู่ต้นทาง และจีนคือผู้ต่อยอด ซึ่งอาจทำให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางไปอีกในระยะยาว

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 203,286.64 ล้านบาท
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 103,260.01 ล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 56,720.37 ล้านบาท
  • ยางพารา มูลค่า 52,773.69 ล้านบาท
  • ไม้แปรรูป มูลค่า 45,084.82 ล้านบาท

ตรงกันข้ามกับจีน ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สะท้อนภาพในอีกมุมหนึ่งโดยสิ้นเชิง โดยในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากถึง 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่นำเข้าเพียง 690,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก

ที่สำคัญ สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในรูปแบบวัตถุดิบหรือกึ่งแปรรูป แต่เป็นสินค้าปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเทคโนโลยี อุปกรณ์ไฟฟ้า โทรคมนาคม หรือยานยนต์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะฐานการผลิตระดับโลกที่สามารถป้อนสินค้าไปสู่ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วได้โดยตรง

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่

  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 370,752.14 ล้านบาท
  • เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 162,967.31 ล้านบาท
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด มูลค่า 88,031.7 ล้านบาท
  • หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 73,490.01 ล้านบาท
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 66,525.6 ล้านบาท

ส่วนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กลับมีมูลค่าน้อยกว่าและเน้นไปที่ของเฉพาะทาง เช่น เครื่องจักร ก๊าซธรรมชาติ และเครื่องบินเครื่องร่อน สะท้อนว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นแหล่งวัตถุดิบให้ไทยเท่าจีน โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่

  • เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ มูลค่า 72,332.04 ล้านบาท
  • ก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 40,829.51 ล้านบาท
  • แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 33,234.38 ล้านบาท
  • เครื่องบิน เครื่องร่อน มูลค่า 23,020.7 ล่านบาท
  • ส่วนประกอบ และอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง มูลค่า 21,576.8 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าไทยพึ่งพาจีนในด้านการผลิตต้นน้ำ เช่น การจัดหาชิ้นส่วนและเทคโนโลยี ส่วนกับสหรัฐฯ ไทยอาศัยในฐานะตลาดปลายน้ำสำหรับส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม โครงสร้างลักษณะนี้อาจส่งผลดีในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพ แต่หากเกิดความขัดแย้งทางการค้า หรือการชะลอตัวของตลาดใหญ่ ไทยจะเผชิญความเสี่ยงทั้งจากต้นน้ำและปลายน้ำพร้อมกัน

ในระยะยาว ไทยจึงไม่สามารถฝากอนาคตไว้กับโครงสร้างที่ขึ้นกับสองมหาอำนาจเพียงอย่างเดียวได้ หากต้องการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ประเทศจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมของตนเอง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกระจายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นเพื่อไม่ให้ "ไข่ทั้งหมดอยู่ในตะกร้าใบเดียว"

จีนนำโด่งในแง่ FDI ขึ้นแท่นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์

การลงทุนจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า โดยเฉพาะในยุคที่ความไม่แน่นอนของโลกทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการกลับมาของนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของสหรัฐฯ ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจคือ “จีน” และ “สหรัฐอเมริกา”

แม้ทั้งสองชาติต่างมีบทบาทสำคัญในระบบอุตสาหกรรมไทย แต่ลักษณะของการลงทุนจากจีนและสหรัฐฯ กลับแตกต่างกันในแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนโรงงาน โครงสร้างอุตสาหกรรม รูปแบบของทุน หรือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ 

การไหลทะลักของเงินทุนจีนเข้าสู่ไทยเริ่มชัดเจนตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์เริ่มตั้งกำแพงภาษี และตอบโต้ประเทศที่มีมาตรการกีดกันการค้าไม่เท่าเทียมกับสหรัฐฯ นี่เองที่เป็นแรงผลักให้บริษัทจีนจำนวนมากต้องมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ในต่างประเทศ และประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก ด้วยข้อได้เปรียบด้านทำเล ท่าเรือน้ำลึก แรงงานที่มีทักษะ และนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการลงทุน

ในปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม) มีนักลงทุนจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยจำนวน 810 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 174,638 ล้านบาท มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ทุนจดทะเบียนรวม 47,911 ล้านบาท โดยเป็นทุนจากจีน 42,862 ล้านบาท และจากนักลงทุนไทย 1,631 ล้านบาท

ในส่วนของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีจำนวน 743 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 174,440 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนรวม 60,155 ล้านบาท โดยเป็นทุนจีน 55,164 ล้านบาท และทุนไทย 1,148 ล้านบาท

การกระจายตัวของโครงการตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า การลงทุนจากจีนกระจายตัวอยู่ในทุกภาคอุตสาหกรรม ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและยานยนต์: 178 โครงการ มูลค่า 43,113 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์: 148 โครงการ มูลค่า 41,158 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ: 151 โครงการ มูลค่า 40,630 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี: 132 โครงการ มูลค่า 24,672 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ: 43 โครงการ มูลค่า 9,910 ล้านบาท
  • สาธารณูปโภค: 20 โครงการ มูลค่า 5,647 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมสร้างสรรค์: 32 โครงการ มูลค่า 5,636 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมการแพทย์: 10 โครงการ มูลค่า 2,522 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมบริการมูลค่าสูง: 22 โครงการ มูลค่า 1,071 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล: 7 โครงการ มูลค่า 81 ล้านบาท

ด้านการลงทุนจากสหรัฐฯ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมรวม 66 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 25,739 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนรวม 5,640 ล้านบาท โดยเป็นทุนจากสหรัฐฯ 5,447 ล้านบาท และไม่มีการลงทุนจากนักลงทุนไทยในขั้นตอนการยื่นขอ

โครงการที่ได้รับการอนุมัติมีจำนวน 62 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 30,575 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนรวม 4,668 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นอันดับ 7 แบ่งเป็นทุนสหรัฐฯ 4,328 ล้านบาท และทุนไทย 4 ล้านบาท

โครงสร้างอุตสาหกรรมการลงทุนจากสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าการลงทุนจากสหรัฐฯ กระจายตัวอยู่ในทุกภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยเน้นหนักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเศรษฐกิจฐานความรู้ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์: 15 โครงการ มูลค่า 14,083 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล: 7 โครงการ มูลค่า 7,241 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและยานยนต์: 12 โครงการ มูลค่า 5,252 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ: 3 โครงการ มูลค่า 1,555 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ: 7 โครงการ มูลค่า 1,394 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมการแพทย์: 1 โครงการ มูลค่า 400 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี: 4 โครงการ มูลค่า 342 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมบริการมูลค่าสูง: 9 โครงการ มูลค่า 218 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมสร้างสรรค์: 3 โครงการ มูลค่า 62 ล้านบาท
  • สาธารณูปโภค: 1 โครงการ มูลค่า 27 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล จะเห็นได้ว่าจีนมีข้อได้เปรียบเชิงปริมาณอย่างชัดเจน ทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยการลงทุนส่วนใหญ่เน้นขยายฐานการผลิตแบบดั้งเดิม ช่วยกระตุ้นการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจในได้ดี แต่มีสัดส่วนการลงทุนในภาคเทคโนโลยีใหม่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จีนเข้าไปลงทุน

ด้านสหรัฐฯ แม้จะมีจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนรวมต่ำกว่าจีนหลายเท่า แต่โครงการลงทุนก็เน้นคุณภาพ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เช่น ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมชีวภาพ และบริการมูลค่าสูง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูง ถ่ายทอดเทคโนโลยี และยกระดับทักษะแรงงานไทยได้

ดังนั้น ในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งจีนและสหรัฐฯ จึงมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในการขยายฐานการผลิตของไทยในระยะสั้น และเสริมสร้างขีดความสามารถแข่งขันและการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดของมาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ ที่พุ่งเป้าโจมตีสินค้าจีนมากขึ้น กำลังสะท้อนผลกระทบโดยตรงต่อไทย โดยการที่จีนเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตภายในไทยในช่วงที่ผ่านมา แม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่กลับสร้างความเสี่ยงในสงครามการค้า เพราะไทยเริ่มถูกมองว่าเป็น "ทางผ่าน" ให้สินค้าจีนหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งล่าสุดถูกสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ารวมสูงสุดถึง 972%

จีนยืนหนึ่งลงทุนนิคมอุตสาหกรรมไทย สหรัฐฯ ชิงพื้นที่คุณภาพ

ในมิติการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนจีนยังคงครองสัดส่วนสูงสุดอย่างแข็งแกร่ง ข้อมูลจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า ณ สิ้นปี 2567 จีนมีการตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไทยจำนวน 585 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสะสม 547,769.65 ล้านบาท หรือ 14.3% ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม และสร้างงาน 152,541 ตำแหน่ง

กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่จีนมุ่งเน้น ได้แก่

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์
  • ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น BYD และ GWM
  • แบตเตอรี่และพลังงานใหม่
  • ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
  • โลหะและโครงสร้างพื้นฐาน

แรงส่งสำคัญเกิดจาก "ทรัมป์เอฟเฟ็กต์" ภายหลังสหรัฐฯ เริ่มตั้งกำแพงภาษีการค้ารอบใหม่ นักลงทุนจีนเร่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน โดยเฉพาะไทย ซึ่งมีโลจิสติกส์ดี ราคาที่ดินแข่งขันได้ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ที่กลายเป็นจุดหมายการลงทุนอันดับหนึ่งของจีน ด้วยมูลค่ากว่า 218,767.65 ล้านบาท

นอกจากการลงทุนในภาคผลิตแล้ว นักลงทุนจีนยังตั้งนิติบุคคลในไทยจำนวนมาก เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านการอยู่อาศัยและสิทธิการลงทุนอย่างถูกกฎหมาย โดย ณ สิ้นปี 2567 มีนิติบุคคลจีนจดทะเบียนในไทยถึง 30,455 ราย คิดเป็น 10.2% ของทุนจดทะเบียนจากต่างชาติทั้งหมด รวมมูลค่า 426,062.47 ล้านบาท

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2565 จีนได้แซงญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ขึ้นเป็นสัญชาติที่มีจำนวนผู้ถือใบอนุญาตทำงานในไทยมากที่สุด และแนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2568

ทั้งนี้ ขณะที่จีนเน้นปริมาณการลงทุน สหรัฐฯ เลือกกลยุทธ์เชิงคุณภาพ แม้จำนวนโรงงานและมูลค่าการลงทุนจะน้อยกว่า แต่สร้างอิทธิพลเชิงโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า

ข้อมูลจาก กนอ. ระบุว่า ณ สิ้นปี 2567 นักลงทุนสหรัฐฯ มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไทย 119 แห่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 199,245 ล้านบาท หรือ 5.8% ของการลงทุนต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรมไทย และสร้างงาน 17,628 ตำแหน่ง เป็นอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์

การลงทุนของสหรัฐฯ กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ได้แก่

  • เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี: 11 โรงงาน มูลค่า 66,199.24 ล้านบาท
  • ยานยนต์และอุปกรณ์: 19 โรงงาน มูลค่า 23,067.16 ล้านบาท
  • อาหาร: 5 โรงงาน มูลค่า 9,388.65 ล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์โลหะ: 8 โรงงาน มูลค่า 4,122.45 ล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์พลาสติก: 8 โรงงาน มูลค่า 2,788.13 ล้านบาท
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์: 5 โรงงาน มูลค่า 1,078.25 ล้านบาท
  • รวมถึงอีก 24 โรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (มูลค่ารวม 39,819.40 ล้านบาท)

ดังนั้น ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งสองมหาอำนาจ เศรษฐกิจไทยไม่ควรจำกัดตัวเองด้วยการ "เลือกข้าง" ระหว่างจีนหรือสหรัฐฯ แต่ควรดำเนินยุทธศาสตร์ "คัดกรองเชิงคุณค่า" อย่างจริงจัง โดยสนับสนุนเฉพาะการลงทุนที่มีศักยภาพในการยกระดับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าต้นทางจะมาจากชาติใด

สำหรับเงินทุนจากจีน รัฐบาลควรกำหนดมาตรการกลั่นกรองที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในด้านการถือครองที่ดิน การอนุมัติใบอนุญาตทำงาน และการตั้งนิติบุคคล เพื่อป้องกันการใช้ไทยเป็นเพียงฐานพักอาศัยหรือทางผ่านสำหรับวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตจริง

ในขณะเดียวกัน ไทยควรดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อดึงดูดทุนจากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มช่วยยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ BOI ให้มีความเฉพาะเจาะจงและตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น มุ่งสร้างสมดุลระหว่าง "ปริมาณ" และ "คุณภาพ" ของการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมลดความเสี่ยงจากการเปิดรับทุนทุกประเภทโดยปราศจากการพิจารณาเชิงกลยุทธ์

หากสามารถดำเนินตามสองแนวทางนี้ได้อย่างจริงจัง ไทยจะมีฐานะที่แข็งแกร่งขึ้นในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยสามารถบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทย และช่วยลดโอกาสที่จะถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ในอนาคต

SCB EIC มองไทยควรเพิ่มการนำเข้าสินค้าพลังงาน-เครื่องจักรเพื่อปรับสมดุลการค้า

SCB EIC วิเคราะห์ว่า การเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนภายหลังสงครามการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าดาวรุ่ง เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายภาพ ซึ่งบางส่วนอาศัยกลไกสวมสิทธิทางการค้า (trade circumvention) เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษี

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เติบโตอย่างออร์แกนิก เช่น รถยนต์ ยางรถบรรทุก และอาหารสัตว์เลี้ยง ยังคงขยายตัวตามศักยภาพพื้นฐานของไทยเอง และมีความเสี่ยงต่อมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ ต่ำกว่าสินค้ากลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญ

ในบริบทนี้ SCB EIC มองว่า กลยุทธ์ของไทยควรมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีดุลขาดดุลถึง 5,330 ล้านดอลลาร์ มากกว่าการมุ่งนำเข้าสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว (ไทยขาดดุลสินค้าเกษตรกับสหรัฐฯ 801 ล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์อัจฉริยะจากสหรัฐฯ ยังสอดคล้องกับนโยบาย Made in America และจะช่วยลดการเกินดุลได้ในแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการเน้นสินค้าเกษตรทั่วไป

ทั้งนี้ หากไทยไม่สามารถเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ไทยจะต้องเผชิญกับภาษี 36% ภายใต้นโยบายตอบโต้ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมียุทธศาสตร์การค้าใหม่ที่มีความสมดุล แข็งแกร่ง และสามารถรักษาอำนาจการเจรจาในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้จริง

ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าเชิงรุกของสหรัฐฯ ไทยยังมีโอกาสขยายส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 35% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ กลุ่มสินค้าดังกล่าวยังเป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่โอกาสนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อไทยสามารถรักษาอัตราภาษีให้น้อยกว่าจีนและเวียดนาม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ท้าทายอย่างมาก

ขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้าความเสี่ยงสูง เช่น ของเล่นและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อาจถูกกระทบหนักหากอัตราภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น คู่แข่งสำคัญอย่างเม็กซิโก แคนาดา และอินโดนีเซีย พร้อมที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดหากไทยเสียเปรียบในการตั้งราคา

ความได้เปรียบที่ไทยจะได้รับจากภาวะกีดกันจีนและเวียดนามจึงมีขอบเขตจำกัด และไทยจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างโครงสร้างการค้ากับสหรัฐฯ ให้มีความยืดหยุ่นสูงขึ้น ผ่านแนวทางที่เน้นการเติบโตแบบออร์แกนิกในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบแท้จริง เช่น ยางพารา อาหารแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม พร้อมกันนี้ ไทยต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าพลังงานและเทคโนโลยี เพื่อปรับโครงสร้างการค้าระยะยาวให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น

Bloomberg รายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวในงานสัมมนาของหอการค้าอเมริกันในกรุงเทพฯ โดยยอมรับว่า “การเจรจากับสหรัฐฯ ค่อนข้างยาก” พร้อมระบุว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายเพราะภาษี” ทักษิณยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลในการค้าระหว่างประเทศว่า ไทยขาดดุลอย่างมหาศาลกับจีน แต่เกินดุลในระดับปานกลางกับสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งปรับนโยบายอย่างจริงจัง แม้ว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดในไทย (เกือบ 28% ของเงินลงทุนจากต่างประเทศในช่วงปี 2565–2567 เทียบกับสหรัฐฯ เพียง 8%)

การที่อดีตนายกฯ ระบุว่าไทย "พร้อมจะไปเมื่อไรที่สหรัฐฯ เรียกหา" ยังสะท้อนท่าทีเชิงรับที่อาจบั่นทอนอำนาจการต่อรองของไทย และเสี่ยงต่อการยอมรับเงื่อนไขการค้าที่ไม่เอื้อประโยชน์ในระยะยาว หากไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการเจรจาให้แข็งแกร่งและมีจุดยืนที่ชัดเจนมากกว่านี้






แชร์
เศรษฐกิจไทยพึ่งจีนหรือสหรัฐฯ มากกว่ากัน? สำรวจผ่านการค้า-การลงทุนปี 67