ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศมาตรการ "ภาษีตอบโต้" (reciprocal tariffs) ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศที่ถูกกำหนดอัตราภาษีไว้สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกัมพูชา ซึ่งสูงถึง 49% ในขณะที่ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ ต้องพึ่งพาการส่งออกสูง โดยเฉพาะสินค้าสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักไปยังสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันลดลงอย่างมาก เป็นวิกฤตให้ผู้ประกอบการในกัมพูชาอาจต้องลดการผลิตหรือปิดกิจการ และปลายทางในห่วงโซ่นี้ ก็คือ “แรงงานกัมพูชา” ที่จะต้องเผชิญกับการว่างงานและซ้ำร้ายความยากจนข้นแค้นเข้าไปอีก
ซาบินา ลอเรเนีย บรรญาธิการข่าว CNA แสดงความคิดเห็นผ่านบทความระบุว่า นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่กลับมีรายงานเกี่ยวกับคนงานที่ยากจนที่สุดในโลกน้อยมากว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างไร
ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) กัมพูชาเป็นประเทศกำลังพัฒนา เพราะประชากร 17.8% อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนระดับชาติ จากประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน มีอย่างน้อย 1 ล้านคนเป็นแรงงานชาวกัมพูชาในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พวกเขาได้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยที่เดือนละ 208 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กมากกว่า 80% รายได้ของพวกเขาส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เลี้ยงดูลูกและพ่อแม่ที่แก่ชรา แน่นอนว่า ครอบครัวของแรงงานเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกลุ่มเปราะบางเช่นกัน หากภาษีทรัมป์มีผลบังคับใช้จริงในอนาคต
ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยว่า จริงๆ แล้วภาษีศุลกากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสียหายให้จีน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนจากจีนขยายตัวในประเทศเล็ก ๆ ไม่ไกลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยุทธศาสตร์หนึ่งคือพื้นที่อาเซียน แม้การเมืองในประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยมั่นคง แต่ก็มีช่องว่างอำนวยให้ทุนจีนเข้ามาลงทุนโดยตรง
เคซีย์ บาร์เน็ตต์ ประธานหอการค้าอเมริกันในกัมพูชา นี่เป็นวิธีการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ ในปี 2016 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในวาระแรก มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกพุ่งสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเกือบ 30% ของ GDP ของประเทศ รัฐบาลกัมพูชาเผยว่าปัจจุบันโรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศเป็นของชาวจีน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายหวง เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าชาวจีนที่ลงทุนทำโรงงานในกัมพูชามาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เขาสารภาพว่ากังวลเกี่ยวกับภาษีทรัมป์ ที่พุ่งเป้าโจมตีสินค้าจีนแต่ผลิตในกัมพูชา และโรงงานของเขาก็จะโดนไปด้วย เพราะ 60% ของสินค้าที่โรงงานต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ โดยสินค้าของเขาจะไปขายให้กับผู้ค้าปลีกที่คุ้นเคยอย่างห้างวอลมาร์ทและคอสท์โก แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ นั่นเอง
หวงเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อขาเข้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศภาษีนำเข้าจากจีนรอบใหม่ ชี้ให้เห็นว่าผู้ค้าปลีกอเมริกันเริ่มกักตุนสินค้า เพราะภาษีอาจประกาศใช้จริงในเร็ว ๆ นี้
วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า รัฐบาลทรัมป์วางแผนที่จะ "ใช้การเจรจากับประเทศต่างๆ มากกว่า 70 ประเทศ เพื่อขอให้พวกเขาไม่อนุญาตให้จีนส่งสินค้าผ่านประเทศเหล่านั้น และป้องกันไม่ให้บริษัทจีนตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนของพวกเขาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ และไม่ดูดซับสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกของจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ขณะที่ประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง แห่งจีน เดินทางเยือนกรุงพนมเปญเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วยตนเอง ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการรับมือทางเศรษฐกิจต่อภาษีทรัมป์ร่วมกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ดูเหมือนว่าเรากำลังเข้าสู่สงครามการค้าตัวแทน ซึ่งวอชิงตันและปักกิ่งอาจลงโทษประเทศอื่น ๆ สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ดังนั้น กัมพูชาในฐานะประเทศตัวแทนการต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องวางท่าทีให้ดีเพื่อพ้นภัยจากสงครามการค้าอันดุเดือดในครั้งนี้
ปัญหาของกรุงพนมเปญก็คือค่อนข้างขยับตัวได้ยาก เพราะต้องพึ่งพาทั้งสองมหาอำนาจในการพัฒนาประเทศ การแยกตัวจากจีนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมส่งออกทั้งหมดของประเทศสร้างขึ้นจากการนำเข้าและการลงทุนของจีน ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งก็คือรากฐานของเศรษฐกิจนั้น อยู่ติดกับการขนส่งสินค้า โดยพื้นฐานแล้ว ผ้าหรือฝ้ายเกือบทั้งหมดนำเข้าจากจีน เย็บเข้าด้วยกันในโรงงานของกัมพูชา แล้วขายให้กับผู้บริโภคชาวตะวันตก (ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน) และโรงงานเครื่องนุ่งห่มจำนวนมากเป็นของชาวจีน
แม้จะให้การต้อนรับการเยือนจากจีนอย่างแน่นแฟ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และประกาศต่อสาธารณะว่า จะเพิ่มการตรวจสอบสินค้าที่มาจากจีนด้วย ทั้งนี้ กัมพูชาพยายามวางตัวเป็นกลางให้ได้มากที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา กล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของกัมพูชาไม่ลำเอียงหรือแยกตัวจากประเทศใดประเทศหนึ่ง กัมพูชาจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศโดยยึดหลักความเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย และผลประโยชน์ร่วมกัน นี่อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่กัมพูชาพอจะเคลื่อนไหวได้ เพื่อพยุงให้กลุ่มเปราะบางในประเทศยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด