เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวอเมริกัน 3 รายถูกปลดออกขณะปฏิบัติภารกิจในเมียนมาหลังเกิดแผ่นดินไหว สืบเนื่องจากนโยบายยกเลิกความช่วยเหลือต่างประเทศของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID)
มาร์เซีย หว่อง อดีตเจ้าหน้าที่ของ USAID เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือชาวอเมริกันได้รับแจ้งว่าจะถูกเลิกจ้างภายในปลายสัปดาห์นี้ ทั้งที่เพิ่งเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรม
“ทีมนี้ทำงานหนักมาก เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ การได้รับข่าวว่าจะถูกเลิกจ้างแบบนี้ ใครจะไม่หมดกำลังใจ?” หว่องกล่าว พร้อมระบุว่าการตัดงบประมาณครั้งใหญ่ของ USAID ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการให้ความช่วยเหลือ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้คำมั่นว่า จะมอบเงินช่วยเหลืออย่างน้อย 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศเมียนมา หลังเผชิญแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 3,300 ราย หลายประเทศได้เร่งส่งความช่วยเหลือ อาทิ จีน รัสเซีย และอินเดีย
รัฐบาลทรัมป์ได้ปลดเจ้าหน้าที่ของ USAID แทบทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อีลอน มัสก์ ผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลของสหรัฐฯ ได้ตัดงบประมาณและเลิกจ้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
หว่องกล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสามคนที่ถูกปลดกะทันหันต้องนอนกลางแจ้งในพื้นที่ประสบภัยร่วมกับชาวบ้านที่ยังคงหวาดกลัวอาคารถล่มเพิ่มเติม โดยการเลิกจ้างอย่างเป็นทางการจะมีผลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
อดีตเจ้าหน้าที่ USAID หลายรายเปิดเผยว่า บุคลากรส่วนใหญ่ที่เคยมีบทบาทในการประสานงานรับมือแผ่นดินไหวในครั้งนี้ได้ถูกปลดออกไปแล้ว ขณะที่พันธมิตรที่เป็นองค์กรภายนอกก็ถูกยกเลิกสัญญาเช่นกัน
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ ได้ออกมาปฏิเสธเสียงวิจารณ์ โดยให้สัมภาษณ์ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันศุกร์ว่า การยุบโครงการของ USAID ไม่ใช่ต้นเหตุหลักของปัญหา เพราะ “เมียนมาไม่ใช่สถานที่ที่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น” พร้อมชี้ว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และขัดขวางการดำเนินภารกิจช่วยเหลือ
รูบิโอยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ จะไม่แบกรับหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลักของโลกอีกต่อไป โดยระบุว่า ไม่เป็นธรรมที่สหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบงบประมาณถึง 60–70% ของความช่วยเหลือมนุษยธรรมทั่วโลก และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยอื่น ๆ เช่น จีนและอินเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังคงจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ
ประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อแนวทางการบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีการรวมตัวประท้วงมากกว่า 2,000 จุดใน 50 รัฐทั่วประเทศ ภายใต้แคมเปญชื่อ “Hands Off” โดยการประท้วงพุ่งเป้าไปที่การบริหารงานของกระทรวงประสิทธิภาพ ซึ่งมีอีลอน มัสก์ เป็นผู้นำในการปรับโครงสร้างระบบราชการ และใช้อำนาจบริหารเกินขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
การปฏิรูปรัฐบาลกลางในครั้งนี้นำไปสู่การปลดพนักงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง และลดสิทธิประโยชน์จำนวนมาก โดยเฉพาะในกรมสรรพากรและสำนักงานประกันสังคม
ไมค์ แฮนนา ผู้สื่อข่าวจาก Al Jazeera รายงานว่า “นี่เป็นหนึ่งในการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทรัมป์เริ่มดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง และอาจสะท้อนความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนชาวอเมริกัน”
พร้อมระบุว่าผู้ชุมนุมมีความหลากหลายในแง่อายุและภูมิหลัง
นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมประท้วงของชาวอเมริกันในต่างประเทศ อาทิ กรุงเบอร์ลิน แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส และลอนดอน
ในกรุงปารีส ผู้ประท้วงประมาณ 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ได้รวมตัวที่จัตุรัสปลาส เดอ ลา เรอปูบลีก พร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า “ต่อต้านทรราช” “หลักนิติธรรม” และ “เฟมินิสต์เพื่อเสรีภาพ ไม่ใช่ลัทธิฟาสซิสต์”