เมื่อชัดเจนแล้วว่าไทยกำลังเผชิญ ‘แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ’ ลูกใหญ่ จากภาษีตอบโต้สูงลิ่วถึง 36% จากรัฐบาลสหรัฐฯ บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างพร้อมใจกันส่งสัญญาณเตือน ออกมาแสดงความคิดเห็น พร้อมประเมินสถานการณ์ว่าวิกฤตครั้งนี้อาจสั่นคลอนเศรษฐกิจทั้งระบบ
บทความนี้ SPOTLIGHT ขอพาคุณลงลึกบทวิเคราะห์ เปิดแผนที่แรงสั่นของ ‘แผ่นดินไหวเศรษฐกิจ’ ครั้งใหญ่ ที่กำลังเขย่าโลก และจ่อถล่มไทยเต็มแรง!
จากรายงานของ Innovest X การวิเคราะห์ด้วย Sensitivity Analysis ชี้ว่า ภาษี 36% นี้อาจทำให้ GDP ไทยหดตัวแรงถึง -3.6% และส่งออกอาจหดตัว -7% หากไม่มีมาตรการรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเจรจาหรือการลดดอกเบี้ยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในกรณีเลวร้าย ที่ไทยไม่สามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจติดลบถึง -1.1% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.5%
เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าวอย่างละเอียด Innovest X แบ่งสถานการณ์เศรษฐกิจไทยออกเป็น 4 แบบ ได้แก่
สถานการณ์พื้นฐานก่อนประกาศใช้มาตรการ
กรณีฐาน (หากเจรจาได้สำเร็จ ลดอัตราภาษีเป็น Universal Tariff 10%) – โอกาสเกิด 50%
กรณีเลวร้าย (ไทยเจรจาไม่สำเร็จ โดนเก็บภาษีตามจริงที่ 36%) – โอกาสเกิด 40%
กรณีฝันร้าย (ทุกประเทศตอบโต้กันเอง เกิดสงครามภาษีทั่วโลก) – โอกาสเกิด 10%
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า Innovest X ประเมินว่าไทยมีโอกาสเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีตอบโต้ลงเหลือ 10% ได้สำเร็จ แต่หากไม่สำเร็จ เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสติดลบ เลวร้ายสุดถึงติดลบ 10-20% ขณะที่การส่งออกสินค้าอาจได้รับผลกระทบถึง -30% ซึ่งย่ำแย่พอๆ ภาวะ The great depression ในช่วงปี 1930
Innovest X เชื่อว่าภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้ ทุกประเทศที่โดนอัตราภาษี reciprocal tariff จะเร่งไปเจรจากับสหรัฐฯ ทำให้การเจรจาเริ่มจบ โดยอาจลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ประเทศของตนเอง ยอมจำนนสินค้าสหรัฐมากขึ้น และ/หรือ ตั้งแพงภาษีตอบโต้ โดยในกรณีไทย หากเจรจาสำเร็จ อาจเหลือเพียงแค่ 8% จากที่สหรัฐฯ ตั้งไว้ที่ 36%
นาย อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้าสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เพราะไทยส่งออกคิดเป็น 60% ของ GDP โดยเกือบ 20% ของยอดส่งออกมุ่งไปยังสหรัฐฯ
โดยหากการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเต็มที่ อาจทำให้ GDP ไทยเติบโตต่ำกว่า 2% และหากการส่งออกไปสหรัฐฯ ชะลอตัว จะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น สินค้าที่ส่งต่อไปจีน เวียดนาม หรือยุโรป
นอกจากนี้ ภาคท่องเที่ยวก็อาจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจโตจาก 35.5 ล้านคนปีที่แล้ว มาอยู่ที่ราว 37–38 ล้านคน แต่คงไม่ถึง 39 ล้านตามเป้าหมาย ต้องรอดูความชัดเจนก่อนสงกรานต์นี้อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่ามาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ อาจกระทบจีดีพีไทย 0.2-0.6% ซึ่งทำให้ GDP ไทยลดต่ำกว่า 2% เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ซึ่งเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงต้องจับตาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยหลังถูกกันไม่ให้เข้าตลาดสหรัฐฯ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปี จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และเพิ่มความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยการปรับขึ้นภาษีศุลกากรในครั้งนี้ ครอบคลุมสินค้านำเข้าจากเกือบ 60 ประเทศ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5–9 เมษายนนี้ ยกเว้นบางรายการ เช่น พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ ยา และทองคำ ซึ่ง TISCO ESU ประเมินว่า อัตราภาษีเฉลี่ยของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นราว 14–16 จุด ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP ตามประมาณการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ทุก 1 จุดของภาษีที่เพิ่มขึ้น จะกดดัน GDP ราว -0.14 จุด
TISCO ประเมินว่า มาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อไทยที่ใช้อัตราภาษี 36% จะฉุด GDP ไทยลดลงราว 1.35 จุด จากที่คาดว่าจะโต 2.8% เหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการต่อรอง เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรสหรัฐฯ หรือการเพิ่มโควต้านำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่มีลักษณะใกล้เคียง
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านการลงทุนจากต่างประเทศที่อาจชะลอตัวลง และมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5% ในปีนี้ เหลือ 1.50% ภายในสิ้นปี