ในเช้าวันสงกรานต์ของทุกปี ยังไม่ 05:00 นาฬิกาดีด้วยซ้ำไป แต่รถขยะจำนวนมากกำลังวิ่งเข้า-ออกจากจุดปล่อยรถ ณ ส่วนงานรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพระนคร ตามปกติแล้ว จะมีการปล่อยรถเพียง 1 คันในวันธรรมดา แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยเช่นนี้ รถจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 คัน ทั้งยังพาพนักงานเก็บสิ่งปฏิกูลไปด้วย 20-30 คน จากเดิมจะมีเพียง 1-2 คนต่อรถเท่านั้น
“ปกติแล้วมีรถขยะวิ่งตรอกข้าวสาร 1 คัน และไกรศรี 1 คัน ช่วงสงกรานต์ก็ต้องเพิ่มเป็น 4-5 คัน คนงานประจำรถก็ต้องเพิ่มด้วย คนกวาดก็ต้องเพิ่มด้วย อย่างตรอกข้าวสาร ปกติมีพนักงานกวาดขยะ 1-2 คน พอช่วงสงกรานต์ก็ต้องเพิ่มมาเป็น 30 คน” เรณู กลิ่นเอี่ยม หัวหน้าผู้ควบคุมงานกวาดเขตพระนครกล่าว
คุณณิชชา ชัยศุภมาศ หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะเขตพระนครเล่าว่า ช่วงระยะเวลา 3-4 วันของการเล่นน้ำในเขตพระนคร ปริมาณขยะเพิ่มสูงถึง 200 ตันต่อวัน จากปกติที่ชาวพระนครสร้างขยะวันละ 142 ตัน ขยะส่วนใหญ่มาจากจุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตคือ ตรอกข้าวสาร บริเวณรอบตรอกข้าวสาร สนามหลวง และถนนไกรศรี
เฉพาะขยะจากตรอกข้าวสารในหนึ่งวันของช่วงสงกรานต์ก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 ตัน เป็น 15 ตันแล้ว นายพจน์ มลิวัลย์ พนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดเบากล่าวเสริม “ตรอกข้าวสาร จากขยะวันละห้าตันต่อวันในวันธรรมดา พอช่วงสงกรานต์ ประมาณ 15 ตันต่อวันหรือมากกว่า นี่แค่ข้าวสารที่เดียว”
ส่วนที่ถนนสีลม เขตบางรัก มีการปิดถนนให้ประชาชนได้ฉลองสงกรานต์ตั้งแต่บริเวณถนนพระราม 4 จนถึงบริเวณถนนนราธิวาส ปริมาณขยะช่วงสงกรานต์ก็เพิ่มขึ้นไม่แพ้เขตพระนคร
คุณพรพัน วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางรักกล่าวว่า ปริมาณขยะที่ฝ่ายเก็บกวาดขยะเก็บได้ในรอบทำความสะอาดเวลา 21:00 นาฬิกา หรือหลังงานฉลองเลิกแล้วมีจำนวนมากขึ้นราว 2.5 เท่า รถขยะขนาด 5 ตันที่เคยใช้ 2 คันต้องเพิ่มขึ้นเป็น 5 คัน เสริมทัพด้วยรถขยะความจุ 3 ตันอีก 2 คัน
คุณพรพันอธิบายถึงการเตรียมงานบริเวณถนนสีลม จุดเล่นน้ำที่คับคั่งที่สุดในเขตบางรักว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งคือ ความปลอดภัย แต่การจัดการขยะก็เป็นอีกสิ่งที่เขตบางรักให้ความสำคัญมาก โดยปีนี้ ถนนสีลมจะจัดสงกรานต์ ปิดถนนให้คนเล่นน้ำระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน
เมื่อถามถึงประเภทขยะที่พบมากในช่วงสงกรานต์ คุณณิชชาเล่าว่า “ที่ถนนข้าวสารขวดแก้วเยอะ แก้วพลาสติกก็เยอะ กระป๋องแป้งและขันน้ำ ปืนฉีดน้ำด้วย”
คล้ายกันกับเขตพระคร คุณธนภัทร ชาญศิล เจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาดอาวุโสเขตบางรัก และ นายเทวินท์ วงค์กองแก้ว นักจัดการงานรักษาความสะอาดปฏิบัติการเขตบางรักชี้ว่า มักพบแก้วพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ที่ใช้สำหรับการสังสรรค์ ยังดีที่ขยะพลาสติกเหล่านี้ แม้มีปริมาณมาก แต่ก็สามารถทำไปรีไซเคิลได้ ทั้งยังไม่สร้างอันตรายแก่พนักงานปฏิบัติการมากนัก แต่หากเป็นขวดแก้ว อย่างขวดบรรจุของมึนเมาแล้ว หากแตกขึ้นมา อันตรายจะตกอยู่ที่พนักงานกวาดและเก็บสิ่งปฏิกูล
คุณหน่อย (ไม่สะดวกเปิดเผยชื่อจริง) พนักงานกวาดขยะบริเวณกองสลากเก่า ถนนราชดำเนินกลางเล่าว่า เธอเคยถูกเศษขวดแก้วที่รถยนต์ขับทับจนกระเด็นมาบาดบริเวณขาได้รับบาดเจ็บ
“ช่วงหน้าเทศกาล ขวดแก้วนี่น่ากลัวค่ะ บางทีรถขับเหยียบไป มันก็กระเด็นมาโดนเรา”
คุณเรณูยังเล่าด้วยว่า “เรามีถุงมือยาง มีผ้ากันเปื้อน แต่ตอนที่เรายกขยะเทก็มีพลาดได้บ้าง เพราะตอนยกหรือเหวี่ยง ยังไงก็ต้องเฉียดมือเรา บางครั้งเราไม่รู้ว่ามันแตกหรือไม่แตก ประชาชนเขาต่างคนต่างทิ้ง ต่างมัดมาวาง เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าข้างในคืออะไร”
บรรดาพนักงานกวาดขยะแนะนำว่า ขยะขวดแก้วควรแยกออกมาจากขยะอื่นๆ และทำสัญลักษณ์หรือเขียนบอก เพื่อให้พนักงานเก็บขยะทราบ จะได้เพิ่มความระมัดระวัง แต่แม้หลายคนจะเคยทำ แต่ความวุ่นวายอลหม่านของสงกรานต์ก็ทำให้หลายคนมองข้ามการแยกขยะขวดแก้วแตกไป
“บางครั้งร้านค้าก็มีการแยกขวด แต่เมื่อมันเยอะเกินไปอย่างช่วงสงกรานต์ เขาก็แยกไม่ทัน เขาไม่เอาแล้ว เขาทิ้งเลย” คุณณิชชากล่าวเล่าว่าการแยกขวดแก้วแตกและขวดแก้วในช่วงสงกรานต์นั้นลดลงกว่าช่วงเลาปกติเนื่องจากจำนวนขยะที่มากขึ้น และงานที่ล้นมือของร้านค้าบริเวณตรอกข้าวสารเองด้วย
“รองเท้าบู๊ทยังโดนเสียบเลย” คุณพิเชษฐ์ ภู่เพ็ชร ผู้ควบคุมงานฝ่ายรักษาความสะอาดเขตพระนคร ผู้เริ่มงานในหน่วยงานทำความสะอาดฯ เมื่อ 36 ปีก่อน เล่าถึงอันตรายจากเศษขวดแก้วต่อการทำงานของพนักงานเก็บและกวาดขยะ เขาบอกว่า การทำงานในช่วงสงกรานต์ที่ต้องเปียกน้ำอยู่เสมอนั้น บางครั้งพนักงานก็เปลี่ยนมาใส่รองเท้าผ้าใบ หรือทำงานด้วยเท้าเปล่าเพื่อความสะดวก แต่เป็นความสะดวกที่มาพร้อมความเสี่ยง
อุปกรณ์ง่ายๆ อีกชิ้นหนึ่งที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงบาดเจ็บจากแก้วแตกคือ ถุงขยะแบบใส โดยปกติถุงขยะที่ใช้กันทั่วไปคือถุงขยะสีดำที่ทำจากขยะรีไซเคิล ซึ่งมีราคาถูกกว่าและบางกว่า แต่ในเทศกาลรื่นเริง เจ้าหน้าที่เก็บกวาดขยะจะใช้ถุงพลาสติกใสสวมไว้ตามถังแบบห่วงที่แยกประเภทขยะไว้เสร็จสรรพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รู้ได้ว่า ภายในมีขยะอันตรายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเศษขวดที่แตก หรือของอันตายอย่างระเบิดปิงปอง ที่คุณพิเชษฐ์กล่าวว่า อาจพบได้บ้างในกองขยะ ทั้งยังเป็นสิ่งที่ฝั่งเขตบางรักเป็นห่วงมาก สำนักสิ่งแวดล้อมมีบริการถุงขยะแบบใสให้เขตที่มีการจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์สามารถเบิกได้ไม่จำกัด
แป้งคือขยะอีกชนิดที่เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดต่างส่ายหน้าใส่ มีการรณรงค์งดการเล่นแป้งทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหาคร เพื่อลดการคุกคามทางเพศ แต่นอกเหนือจากแป้งจะเปิดทางให้หลายคนฉวยโอกาสแตะเนื้อต้องตัวผู้อื่นโดยพลการ แป้งและดินสอพองทำให้การจัดการขยะยากขึ้นมาก
“แป้งนี่เป็นปัญหาที่สุด คือถนนข้าวสารนี่ไม่มี แต่รอบนอกนี่แป้งทั้งนั้น แป้งกองรวมกันหนาเป็นขี้โคลน กวาดไม่ได้ ทำความสะอาดยากมาก ต้องใช้น้ำฉีดอย่างเดียว” คุณพจน์กล่าว มีคุณเรณูเสริมว่า มักพบแป้งเป็นจำนวนมากบริเวณถนนจักรพงษ์และถนนตะนาว
นอกจากทำให้กองขยะดูเฉอะแฉะทำความสะอาดยาก จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้พลั่วโกยกองแป้งบนพื้นทิ้ง ยังต้องใช้น้ำฉีดทำความสะอาดคราบแป้งบนพื้นถนน และบนพื้นผิวต่างๆ ทุกวัน เพราะการทิ้งแป้งไว้นานเกินไป จะทำให้เศษแป้งทับถมจนหนาเตอะ เหนียวเหนอะ ทำความสะอาดยากขึ้น อาจทำให้ท่อน้ำอุดตันได้ และทำให้แหล่งน้ำใกล้เคียงปนเปื้อนได้อีกด้วย คราบแป้งและดินสอพองเป็นตัวการทำให้น้ำที่รถขยะใช้ทำความสะอาดพื้นถนนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากที่ใช้ช่วงปกติ เป็นการฉีดน้ำช่วงสงกรานต์ที่ไม่สนุกสักเท่าไหร่นัก
หากถามว่า พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนเล่นสงกรานต์บริเวณถนนข้าวสารและสีลมเปลี่ยนไปจากอีต (ราว 5 ปีก่อน) อย่างไร ทั้งเขตพระนครและเขตบางรักกล่าวว่า “ขยะมีปริมาณมากขึ้น แต่คนก็แยกขยะมากขึ้นเช่นกัน”
คุณณิชชาชี้ถึงความพยายามในการคัดแยกขยะของเขตพระนครกล่าวว่า บริเวณตรอกข้าวสารมีการเตรียมจุดคัดแยกขยะรับรอง 7 จุดบริเวณเข้าออกตรอกเข้าสารที่เป็นจุดสกัด แต่ภายในเป็นส่วนที่ส่วนงานดูแลความสะอาดไม่สามารถเข้าไปได้เพาะคนหนาแน่นมาก หากใครเคยไปงานสงกรานต์ที่ตรอกข้าวสารคงจะนึกภาพออกได้ไม่ยาก ไม่มีแม้แต่ที่ให้ตั้งถังขยะ เจ้าหน้าที่คงไม่ต้องพูดถึง
ฉะนั้นร้านค้าต่างๆ จึงจะเป็นผู้เตรียมถังขยะไว้บริการลูกค้า จากนั้นค่อยรวบรวมมาวางไว้ให้พนักงานเก็บขนเก็บรวบรวมต่ออีกที อย่างไรก็ตามคุณณิชชาเน้นย้ำว่า เขตพระนครแยกขยะเศษอาหารในบริเวณที่ทำได้แน่นอน ด้านสำนักงานเขตบางรักอธิบายถึงความพยายามสนับสนุนการแยกขยะของเขตว่า มีการเพิ่มจำนวนถังเหล็กเข้าไปบริเวณถนนสีลม 8 จุด และเพิ่มถังสามหัว ที่ใช้คู่กับถุงพลาสติกแบบใสเพื่อความปลอดภัยเข้าไปตลอดเส้นทางเช่นกัน คุณพรพันชี้ว่า การแยกขยะช่วยลดของเหลวที่เป็นผลิตภัณฑ์จากการบดอัดขยะบนรถขยะได้ ช่วยลดกลิ่นเหม็นของรถเก็บขยะได้อีกทาง
จะเป็นช่วงสงกรานต์หรือไม่ การคัดแยกขยะก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เน้นการแยกขยะมูลฝอยออกเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดที่ปลายทาง คือบ่อขยะ และเนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่กรุงเทพฯ ใช้ไปกับการกำจัดขยะมีมากมายเหลือเกิน จึงเกิดการรณรงค์กับภาคประชาชนให้นำขยะบางประเภทที่ยังใช้ประโยน์ได้อยู่ไปใช้ก่อนจะตัดสินใจทิ้ง
เมื่อเดือนตุลาคมปี 2567 สภากรุงเทพมหานครผ่านมติปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเก็บขยะสำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ จากเดิมเดือนละ 20 บาทเป็นเดือนละ 60 บาท (หากมีขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อเดือน) ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อให้เจ้าหน้าทีตรวจสอบการคัดแยกขยะในครัวเรือนได้ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการคัดแยกขยะก็จะจ่ายค่าธรรมเนียม 20 บาทตามเดิม
อีกหนึ่งอุปสรรคของเจ้าหน้าที่เก็บและกวาดขยะคือคนเมา การเก็บขยะและฉีดล้างถนนในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่มักจะต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่เพิ่งเลิกงานสังสรรค์มาไม่นาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลายคนงุนงงและยังเมามายจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดปากเสียงหรือกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้นานๆ ครั้ง โดยเฉพาะช่วงเช้าราว 05:00-07:00 นาฬิกา
“เขามีการปิดงานตอนสี่ทุ่ม แต่ประชาชน นักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับ เขาก็ยังสนุกกันต่อจนถึงเช้า อย่างถ้าเป็นรอบนอก อย่างแถบถนนตะนาว ถนนตานี ถนนไกรศรี เราเข้าได้ตั้งแต่ช่วงตีห้า ยกเว้นข้าวสาร” ณิชชากล่าว
“ที่ข้าวสาร กว่าจะเลิกฉลองกันบางทีถึงเจ็ดโมง แล้วขยะกองมหึมามหาศาลมาก แล้วหลังเจ็ดโมง แล้วเจ็ดโมงต้องรีบเข้าทำงานทันที เพราะแปดโมงครึ่งเขาก็เริ่มมาใหม่แล้ว คือเพิ่งเก็บขยะเสร็จก็เริ่ม [มีขยะ] ใหม่ทันที” เรณูกล่าว
คุณพิเชษฐ์ชี้ว่า อีกช่วงเวลาที่อาจเป็นปัญหาคือหลัง 22:00 นาฬิกา (21:00 นาฬิกาหากเป็นกรณีสีลม) เนื่องจากเป็นช่วงที่การเล่นน้ำในตรอกข้าวสาร “ปิด” อย่างเป็นทางการ และรถฉีดน้ำจะต้องเข้าไปทำความสะอาดถนนตามตารางที่เตรียมไว้ แต่เพราะการเล่นอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ดำเนินต่อ จึงอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้มาร่วมสนุกเช่นเดียวกับช่วงเช้าตรู่ที่การละเล่น “อย่างไม่เป็นทางการ” จบลง
ทั้งสองเขตยืนยันว่า ไม่มีการปะทะวาจากันบ่อยนัก และยังไม่เคยมีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่มักจะขอความร่วมมือในการทำความสะอาดอย่างสุภาพ หรือเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้ ก็เจ้าหน้าที่จะมีแรงไปมีปัญหาอีกได้อย่างไร ในเมื่อการพักผ่อนือสิ่งที่เจ้าหน้าที่หาแทบไม่ได้
“ทั้งปีสงกรานต์นี่เหนื่อยที่สุด ปีใหม่กับลอยกระทงที่ไม่เท่าไหร่ ลอยกระทงนี่เราก็เก็บที่คลองโอ่งอ่าง ปีใหม่ก็เหนื่อย แต่สงกรานต์มันหลายวันและเล่นกันทั่วเลย [...] จากที่วันธรรมดาก็เหนื่อยอยู่แล้ว สงกรานต์นี่ความเหนื่อยคูณสี่ สาหัสสากรรจ์” คุณเรณูกล่าว
“สีลมเป็นถนนที่ไม่มีวันหลับ กลางวันเราเก็บขยะอยู่แล้ว พอวันสงกรานต์เราต้องจัดรอบเข้าไปให้ถี่ขึ้น ไม่มีได้หยุดเลย” คุณพรพันกล่าว และมอบตำแหน่ง “ช่วงเวลาแสนหนื่อย” ของคนงานทำความสะอาดเขตบางรักให้กับเทศกาลสงกรานต์และงานวัดแขกใกล้เคียงกัน
ความเหนื่อยชวงสงกรานต์มักจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 11 จริงจังขึ้นในวันที่ 12 เมื่อหลายพื้นที่เล่นน้ำจริงจังมากขึ้น และจบเอาวันที่ 16 เมื่อเจ้าหน้าที่ล้างถนนครั้งใหญ่ก่อนส่งคืนให้ประชาชนใช้งานกันตามปกติ อาจฟังดูไม่มาก แต่ช่วงเวลา 4-5 วันอย่างนี้ คือการทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง
ทั้งเขตบางรักและเขตพระนคร ฝ่ายดูแลความสะอาดไม่ได้มีการจ้างเจ้าหน้าที่ภายนอกมาดูแลงานเพิ่ม แต่จะใช้การทำงานล่วงเวลาแทน อย่างที่เขตพระนคร แต่เดิมมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการราว 280 คน แบ่งเป็นทำงาน 3 กะคือช่วง 05:00-13:00 นาฬิกา ช่วง 13:00-21:00 นาฬิกา และ 21:00-05:00 นาฬิกา ในขณะที่เขตบางรักมีพนักงานปฏิบัติการ 300 คนแบ่งป็นกะใกล้เคียงกัน
ในช่วงวันสงกรานต์ เขตพระนครมีเจ้าหน้าที่ราว 200 คนทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4 ชั่วโมงต่อวันนอกเหนือเวลากะของตนเอง เพื่อให้เพียงพอต่อการจัดการขยะ ซึ่งชั่วโมงล่วงเวลานี้เป็นชั่วโมงการทำงานที่จัดสรรไว้แล้วในแผนประจำปี
คุณหน่อยเล่าว่า เธอต้องทำงาน 2 กะ จากที่ปกติเธอทำงานช่วง 13:00-21:00 นาฬิกา เธอต้องเข้ามาทำงานช่วง 05:00-09:00 ตารางชีวิตของคุณหน่อยจึงจะเริ่มตั้งแต่ 03:30 นาฬิกาเมื่อเธอตื่นนอน และสิ้นสุดเมื่อกลับถึงบ้านราว 22:30 หรือหากเหนื่อยจนหมดแรงก็ไม่กลับบ้านเอาเสียเลย วนไปอย่างนี้จนกว่าสงกรานต์จะจบลง
ที่ช่วยสร้างกำลังใจให้คนทำงานเขตพระนครได้ ข้อหนึ่ง อาจเป็นน้ำดื่มสะอาด ที่เขตพระนครมีการขับแจกจ่ายบริการพนักงานปฏิบัติการในช่วงสงกรานต์ และสำหรับคุณหน่อยที่เป็นพนักงานกวาดคือการได้ถูกสาดน้ำระหว่างทำงานแบบเป็นมิตรจากผู้มาร่วมสนุกบ้าง
สำหรับการทำงานล่วงเวลานั้น พนักงานสามาถหยุดชดเชยได้ในวันอื่น แต่ไม่ว่าเขตพระนครและบางรักก็ไม่ได้มีการจ่ายค่าล่วงเวลาเพิ่มไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือปฏิบัติการก็ตาม ส่วนมากเห็นพ้องกันว่า “เป็นหน้าที่” และ “จะมีหรือไม่มีค่าล่วงเวลา เราก็ต้องทำงานอยู่ดี เพราะขยะมันเยอะ” อีกทั้งช่วงสงกรานต์ เป็นช่วงที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ห้ามขาด ข้ามลา” แถมหลายคนยังเปลี่ยนพื้นข้างโต๊ะทำงานให้กลายเป็นเตียงชั่วคราวช่วงสงกรานต์เสียด้วย
ในช่วงสงกรานต์ การพักค้างคืนที่สำนักงานเขตกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อพวกเขาและเธอต้องทำงานกันข้ามวันข้ามคืน
“เราจะไม่ทิ้งพื้นที่ เราต้องอยู่ที่นี่ตลอด” คุณพจน์กล่าว
คุณณิชชายังเล่าว่า เวลางานของพนักงานกวาดจะเริ่มเร็วขึ้นด้วย ทำให้บางคนไม่อยากกลับบ้าน เธอบอกว่า “เราต้องคอยอยู่ที่นี่ คอยฟังว่าศูนย์บัญชาการของเขตเราจะมีคำสั่งเรียกอะไรบ้าง อย่างเช่น อาจมีคำสั่ง ‘จัดเตรียมกำลังพล 50 คนรถน้ำ 4 คัน รถขยะ 1 คัน ปิดล้างแยกบางลำพู’ แล้วรถไม่สามารถเข้าได้ทันทีนะคะ อาจใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง เพราะจำนวนมีเยอะมาก ดั้งนั้นเมื่อศูนย์บัญชาการแจ้งเวลาปิดล้างมา เราจะต้องพร้อมเข้าทำงานได้เลย”
“ปีก่อนที่นอน [ที่สำนักงาน] 3 คืน คืนที่ 4 นี่พี่ไม่ไหวแล้ว จบงานพี่ขับรถไม่ได้เลย จะหลับอย่างเดียว ต้องเดินกลับ [...] พี่ไม่มีความสุขกับการรู้ว่าลูกน้องต้องมาขวาดขยะ เก็บขยะในขณะที่เรานอนหลับสบาย” คุณณิชชากล่าว
“เรารู้ว่าเรามาทำงานตรงนี้แล้ว เราต้องทุ่มเทหัวใจ หัวหน้าฝ่ายและผู้อำนวยการจะได้ไม่โดนว่า” คุณเรณูเสริม แล้วเล่าว่า ปีนี้เตรียมเสื้อผ้ามาพร้อมแล้วสำหรับการนอนค้าง 4 คืนยาวๆ
“สงกรานต์ชาวสีลมเรารู้กันดีว่าไม่ได้กลับบ้าน ปีนี้เราจัดงานกัน 12-14 เพื่อที่ว่า หากงานไม่หนักมากเราจะได้พักสัก 2 วัน” คุณพรพันชี้และเสริมว่า การนอนค้างที่เขตบางรักเป็นปกติเช่นกัน
ด้านคุณพิเชษฐ์นันเตรียมนอนค้างตั้งแต่คืนวันที่ 12 หรือ 13 แล้วยาวไปจนถึงวันที่ 16 เขาเล่าให้ฟังว่า การทำงานของพนักงานนั้นทำกันตลอดวัน ตั้งแต่ตีห้าถึงบ่ายโมง (หรือสอง) มีเวลาให้ได้พักหายใจช่วงบ่าย ที่ในขณะเดียวกันต้องพร้อมรับเรื่องร้องเรียน ก่อนจะออกไปทำงานอีกในช่วงค่ำ คุณพิเชษฐ์เสริมว่า “เป็นธรรมดาที่ครอบครัวจะคิดถึงนั่นแหละครับ แต่ก็ต้องให้เสร็จงานก่อนถึงจะกลับได้”
อยู่รวมกันแต่ก็ใช่ว่าจะได้ฉลองสงกรานต์ เจ้าหน้าที่เขตพระนครทั้งสามคนกล่าวว่า นอกจากการรดน้ำดำหัวตามประเพณีก็ไม่ได้มีการเล่นน้ำภายใน ความเหนื่อยจากการทำงานเก็บขยะช่วงเทศกาลทำให้แม้แต่แต่การมองหน้ากันก็เสียพลังงานมากเกินไป ทุกคนต่างก้มหน้าทำงานที่เยอะจนล้น และใช้เวลาที่เหลือนอนเก็บแรงเท่าที่จะทำได้ บางคนอย่างคุณพจน์ได้หยุดฉลองสงกรานต์ครั้งล่าสุดก็เกือบ 30 ปีมาแล้ว ส่วนคุณเรณูไม่เคยฉลองสงกรานต์เลยสักครั้งในชีวิต อย่างไรก็ตาม ทุกคนดูเหมือนจะภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานทำความสะอาดผ่านไปได้อย่างราบรื่นทุกสงกรานต์ แน่นอนคนที่สำคัญที่สุดก็คือคนงาน
“ความสำเร็จของการเก็บกวาดขยะในเขตพระนครคือคนงาน และผู้ควบคุมงานกวาดและเก็บขยะมูลฝอย” คณณิชชาในฐานะหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะกล่าว
“ทีมงานและประชาชน คือคนที่ทำให้การทำงานรักษาความสะอาดของเราประสบความสำเร็จ ถ้าทั้งสองฝ่ายสื่อสารและทำงานร่วมกัน อะไรเราก็ตามได้” คณพรพัน ผู้อำนวยการเขตบางรักกล่าวเช่นกัน