เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ บนโลกโซเชียลออกมาบ่นอุบกันว่า อยู่ดี ๆ ถูกหักเงินเดือนใช้หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน โดยบริษัทหลายแห่งอ้างว่า กยศ. แจ้งให้หัก ทั้งที่ไม่แจ้งให้พนักงานทราบก่อน ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา สส.จากพรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นพิพาทรุนแรงในเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบว่า กยศ.ทำตัวเหมือนเจ้าหนี้นอกระบบ และส่อทำผิดกฎหมาย
ด้าน น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ออกมาไขข้อข้องใจการขยายวงเงินในครั้งนี้ ได้มีการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้กู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นกรณีของผู้ที่มียอดค้างชำระเก่า และผู้กู้บางรายขอปรับลดจำนวนการหักเงิน แต่ยังไม่ได้จ่ายค่าส่วนต่างให้ทันกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม กยศ. ประกาศว่า ยังมีทางออกสำหรับผู้กู้ยืมที่ได้รับกระทบ ให้เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ขยายเวลาการผ่อน ปรับลดดอกเบี้ย เป็นต้น
นี่ไม่ใช่ดรามาครั้งแรกระหว่าง กยศ. และ ผู้กู้ยืม เนื่องจากเป็นข้อถกเถียงกันมาเป็นระยะ ๆ เสมอ เกี่ยวกับประเด็นการจ่ายหนี้หรือการเจรจาผ่อนผัน รวมไปถึงมาตรการจัดการกับ ‘คนเชิดเงิน’ ที่ไม่ชำระหนี้หลังจบการศึกษาไปแล้ว จนสร้างผลกระทบให้กับกยศ. และ นักเรียน-นักศึกษารุ่นหลัง Spotlight จึงอยากชวนคุณผู้อ่าน สำรวจสภาวะหนี้การศึกษาในประเทศที่มีผู้กู้ยืมอันดับต้น ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ ทางบ้านเขามีดราม่าบ้างไหม และใช้วิธีจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างไรบ้าง
เมื่อมีประเด็นหนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา สหรัฐฯ มักเป็นประเทศแรกที่ผู้คนนึกถึง เนื่องจากมีสถิติของบัณฑิตที่จบการศึกษาในแต่ละปี พบว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่จากการกู้ยืมไปจ่ายค่าเทอมมหาวิทยาลัยที่แพงหูฉี่ ซึ่งสหรัฐฯ พบว่า ประมาณ 50% ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันของรัฐและเอกชนมีหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมียอดหนี้เฉลี่ยประมาณ 29,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1 ล้านบาทต่อคน
หลายฝ่ายมองว่า สถานการณ์หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ เป็นวิกฤต เนื่องจากยิ่งบัณฑิตมีภาระหนี้ที่สูงมากเท่าไร ความสามารถในการสร้างเนื้อสร้างตัวจะน้อยลงเท่านั้น เนื่องจากจะกระทบการซื้อบ้าน การเริ่มต้นธุรกิจ และการวางแผนเกษียณอายุ ท้ายที่สุด หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้การบริโภคลดลง และอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในช่วงที่อดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดนดำรงตำแหน่ง ได้พยายามที่จะยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามที่เคยหาเสียงไว้ และประสบความสำเร็จในบางส่วน เนื่องจากหลายคนมองว่าไม่แฟร์กับคนที่ชำระหนี้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด แถมยังทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียค่าเล่าเรียนให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจำนวนมหาศาล ดังนั้น แผนการลดหนี้ให้ผู้กู้ยืมแต่ละรายประมาณ 10,000 - 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน จึงไม่ประสบผลสำเร็จ แต่อย่างน้อยก็มีการยกเลิกหนี้ให้กับบางกรณี เช่น การยกเลิกหนี้สำหรับผู้พิการถาวร และผู้ที่ทำงานในภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมีสิทธิ์ได้รับการยกเลิกหนี้หลังจากทำงานครบตามกำหนด
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ยอดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งหมดในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 1.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมทั้งหนี้จากรัฐบาลกลางและเอกชน ซึ่งมีผู้กู้เงินจากรัฐบาลกลางประมาณ 42.7 ล้านคน ยอดหนี้เฉลี่ยต่อผู้กู้ทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 38,883 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 ล้านบาทต่อคน
จากข้อมูลล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา พบว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2024 มูลค่าหนี้คงค้างการกู้ยืมเพื่อการศึกษาในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 236,000 ล้านปอนด์ นับเป็นสถิติประเทศที่มีหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษามูลค่าสูงที่สุดในโลก และรัฐบาลประเมินแล้วว่าหนี้ก้อนนี้จะยังเพิ่มสูงขึ้นอีกไปถึง 500,000 ล้านปอนด์ ภายในปี 2040 โดยปัจจุบัน มีการให้กู้ยืมประมาณ 20,000 ล้านปอนด์ต่อปีให้กับนักศึกษา และสำหรับยอดหนี้เฉลี่ยต่อบัณฑิต 1 คน จะอยู่ที่ประมาณ 43,700 - 45,600 ปอนด์ หรือราว 1.9 - 2.1 ล้านบาทต่อคน
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้หนี้การศึกษาสร้างวิกฤต คือระบบความเมตตาของสหราชอาณาจักรที่กำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้ไว้ว่า ผู้ที่เริ่มเรียนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 จะเริ่มชำระหนี้เมื่อมีรายได้มากกว่า 25,000 ปอนด์ต่อปี ซึ่งการชำระคืนจะถูกหักโดยตรงจากเงินเดือน และหนี้จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติหลังจาก 40 ปีสาเหตุที่ผู้กู้ไม่จ่ายหนี้ เป็นเพราะรายได้ของพวกเขาต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ การชำระหนี้จะเริ่มต้นใหม่เมื่อรายได้ของพวกเขาเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ กับบางกรณีที่รายได้ไม่สูงจนอายุ 40 ปี ก็นับว่าเป็นทุนให้เปล่าและเป็นภาระของรัฐไปโดยปริยาย
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการบังคับใช้มาตรการที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาขายปลีก (RPI) ซึ่งหมายความว่าในระยะยาว ผู้กู้จะไม่ต้องจ่ายคืนมากกว่าเงินที่กู้มา สร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้มากขึ้น แถมยังเป็นการปั้นตัวเลขภาพรวมของหนี้คงค้างให้ลดลง
เกาหลีใต้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ซึ่งรวมถึงหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย แม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษาในเกาหลีใต้อยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับบางประเทศ จากข้อมูลปี 2022 ระบุที่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการศึกษาในเกาหลีใต้อยู่ที่ 2.2% เท่านั้น แต่ภาระหนี้โดยรวมอาจเป็นความกังวลสำหรับผู้กู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
เกาหลีใต้มี กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลภายใต้ชื่อ Korea Student Aid Foundation (KOSAF) เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารจัดการโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่ประสบปัญหาทางการเงิน
ในปี 2022 Korea Student Aid Foundation (KOSAF) พบว่า มีนักศึกษาถึง 411,093 คน ที่กู้เงินเรียนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า และอัตราการใช้เงินกู้คิดเป็น 12.9% ของนักศึกษาทั้งหมด ทั้งนี้ รายงานรัฐบาลเกาหลีใต้พบว่า ยอดหนี้เฉลี่ยของคนหนุ่มสาวโดยรวม (ซึ่งรวมถึงหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 34 ล้านวอนในปี 2012 เป็น 84.5 ล้านวอนในปี 2021
โครงการหลักๆ ที่ KOSAF ดำเนินการ ได้แก่ Income Contingent Loan (ICL) เป็นเงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ ผู้กู้จะเริ่มชำระหนี้คืนเมื่อมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คล้ายกับระบบของสหราชอาณาจักร, โครงการ Regular Repayment Loan เป็นเงินกู้ยืมที่มีกำหนดการชำระคืนที่แน่นอน ไม่อิงกับรายได้ และนอกจากเงินกู้ยืมแล้ว KOSAF ยังมีโครงการทุนการศึกษาหลากหลายประเภท ทั้งทุนที่พิจารณาจากความต้องการทางการเงินและทุนที่พิจารณาจากผลการเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คืน หรืออาจชดใช้ในรูปแบบของการทำงานให้องค์กรภาครัฐ
สำหรับจำนวนผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2022 KOSAF รายงานยอดเงินกู้ที่ไม่สามารถเรียกคืนได้ถึง 27,489 ล้านวอน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจากสี่ปีก่อนหน้า และจำนวนบุคคลที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้สูงถึง 4,778 คน ในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปี 2018 แม้ตัวเลขโดยรวมจะดูไม่สูงเท่าสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่ก็อาจเดินตามสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้ได้ หากรัฐบาลยังไม่จัดการปัญหาหนี้สินของคนหนุ่มสาวได้ทันเวลา