เมื่อสหรัฐฯ ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ยกระดับภาษีนำเข้าสินค้าจีนพุ่งแตะ 125% จีนก็เตรียมแผนตอบโต้ทันควันทั้งในและนอกประเทศ โดยภายในจัดประชุมฉุกเฉิน เร่งคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เน้นอัดฉีดภาคอสังหาฯ ดันการบริโภค และเร่งพัฒนาเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน จีนก็เดินหน้าจับมือสหภาพยุโรป เจรจาข้อตกลง EV ปรับโครงสร้างการค้าทวิภาคี และผลักดันการปฏิรูป WTO
ในโลกที่การค้าเสรีถูกท้าทาย จีนกำลังสร้างสมดุลใหม่ด้วยนโยบายคู่ขนาน ใช้เศรษฐกิจภายในเป็นเกราะ ใช้ความร่วมมือนอกประเทศเป็นหมากรุกบนกระดานโลก
สำนักข่าว Blomberg รายงานว่า ในวันนี้ (10 เม.ย.) ผู้นำระดับสูงของจีนจะจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยกระดับการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 125% โดยการประชุมเน้นการพยุงเศรษฐกิจใน 3 ภาคหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การบริโภคภายในประเทศ และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี
แหล่งข่าววงในเผยว่า การประชุมครั้งนี้จะเน้นพิจารณามาตรการที่สนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคภายในประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยี โดยมีหน่วยงานรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินร่วมประชุม เพื่อกำหนดแนวทางรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดทุน ทั้งนี้ กำหนดการประชุมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในนาทีสุดท้าย
การเรียกประชุมฉุกเฉินครั้งนี้สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลจีนต่อผลกระทบจากสงครามการค้าระลอกใหม่กับสหรัฐฯ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา จีนได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราสูงถึง 84% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เพื่อตอบกลับภาษี 104% ที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศบังคับใช้กับสินค้าจีน ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยกระดับมาตรการอีกครั้ง ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 125% ขณะเดียวกันกลับประกาศเลื่อนการเก็บภาษีกับประเทศคู่ค้าอื่นหลายสิบประเทศ
ความเคลื่อนไหวเชิงรุกของทรัมป์ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรง โดยในวันพฤหัสบดี ดัชนีหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนความคาดหวังจากนักลงทุนว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี ค่าเงินหยวนในตลาดภายในประเทศยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2007
แหล่งข่าวจากฝ่ายนโยบายของจีนระบุว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเร่งออกมาตรการกระตุ้นที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ โดยเน้นการฟื้นฟูอำนาจซื้อของผู้บริโภค และการใช้นโยบายการเงินเชิงรุก
หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นสื่อทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานเมื่อต้นสัปดาห์ว่า จีนยังมี "พื้นที่นโยบายอีกมาก" ในการรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบาย การผ่อนคลายเกณฑ์สำรองของธนาคาร และการใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัว
นอกจากนี้ จีนยังเร่งควบคุมการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นความพยายามในการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจอเมริกา และเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้าในอนาคต
ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ จีนเริ่มเปลี่ยนจากยุทธศาสตร์เชิงรับเป็นเชิงรุก โดยเน้นมาตรการกระตุ้นภายในประเทศควบคู่กับมาตรการภาษีตอบโต้ เพื่อรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภายนอก
มาตรการใหม่ที่อาจประกาศหลังการประชุม อาจเป็นการ “อัดฉีดแบบเจาะจง” ไปยังภาคเศรษฐกิจหลักอย่างอสังหาริมทรัพย์ การบริโภค และนวัตกรรมเทคโนโลยี ซึ่งมีบทบาทต่อการเติบโตระยะยาว ขณะเดียวกัน การแสดงความพร้อมด้านนโยบายการเงินและการควบคุมเงินทุน ก็จะช่วยสร้าง “เกราะป้องกัน” ต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน
ในเวทีระหว่างประเทศ การจำกัดการลงทุนของภาคเอกชนจีนในสหรัฐฯ ก็สะท้อนยุทธศาสตร์ระยะยาวของปักกิ่งในการลดการพึ่งพาตะวันตก และเสริมความสามารถในการต่อรองในศึกการค้าที่ยังไม่มีวี่แววจะจบลงในเร็ววัน
ในเวลาเดียวกัน จีนก็เดินหน้าฟื้นความร่วมมือกับสหภาพยุโรป โดยเมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา นายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน ได้ประชุมผ่านวิดีโอ กับนาย มารอช เซฟโควิช กรรมาธิการด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการค้าของยุโรป
การหารือเน้นประเด็นสำคัญ เช่น การฟื้นเจรจาด้านการค้าทวิภาคี การเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงราคาขั้นต่ำ (minimum price commitment) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จีนส่งออกไปยังยุโรป รวมถึงแนวทางสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อภาคเอกชน และการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตข้ามประเทศ (trade transfer)
ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความร่วมมือในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และย้ำถึงความจำเป็นในการผลักดันการปฏิรูป WTO อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรักษาระเบียบการค้าพหุภาคีในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจโลกกำลังทวีขึ้น
หนึ่งในจุดเปราะบางของความสัมพันธ์จีน-EU คือประเด็นรถยนต์ไฟฟ้า โดย EU ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้า EV จากจีนสูงสุดถึง 35.3% ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา จากอัตราภาษีพื้นฐานเดิมเพียง 10% โดยอ้างถึงปัญหาการอุดหนุนจากภาครัฐจีน
แม้ยังไม่มีการกำหนดวันเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่การที่ทั้งสองฝ่ายตกลงฟื้นการพูดคุยด้านราคาขั้นต่ำ EV สะท้อนความพยายามลดแรงปะทะและหลีกเลี่ยงการลุกลามของมาตรการตอบโต้ทางการค้า
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าจีนไม่ได้เลือก "ตั้งรับ" อย่างเดียวอีกต่อไป แต่กำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็น "เชิงรุกสองด้าน" เพื่อสร้างเกราะป้องกันเศรษฐกิจจากแรงกดดันภายนอก
ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ จีนจึงเลือกใช้ "ภาษี" เป็นทั้ง อาวุธเชิงตอบโต้ และ "นโยบายเศรษฐกิจ" เป็น เกราะกันกระแทก เพื่อประคองเสถียรภาพในระยะยาว