กระทรวงการคลังจีนประกาศตอบโต้การขึ้นภาษีรอบล่าสุดของรัฐบาลทรัมป์ด้วยการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากสหรัฐฯ จากอัตราเดิม 84% เป็น 125% เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 เมษายนนี้ พร้อมวิจารณ์ว่านโยบายของสหรัฐฯ ได้กลายเป็น “เรื่องตลก” ที่ไม่มีความหมายทางเศรษฐกิจอีกต่อไป และยืนยันว่าจะไม่ตามเกมภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์อีก
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากทำเนียบขาวเผยว่าภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดในปี 2025 ได้ถูกปรับเพิ่มเป็น 145% โดยรวมจากภาษีที่เคยมีอยู่แล้ว รวมถึงภาษี 20% ที่ถูกบังคับใช้เมื่อต้นปีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของจีนในการลักลอบยาเฟนทานิลเข้าสหรัฐฯ
กระทรวงการคลังของจีนระบุว่า สินค้าจากสหรัฐฯ “ไม่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนอีกต่อไปภายใต้อัตราภาษีปัจจุบัน” และหากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีอีก จีนจะ “ไม่ให้ความสำคัญ” กับมาตรการเหล่านั้นอีกต่อไป พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ “ยุติการกระทำที่ผิดพลาดโดยทันที และยกเลิกภาษีฝ่ายเดียวทั้งหมดที่ใช้กับจีน”
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์เตือนว่า หากสหรัฐฯ ยังเดินหน้าทำลายผลประโยชน์ของจีนอย่างรุนแรง จีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้กลับอย่างแข็งกร้าว และจะดำเนินการจนถึงที่สุด
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์แยกจากกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์จีนยังกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับและกลั่นแกล้ง ซึ่งละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างร้ายแรง และบ่อนทำลายระบบการค้าแบบพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ และการเพิ่มภาษีแบบซ้ำซากนี้เป็นเพียง “เกมตัวเลข” ที่ปราศจากเนื้อหาทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
“มันกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้ว” แถลงการณ์ระบุ
หลังจากข่าวการขึ้นภาษีของจีนถูกเผยแพร่ ดัชนี S&P 500 Futures และตลาดหุ้นยุโรปต่างปรับตัวลดลง ขณะที่ฟิวเจอร์สดัชนี Hang Seng China Enterprises Index ลดลงจากจุดสูงสุดในวันเดียวกัน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ดันดัชนีค่าเงินของ Bloomberg ลดลงมากกว่า 1% ภายในวันเดียว
นอกจากนี้ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังขยายวงกว้างเกินกว่าการค้าสินค้า โดยทางการจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ประกาศลดจำนวนภาพยนตร์อเมริกันที่อนุญาตให้ฉายในจีน พร้อมเตือนพลเมืองจีนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสหรัฐฯ และแจ้งเตือนนักเรียนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยใน “บางรัฐ”
จากข้อมูลของ Bloomberg ก่อนเดือนเมษายน 2025 ภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ของจีนอยู่ที่ประมาณ 10–15% และยังไม่ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท แต่ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทั้งสองประเทศได้ปรับภาษีขึ้นอย่างมหาศาล โดย
ในปี 2024 มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศอยู่ที่ราว 700,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งหมายความว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่ายต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และต้องเร่งปรับโซ่อุปทานเพื่อลดผลกระทบจากภาษีเหล่านี้ โดยสินค้าหลักที่ได้รับผลกระทบ คือ
ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า การตอบโต้ผ่านภาษีอาจใกล้ถึงจุดจบ โดยประเด็นสำคัญต่อจากนี้คือ การหาทางปรับตัวและหาสินค้าทดแทน
ศาสตราจารย์ โจเซฟ เกรกอรี่ มาโฮนี่ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย East China Normal ในนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า “การขึ้นภาษีตอบโต้กันในลักษณะนี้ไม่ใช่ทางออกหรือการผ่อนคลายข้อพิพาท แต่มันคือการประกาศว่าเฟสของสงครามภาษีนี้เดินมาถึงทางตันแล้ว”
ด้านศาสตราจารย์ บาลา รามาซามี จากโรงเรียนธุรกิจนานาชาติจีน-ยุโรป (CEIBS) ในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “ตอนนี้ความสัมพันธ์ทางการค้าสินค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แทบจะพังทลายลงแล้ว คำถามตอนนี้คือ จีนจะหาสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นได้มากน้อยแค่ไหน และในทางกลับกัน สหรัฐฯ จะหาสินค้าทดแทนจากจีนได้หรือไม่”
เขาย้ำว่า สหรัฐฯ อาจเผชิญความยากลำบากมากกว่าจีน เพราะสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนนั้นสูงมากในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจอเมริกัน
ิด้าน จาง จื้อเว่ย ประธานกรรมการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Pinpoint Asset Management มองว่า แม้คำประกาศของจีนในครั้งนี้จะแสดงท่าทีแข็งกร้าว แต่นี่อาจเป็น “จุดสิ้นสุดของวงจรการตอบโต้ทางภาษี” ระหว่างสองประเทศ
“ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงจบของการตอบโต้ผ่านภาษีแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้ว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเดินหน้าขึ้นภาษีไปอีก” จางกล่าว
เขาเสริมว่า สิ่งที่ควรเกิดขึ้นต่อจากนี้คือ การประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเริ่มต้นการเจรจาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก
“ผมหวังว่าจะมีการพูดคุยเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้น” เขากล่าวปิดท้าย
ก่อนการประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ภาษี โดยยืนยันว่าจีน “ยังคงมั่นใจ และไม่หวั่นเกรงต่อการกดดันที่ไม่มีเหตุผล”
“ผู้ใดขัดกับกระแสของโลก ย่อมเสี่ยงจะถูกโดดเดี่ยว” สี กล่าวระหว่างการต้อนรับนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ แห่งสเปน พร้อมย้ำว่า “การพัฒนาของจีนไม่เคยขึ้นอยู่กับความเมตตาของชาติอื่น และไม่ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงเพียงใด จีนจะยังคงมั่นใจ สงบนิ่ง และมุ่งมั่นบริหารกิจการของตนเองให้ดีที่สุด”
Wen-Ti Sung นักวิจัยประจำ Global China Hub ของ Atlantic Council วิเคราะห์ว่า จีนกำลังพยายามรักษาท่าทีที่สุขุมกว่าเพื่อสร้างความนิยมในเวทีระหว่างประเทศ “หากโลกกำลังแบ่งขั้วมากขึ้น และประเทศต่าง ๆ รู้สึกว่าถูกกดดันให้เลือกข้าง จีนต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนไม่ใช่ฝ่ายที่ยั่วยุหรือตอบโต้เกินเหตุ” เขากล่าว