8 เมษายน เสาชิงช้า ตระหง่านฟ้า สู่พระราชพิธีศักดิ์สิทธิ์ ตรียัมปวาย-ตรีปวาย พิธีโล้ชิงช้าที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างเสาชิงช้าในพระนครขึ้นตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เมื่อวันพุธ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง หรือวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 บริเวณลานด้านเหนือของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ต่อมาย้ายมาสร้างใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันบริเวณหน้าวัดสุทัศน์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่
เสาชิงช้าที่ กรุงเทพมหานคร มีลักษณะเป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ สูง 21.15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ฐานกลมประมาณ 10.50 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้งสองด้าน ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทา สีแดงชาด ติดสายล่อฟ้า จากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน
ล่วงสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสาชิงช้าต้นเดิมชำรุด บริษัท หลุยส์ ตี เลียวโนเวนส์ จำกัด พ่อค้าไม้รายใหญ่ได้มอบไม้ซุงท่อนใหญ่ให้สร้างเสาชิงช้าต้นใหม่ แล้วเสร็จวันที่ 12 เมษายน 2463 มีการบูรณะในปี 2490 เนื่องจากเหตุไฟไหม้ บูรณะอีกครั้งในปี 2513 โดยเปลี่ยนไม้เฉพาะเสาใหม่ ส่วนกระจังบนและกระจังหูช้างยังคงเป็นของเดิม ต่อมาปี 2525 มีการบูรณะอีกครั้งเพื่อฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พอถึงปี 2539 โคนเสาชำรุดมาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานครจึงบูรณะด้วยการสวมปลอกเหล็กรัดโคนเสายึดโครงสร้างหลัก เมื่อถึงปี 2548 ไม่อาจบูรณะเสาชิงช้าต้นนี้ได้อีก จึงทำพิธีรื้อถอนแล้วส่งเก็บรักษาในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550
เสาชิงช้ามีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพระนคร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพมหานคร จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 หน้า 5281 จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 222 ปี
เสาชิงช้าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีเดือนสอง ในพระราชพิธีสิบสองเดือน คือ พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย เพื่อรับเสด็จพระอิศวรและพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลงจากสวรรค์ พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วันพราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรตชำระกาย สระผมเตรียมรับเสด็จพระอิศวร แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวายจะจัดในเดือนอ้าย (ประมาณเดือนธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (ประมาณเดือนมกราคม) ด้วยว่าให้พ้นหน้าน้ำหลาก ถนนมีแต่โคลนเลนไปเสียก่อน เมื่อถึงเดือนยี่ดินแห้งดีเหมาะแก่การจัดพิธีสำคัญนี้
พิธีโล้ชิงช้าเป็นการแสดงตำนานสร้างโลก ที่กำหนดให้พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก แล้วพระอิศวรเป็นผู้ทดทอบความแข็งแรงของโลก โดยให้พญานาคขึงตัวเองยึดภูเขาสองลูก แล้วดึงเขย่าไปมา พระอิศวรจะยืนบนภูเขาด้วยพระบาทข้างเดียว ถ้าภูเขาสั่นสะเทือน จนพระอิศวรล้มแสดงว่าโลกไม่แข็งแรงมั่นคง ดังนั้น เสาชิงช้าสองต้นเปรียบเสมือนภูเขา ผู้ขึ้นไปโล้ชิงช้าสมมติให้แทนพญานาค ซึ่งผู้โล้จะสวมหมวกรูปพญานาคด้วย จากนั้นไกวชิงช้าเป็นสัญญาณว่าโลกแข็งแกร่งเพียงพอ
พิธีโล้ชิงช้าเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงประจำปีของพระนคร มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่หลายวัน ออกร้านการละเล่น การแสดงมหรสพ มีต่อเนื่องยาวนาน จากหลักฐานเอกสาร เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ทำให้สันนิษฐานได้ว่าการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นพิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย) และคงประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย คือราวเดือนธันวาคม ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ หรือเดือนมกราคม พระราชพิธีดังกล่าวถือปฏิบัติกันสืบต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งได้ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2477
ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฟื้นฟูพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ขึ้นใหม่ โดยจะกระทำเฉพาะพิธีที่จัดขึ้นภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เท่านั้น ส่วนพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย นั้น มิได้นำกลับมาเช่นครั้งโบราณ โดยในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวขึ้นในระหว่างวันที่ 8-23 มกราคม 2565 ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร ดังธรรมเนียมที่เคยถือปฏิบัติกันมา
ประเทศไทยมีเสาชิงช้าอีกแห่ง ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเพชรพลี ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหลักฐานทางด้านโบราณคดีระบุว่า เดิมมีเสาไม้ 2 ต้น ตั้งอยู่หน้าวัดเพชรบุรี ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เสาแต่ละต้นอยู่ห่างกันประมาณ 7 เมตรตามแนวทิศเหนือใต้ โดยมีกำแพงวัดเพชรพลี ด้านทิศใต้ ตัดผ่าระหว่างแนวเสาทั้งสองต้น เสาต้นทิศเหนือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงเฉพาะที่เหลือประมาณ 3.80 เมตร ปักอยู่ห่างจากกำแพงเข้าไปในบริเวณวัด ประมาณ 6.70 เมตร ปัจจุบันเสาต้นนี้ถูกซื้อไปแล้ว เหลือเฉพาะเสาต้นทิศใต้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงเฉพาะที่เหลือประมาณ 1.80 เมตร ปักอยู่ห่างจากกำแพงวัด ออกไปจากบริเวณวัดประมาณ 60 เซนติเมตร
เชื่อกันว่า บริเวณเสาชิงช้านี้เป็นเขตเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ โดยเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบพิธีสำคัญในเมืองเพชรบุรีสมัยโบราณ บริเวณพื้นที่ที่ต่อจากเสาชิงช้าออกไป เคยมีโบราณสถานก่ออิฐ ชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบันถูกรื้อทำลายไปแล้ว นอกจากนี้ในบริเวณแถบนี้เคยมีผู้ขุดพบชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายหลายชิ้น
ในนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ มีข้อความว่า
“เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวสถานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้ายังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ"
แสดงให้เห็นว่าย่านนั้นเป็นที่ตั้งของพราหมณ์ในเมืองเพชรบุรีแต่เดิม โดยมีศาสนสถานตั้งอยู่เป็นกลุ่ม เช่น เทวสถาน เสาชิงช้าโบสถ์พราหมณ์ โบราณสถานแห่งนี้จึงมีความสำคัญ ด้วยเหตุที่เป็นหลักฐานที่เกี่ยวกับพราหมณ์ในเมืองเพชรบุรี ที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าหน้าวัดเพชรพลี เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 2 วันที่ 4 มกราคม 2498
Advertisement