จัดโต๊ะหมู่บูชา จัดหิ้งพระในบ้าน ต้องเรียงลำดับอย่างไรให้ถูกต้อง ตั้งอย่างไรเพื่อความเป็นสิริมงคล
พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับผู้อยู่อาศัย หลายบ้านมักจะมีห้องพระที่เป็นสัดส่วน แต่บางบ้านที่มีพื้นที่ขนาดเล็กอาจจะจัดเป็นหิ้งพระบูชาในมุมหนึ่งของบ้าน ซึ่งห้องพระหรือหิ้งพระที่ดี ควรอยู่ในบริเวณที่เงียบสงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนอบอ้าวจนทำให้เสียสมาธิในการสวดมนต์ภาวนา
โต๊ะหมู่บูชา เริ่มตั้งแต่หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 7 หมู่ 9 หมู่ 12 โต๊ะหมู่บูชามีทั้งแบบโต๊ะลอยตัวที่หาซื้อได้ตามร้านเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ข้อดีคือสามารถเคลื่อนย้ายและทำความสะอาดได้ง่าย อีกแบบคือแบบบิลต์อินที่ออกแบบติดตั้งให้ตามความเหมาะสมกับขนาดของห้อง ข้อดีคือจะพอดีกับห้องและมักมีฟังก์ชั่นเมเติม เช่น ลิ้นชักสำหรับเก็บอุปกรณ์
• หิ้งพระ หรือ โต๊ะหมู่บูชา ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) ซึ่งถือเป็นทิศราชา ทำให้เจ้าของบ้านเจริญรุ่งเรืองสมความตั้งใจทุกประการ หรือหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) จะทำให้ค้าขายร่ำรวย
• ไม่ควรติดตั้งหิ้งพระไว้หน้าห้องครัว ห้องน้ำ หรือหันหน้าไปทางห้องดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนในบ้านเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ
• หิ้งพระต้องตั้งอยู่ในมุมสงบของบ้าน ไม่ควรอยู่ในห้องรับแขก เพราะเป็นบริเวณที่คนผ่านเข้าออกอยู่เป็นประจำ และต้องไม่สามารถมองเห็นได้จากประตูรั้วหน้าบ้าน
• หิ้งพระ หรือ โต๊ะหมู่บูชา ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แต่ต้องทำความสะอาดเป็นประจำ
• ไม่ควรตั้งหิ้งพระไว้ปลายเตียงนอน
• หิ้งพระไม่ควรติดตั้งไว้ใต้คาน ความเชื่อเพราะจะทำให้คนในบ้านมีแต่อุปสรรค ไม่มีความสุข
• ตำแหน่งหิ้งพระต้องอยู่เหนือศีรษะ หากต่ำกว่านั้นจะทำให้ชีวิตตกต่ำ ไม่มีโอกาสก้าวหน้า
• พระพุทธรูปบนหิ้งพระต้องมีจำนวนเป็นเลขคี่ 1, 3, 5, 7, 9 องค์
โต๊ะหมู่บูชาจะประกอบไปด้วย พระพุทธรูป พานพุ่มดอกไม้ แจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป บางบ้านอาจจะมีพระบูชามากกว่า 1 องค์ รวมถึงสิ่งของบูชาตามความเชื่อ ซึ่งสามารถจัดวางตามลำดับได้ดังนี้
1.พระพุทธรูป พระประธานที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดต้องเป็นพระพุทธรูป นั่นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า การจัดวางนั้นต้องลำดับตามบารมีขององค์พระ และระวังอย่าให้พระองค์อื่นในตำแหน่งต่ำกว่าหรือช่อดอกไม้อยู่ในระดับความสูงเกินกว่าองค์พระประธาน
2.พระอรหันต์ เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระอุปคุต เป็นต้น ให้วางในตำแหน่งรองลงมาจากพระพุทธรูป
3.พระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต การจัดลำดับตามสมณะให้พิจารณาจากการละกายสังขาร แล้วลำดับตามความอาวุโส วางในฝั่งซ้ายขององค์พระพุทธองค์ ไล่มาฝั่งขวาตามลำดับ
4.รูปเหมือนสมมติสงฆ์ บางบ้านนิยมบูชาพระสมมติสงฆ์ เช่น หลวงพ่อ หลวงปู่ต่างๆ ให้จัดเป็นลำดับถัดมา
5.พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ ให้พิจารณาดูว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ใด หากเป็นของพระบรมสารีริกธาตุองค์พระพุทธเจ้าให้วางในตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป แต่หากเป็นพระธาตุของพระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ ให้วางรองลงมาเรียงตามลำดับเช่นกัน
6.พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย รูปเคารพ รูปปั้น ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ให้วางลดหลั่นต่อจากพระ
7.เทพฮินดู ให้เรียงตามลำดับ คือ พระศิวะ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี พระนารายณ์ พระลักษมี พระพรหม พระสุรัสวดี พระพิฆเนศ พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ และฤาษี
8.อัฐิ รูปเหมือนของบรรพบุรุษ หากจำเป็นต้องอยู่บนหิ้งเดียวกันกับองค์พระบูชาให้วางในตำแหน่งต่ำกว่าองค์พระ แต่หากมีพื้นที่สามารถแยกบูชาต่างหากได้
9.สิ่งปลุกเสกและของขลัง สามารถวางบูชารวมในหิ้งพระได้แต่ต้องจัดวางในพานบูชาให้เรียบร้อย แต่หากสามารถแยกหิ้งบูชาได้จะเหมาะสมกว่า
ทั้งนี้เมื่อตั้งโต๊ะหมู่บูชาหรือหิ้งพระแล้ว ควรหมั่นสวดมนต์บูชา เปลี่ยนน้ำ ดอกไม้ ทำความสะอาดเป็นประจำ หมั่นปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ะช่วยทำให้ชีวิตรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น
Advertisement