๒๑ เมษายน เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระนครแห่งใหม่ขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ ทรงเล็งเห็นว่าพระราชวังเดิมที่กรุงธนบุรีนั้น มีวัดขนาบสองข้างทำให้ขยายให้กว้างขวางออกไปไม่ได้ไม่เหมาะที่จะเป็นราชธานี พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า "ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างตะวันตก" จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครแห่งใหม่คือกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสร้างขึ้นที่ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่อมาได้ทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ น.ซึ่งได้จารึกติดอยู่ที่เสาหลักเมืองว่า “วันอาทิตย์เดือนหกขึ้นสิบค่ำปีขาลจัตวาศกจุลศักราช ๑๑๔๔ เวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕”
การสร้างกรุงเทพนั้นใช้เวลาถึง ๓ ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ และได้พระราชทานชื่อเมืองหลวงที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยามหาดิลกนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศมหาสถานอมรพิมานอวตราสถิตสักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น "อมรรัตนโกสินทร์" สืบต่อมา และมีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น จังหวัดพระนคร
ภายหลังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจรได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ หรือชื่อเรียกชื่อย่อเป็น กทม.
Advertisement