Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ที่สุดแห่งปี2567สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ ฝุ่น-โรครุนแรง ดับสะเทือนสังคม

ที่สุดแห่งปี2567สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ ฝุ่น-โรครุนแรง ดับสะเทือนสังคม

30 ธ.ค. 67
00:00 น.
|
711
แชร์

ที่สุดแห่งปี 2567 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ ฝุ่นพิษพรากหมอกฤตไท-3 คณาจารย์ มช. บุหรี่ไฟฟ้าขายเกลื่อน สร้างเทรนด์มรณะวัยรุ่นปอดพัง สิงห์อมควันฟันน้ำนม รวมโรคอาการรุนแรง ดับสะเทือนสังคม

อมรินทร์ ออนไลน์ คัด 3 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ "ที่สุดแห่งปี 2567" ในรอบปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมที่สะท้อนถึงปัญหาภัยสุขภาพ โรคภัยเงียบ ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เริ่มกันที่เหตุการณ์ความสูญเสีย หมอหนุ่มอนาคตไกล จากไปด้วย โรคมะเร็งปอด

ปัญหาฝุ่น บทเรียนจากการสูญเสีย

ในช่วงปี 2566-2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สูญเสียบุคลากรสำคัญจาก โรคมะเร็งปอด ซึ่งเชื่อมโยงกับ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่

หนึ่งในนั้นคือ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 29 ปี อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มช. โดยในระหว่างที่ หมอกฤตไท อยู่ในระหว่างการรักษาตัวจากโรคมะเร็งปอด ก็ได้ทำเพจฯ สู้ดิวะ ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ฝุ่น PM2.5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้มันจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ปฏิเสธได้อย่างเต็มเสียงหรือว่า มันไม่มีผล ?

ประเทศไทยสูญเสียหมอหนุ่มอนาคตไกลไปในช่วงเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว และเกิดข่าวร้ายซ้ำอีกครั้งเมื่อ ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ก็จากไปด้วยโรคมะเร็งปอดในเดือนเมษายน 2567

และก่อนหน้าในเดือน มีนาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในเดือน กันยายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหล่าคณาจารย์ทุกท่านล้วนจากไปด้วยโรคมะเร็งปอด

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือเกิดจากอะไร

ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ (2566) ระบุว่า แต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 แตกต่างกันออกไป โดยภาคเหนือ สาเหตุเกิดจากการเผาป่า 70% ปัจจัยอื่น 30% ขณะที่ ภาคอีสานและภาคกลาง เผาเพื่อทำการเกษตร 70% ปัจจัยอื่น 30% ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดจากการจราจร 60% ปัจจัยอื่น 40%

จากความสูญเสียดังที่กล่าวในข้างต้นและชุดข้อมูลที่สะท้อนถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ ที่มีความรุนแรง รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ การสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าเหล่านี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในอนาคต

บุหรี่ไฟฟ้า

ก่อนหน้าและตลอดปี 2567 "อมรินทร์ ออนไลน์" นำเสนอข่าวและบทความที่เกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน รู้เท่าทันอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

ในกรณีนี้มีตัวอย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวดัง เช่น กรณีของ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ออกมาอัดคลิปเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึง อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมยกเคสคนไข้วัยเพียงแค่ 14 ปี ปอดถูกทำลายอย่างหนัก อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต

อีกเคส เหยื่อบุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยลงไปอีก กรณี พล.ร.ต.หญิง พญ.สุพิชชา แสงโชติ ผู้แทนราชวิทยากุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า พบผู้ป่วยเด็กหญิง อายุเพียง 11 ปี ป่วย "ปอดอักเสบ" เข้าห้อง ICU ไม่ตอบสนองการรักษา ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ สอบประวัติพบ "สูบบุหรี่ไฟฟ้า" สูบเพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่ทำป่วยหนักถึงขั้นเข้า ICU

ในบุหรี่ไฟฟ้ามีอะไร ?

ผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา พบสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารฟอร์มาลดีไฮด์สามารถแทรกซึมลึกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เสี่ยงเกิดมะเร็ง รวมถึงเสี่ยงเกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังได้

และยิ่งตอกย้ำปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ที่เปรียบดังเครื่องจักรผลิตนักสูบหน้าใหม่ และนับวันสิงห์อมควันอายุยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ จนน่าตกใจ อ้างอิงจากข้อมูลการแถลงข่าวของ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พบชุดข้อมูลที่น่าตกตะลึงคือ

เยาวชนไทย อายุระหว่าง 6 - 30 ปี มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 18.6% และเมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า เพศชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด 21.49% รองลงมา LGBTQ+ 19.73% และเพศหญิง 16.22%

แต่เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเยาวชน พบว่าส่วนใหญ่เข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ 61.23% เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย 51.19% เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน 26.28% เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย 23.28% และเข้าใจว่าควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย 12.53% นอกจากนี้เยาวชนยังมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้า/พอด อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% อีกด้วย

บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายแต่เข้าถึงง่าย

ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการนำเข้าและการจำหน่าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญในการควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าฉบับแรกคือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงน้ำยาและสารหรือสารสกัดที่ใช้เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดควันหรือไอประกอบการสูบเป็นสินค้าต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยังคงพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะช่องทางซื้อขายทางออนไลน์

การแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า มาถึงจุดนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐฯ เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ปัญหานี้เราต้องร่วมมือกันเพื่อยุติเทรนด์มรณะ ด้วยการให้ความรู้อันเป็นข้อเท็จจริงแก่เด็กและเยาวชน เพราะไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่มวน ล้วนเป็นอันตรายก่อโรคร้ายได้ทั้งสิ้น

โรคอาการรุนแรง ดับสะเทือนสังคม

กรณีการเสียชีวิตของ "ผิง ชญาดา" นักร้องสาวค่าย Guitar Record วัย 20 ปี นับเป็นประเด็นใหญ่แห่งปีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เดิมที พุ่งปมการสาเหตุการเสียชีวิตไปที่ นวดบิดคอ สืบเนื่องจากเจ้าตัวได้โพสต์เล่าไว้ในเฟซบุ๊กก่อนเสียชีวิตว่าเกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนเกิดภาวะ ป่วยติดเตียง ต่อมาแพทย์ทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด สรุปว่าผิงเป็น "โรคไขสันหลังอักเสบ" ให้ยารักษา ต่อมามีอาการช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่ง เสียชีวิต

และจากประเด็นนี้เองได้สร้างการตระหนักรู้ให้แก่ผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น วิธีสังเกตอาการป่วยที่เข้ากันได้กับโรคไขสันหลังอักเสบ รวมถึง การนวด กิจกรรมคลายเมื่อยที่ต่อจากนี้หากคิดจะนวด ก็ควรจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนที่กำลังบีบๆ นวดๆ เราอยู่นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีใบรับรองฯ หรือ หมอเถื่อน? ร้านนวดเถื่อน? เพราะหากเป็นอย่างหลังจะกลายเป็นว่าเอาชีวิตไปเสี่ยงเปล่าๆ

Advertisement

แชร์
ที่สุดแห่งปี2567สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ ฝุ่น-โรครุนแรง ดับสะเทือนสังคม