พบผู้เสียชีวิตจาก ไข้หวัดนก H5N1 รายแรกของสหรัฐฯ ในรัฐลุยเซียนา มีอาการรุนแรงเนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งสายพันธุ์ไข้หวัดนกที่พบในสัตว์ปีกอพยพทำให้อาการรุนแรงได้ ไทยยังคงเฝ้าระวังเข้มข้น ย้ำเตือนผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้สัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย และเคร่งครัดสุขอนามัยช่วยป้องกันไวรัสอีกหลายชนิดที่ระบาดในฤดูหนาว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพบผู้เสียชีวิตจาก เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 รายแรกของสหรัฐอเมริกา ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 ในคนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2567 มีรายงานผู้ติดเชื้อรวม 66 ราย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและมาจากสายพันธุ์ที่พบในโคนม
ขณะที่สายพันธุ์ที่พบในนกป่าอพยพทำให้เกิดอาการรุนแรง 2 ราย คือ ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัว มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหลังบ้านและนกป่าในรัฐลุยเซียนา ได้รับรายงานผู้ป่วยในเดือนธันวาคม 2567 และเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว
อีกรายเป็นผู้ป่วยวัยรุ่นในรัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ปัจจุบันกำลังฟื้นตัวหลังจากรักษาในห้องไอซียู ทั้งนี้ ยังคงพบการระบาดในสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฟาร์มเลี้ยงไก่ในรัฐเดลาแวร์ ฟาร์มเชิงพาณิชย์หลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟาร์ม game bird (สัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้เพื่อการล่า) ฟาร์มไก่เนื้อในเขตสตานิสเลาส์ ฟาร์มไก่งวงในเขตออตตาวา รัฐมิชิแกน และฝูงสัตว์ปีกหลังบ้านในรัฐอาร์คันซอและรัฐไอดาโฮ รวมถึงพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น แมวบ้าน แมวป่า สุนัขจิ้งจอก แรคคูน ด้วย
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 แต่มีการเฝ้าระวังทั้งในคนและในสัตว์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) ส่วนประชาชนแนะนำให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย หากต้องสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ ไม่นำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ที่ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุไปประกอบอาหาร
ทั้งนี้ ในช่วงวันเด็กที่จะถึงนี้หลายแห่งมีการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ขอเน้นย้ำผู้ปกครองดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ให้สัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวยังพบว่ามีการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคอีกหลายชนิด ซึ่งการเคร่งครัดเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล ยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" หากป่วยมีอาการไอจามให้สวมหน้ากากอนามัย จะช่วยป้องกันไวรัสเหล่านี้ได้
ไข้หวัดนก H5N1 เป็นโรคติดต่อที่เกิดจาก ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A สายพันธุ์ H5N1 ซึ่งพบในสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด และนกน้ำ โรคนี้สามารถแพร่กระจายในฝูงสัตว์ปีกได้อย่างรวดเร็ว และในบางกรณีอาจแพร่สู่มนุษย์ผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ปรุงไม่สุก
อาการในมนุษย์ที่ติดเชื้อ H5N1 มักมีความรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หรือมีน้ำมูกไหล
การป้องกันการติดเชื้อ H5N1 รวมถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย การล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อยๆ และการปรุงอาหารให้สุกโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกและไข่
ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2547–2548 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดครั้งแรกในสัตว์ปีกและมนุษย์ในประเทศไทย
การระบาดเริ่มต้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 และมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องตลอดปี พ.ศ. 2548 โดยพบการระบาดในฟาร์มสัตว์ปีกหลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ภาคกลางอื่นๆ มีการกำจัดสัตว์ปีกกว่า 60 ล้านตัว เพื่อควบคุมการระบาด
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ตลาดส่งออกหลัก เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป หยุดการนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทย
นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมาตรการควบคุมการระบาด โดยมีการประกาศเขตเฝ้าระวังพิเศษในพื้นที่ที่พบการระบาด และออกคำสั่งกำจัดสัตว์ปีกทั้งหมดในพื้นที่เสี่ยง
มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระบาด เพื่อเฝ้าระวังและรับมือการระบาดในพื้นที่ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบปิดเพื่อลดความเสี่ยง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันโรค เช่น การล้างมือ การปรุงอาหารให้สุก และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกป่วย
อ้างอิงข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค รายงานว่า ในประเทศไทยพบการติดเชื้อ H5N1 ในมนุษย์ครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 มีผู้ติดเชื้อยืนยันจำนวน 25 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 พ.ค. 2567 ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนการระบาดของโรคไข้หวัดนก
Advertisement