Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
พบการระบาด โรคหัด แนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เตือน 3 ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

พบการระบาด โรคหัด แนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เตือน 3 ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

17 ก.พ. 68
13:27 น.
|
2.4K
แชร์

กรมควบคุมโรค สั่งรับมือ โรคหัด (Measles) ระบาดแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง พบมากในเด็กเล็ก อายุ 0-4 ปี เตือน 3 ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคหัด เกิดจาก ติดต่อทางไหน

โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด แพร่กระจายได้ง่ายเมื่อผู้ป่วยหายใจหรือไอ จาม ละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ระยะฟักตัว 7 - 21 วัน (เฉลี่ยประมาณ 14 วัน) ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ 4 วันก่อนผื่นขึ้น ไปจนถึงหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน

โรคหัด อาการเป็นอย่างไร

อาการและอาการแสดงของโรค เริ่มด้วย มีไข้ น้ำมูกไหล มักจะไอแห้ง ๆ หลังจากนั้นจะมีไข้สูง ตาแดงและแฉะ อาจมีไข้สูงประมาณ 3 - 4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นนูนแดง (maculopapular rash) ติดกันเป็นปื้น ๆ

โรคหัด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและรุนแรง คือ หูอักเสบ ปอดอักเสบ และ สมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การตรวจทางห้องปฏิบัติการทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgM ต่อไวรัสหัดด้วยวิธี ELISA โดยควรเก็บในช่วง 4 - 30 วันหลังผื่นขึ้น หรือเก็บตัวอย่างจาก throat swab หรือ nasal swab ตรวจหาสารพันธุกรรม โดยควรเก็บในช่วง 1 - 14 วันหลังผื่นขึ้น แนะนำให้ทำในกรณีเกิดการระบาด หรือเป็นผู้ป่วยรายแรกของพื้นที่

ข้อมูลการรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด จากฐานข้อมูลโครงการกำจัดโรคหัด ในปี 2567 มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสังสัยหัด ทั้งหมด 10,440 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันหัดที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4,314 ราย (ร้อยละ 41.32) ผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 1,031 ราย (ร้อยละ9.88) ผู้ป่วยที่อาการเข้าได้กับโรคหัด 2,832 ราย (ร้อยละ 27.12) ผู้ป่วยที่ไม่ใช่หัด/ หัดเยอรมัน 2,236 ราย (ร้อยละ 21.42) และผู้ป่วยหัดเยอรมัน 27 ราย (ร้อยละ 0.26)

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ชายแดนใต้ คือ จังหวัดยะลา (ร้อยละ 36.57) นราธิวาส (ร้อยละ 28.18) ปัตตานี (ร้อยละ 26.12) และสงขลา (ร้อยละ 9.13) กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี (ร้อยละ 55.57)

เหตุการณ์ระบาดของโรคหัดเป็นกลุ่มก้อนพบมากที่สุดในโรงเรียน (ร้อยละ 57.07) รองลงมาคือ ชุมชน (ร้อยละ 40.62) ปี พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วยเสียชีวิต 11 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันหัดที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 6 ราย (ร้อยละ 54.55) ผู้ป่วยที่อาการเข้าได้กับโรคหัด 5 ราย (ร้อยละ 45.45) มัธยฐานอายุ 2 ปี 1 เดือน (อายุต่ำที่สุด แรกเกิด และ อายุสูงที่สุด 43 ปี) ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้แก่ การไม่ได้รับวัคซีนและมีโรคประจำตัว

จากสถานการณ์โรคหัด ปี 2568 ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 27 มกราคม 2568 มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด ทั้งหมด 187 ราย จาก 13 จังหวัด (รูปที่ 3) เป็นผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 41 ราย (ร้อยละ 21.93) มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 8 ราย (ร้อยละ 4.28) มีอาการเข้าได้กับโรคหัด 34 ราย (ร้อยละ 18.18) รอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ 27 ราย (ร้อยละ 14.44)

ผู้ป่วยที่ไม่ใช่หัดและหัดเยอรมัน 77 ราย (ร้อยละ 41.18) ผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 1 เดือน - 39 ปี (มัธยฐาน 3 ปี 8 เดือน) จากการตรวจสอบประวัติ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดของผู้ป่วย พบว่า ร้อยละ 80.43 ของผู้ป่วยไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยยืนยันเป็นกลุ่มก้อนใน จังหวัดปัตตานี 1 เหตุการณ์ และ กรุงเทพมหานคร 1 เหตุการณ์ ซึ่งกรุงเทพมหานครมีการรายงานผู้ป่วยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน จากการสืบค้นข้อมูลในพื้นที่การระบาดพบว่ามีเคสผู้ป่วยสงสัยหัดตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ปี 2567 จำนวน 32 ราย ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ป่วยยืนยันหัดทั้งสิ้น 4 ราย

รูปที่ 1 กราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยออกผื่น/สงสัยหัด จำแนกตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา จำแนกตามวันที่เริ่มป่วย รายเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 – 27 มกราคม 2568

รูปที่ 2 กราฟแสดงจำนวนผู้ป่วยยืนยัน และผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคหัด จากฐานข้อมูลการกำจัดโรคหัด (Measles online database) และรายงาน 506 (D506) จำแนกตามวันเริ่มป่วยตามสัปดาห์การระบาด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 27 มกราคม 2568

รูปที่ 3 จำนวนผู้ป่วยยืนยันหัดทางห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา และผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคหัดของจังหวัดที่พบผู้ป่วย จำแนกตามสัปดาห์ที่เริ่มป่วย ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2567 -27 มกราคม 2568

รูปที่ 4 อัตราป่วยโรคหัดต่อแสนประชากร (ผู้ป่วยยืนยัน และผู้ป่วยเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา) รายจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 และ ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 – 27 มกราคม 2568

สรุปและคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมโรค

ในเดือน มกราคม ปี 2568 มีแนวโน้มการรายงานผู้ป่วยนอกพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต จันทบุรี อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาด ยังควรมีการดำเนินการ ดังนี้

1. สำหรับประชาชน

• กรณีที่ไม่มีอาการป่วย : รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มี คนหนาแน่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้ออกผื่น และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด สำหรับเด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบ 2 เข็ม โดยฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 9 เดือน และ 1 ปีครึ่ง หากเด็กยังไม่เคยได้รับ วัคซีนมาก่อนไม่ว่าจะอายุใด ๆ ก็ตาม ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

• กรณีที่มีอาการป่วย : หากมีอาการไข้ออกผื่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจประเมิน โดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ และในช่วงที่มีอาการป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น และหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัด ให้หยุดงาน หยุดเรียน และหลีกเลี่ยงไปพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น หลังจากผื่นขึ้นวันแรก ไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

2. สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

• ให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับพื้นที่ เพิ่มความเข้มข้นของการเฝ้าระวังโรคตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด ควรสำรวจความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่ และควรเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 95 เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในชุมชน

• กรณีพบผู้ป่วยใช้ร่วมกับผื่นชนิด Maculopapuler Rash หรือสงสัยหัดให้เจ้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนโรค และเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ภายใน 48 ชั่วโมงรวมทั้งรายงานผู้ป่วยโรคหัด ผ่านฐานข้อมูลโครงการกำจัดโรคหัด (Measle Elimination Online) (https//appsdoe.moph.go.th/measles) และทําการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อต่อไป

อย่างไรตาม โรคหัดมักเกิดขึ้นกับเด็ก โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี โรคหัดเป็นแล้วหายเองได้แต่ต้องระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาจเสียชีวิตได้คือ หูอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ

โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการ ฉีดวัคซีน เข็มแรกตอนอายุ 9 เดือน และเข็มสองคือ อายุ 2 ขวบครึ่ง

Advertisement

แชร์
พบการระบาด โรคหัด แนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เตือน 3 ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง