1 เมษายน วัน April Fool’s Day หรือวันโกหก บอกเคล็ดลับจับคนชอบโกหก สังเกตได้ง่ายๆ จากพฤติกรรม เรื่องไหนที่คนพูดโกหกบ่อยที่สุด
นักวิจัยเผยว่า คนทั่วไปมักพูดโกหกโดยเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้ง หมายความว่าในแต่ละวันเราอาจจะต้องเจอกับคำโกหก หรืออาจจะเป็นตัวเราเองที่พูดโกหกเสียเอง โดยผลการวิเคราะห์จากการจดบันทึกจากกลุ่มตัวอย่างพบว่า เรื่องที่คนเราพูดโกหกบ่อยที่สุด คือ เรื่องความรู้สึก ความชอบ เจตคติ ความคิดเห็น รองลงมาคือเรื่องการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว หรือแผนการว่าจะทำอะไร รวมไปถึงความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง
เหตุผลของการโกหกมีหลากหลายตั้งแต่เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความสะดวกสบายของตัวเอง หรืออาจปกปิดการกระทำที่ผิดศีลธรรม จริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม ยังมีการโกหกเพื่อถนอมน้ำใจ รักษาหน้า รักษาความรู้สึกของคู่สนทนา ลดความขัดแย้ง อย่างที่หลายคนมักเรียกว่า "โกหกขาว"
การโกหกเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของเรา โดยไม่จำเป็นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องร้ายแรง แต่เราจะรู้ได้อย่างไราคู่สนทนาของเรากำลังโกหก มีสัญญาณหรือเบาะแสอะไรบ้างไหมที่จะช่วยบอกเราได้ นักจิตวิทยาได้เสนอแนะวิธีสังเกตของการพูดโกหก โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจับเท็จ โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากสีหน้าท่าทาง วิธีการพูด การใช้ภาษา ดังนี้
สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก
การพูดโกหก คือการพูดเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้เชื่อ ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้นจริง ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่ากำลังโกหก หรือความรู้สึกละอายใจที่พูดโกหก ทำให้เกิดร่องรอยของอารมณ์ที่ซ่อนอยู่รั่วไหลออกมาทางสีหน้า ท่าทาง หรือแม้แต่น้ำเสียง เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อยๆ ซึ่งจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดกลัวว่าจะถูกจับได้หรือรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่
หากผู้พูดรู้สึกละอายว่าการพูดโกหกเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ควรทำ มักจะมีพติกรรมที่สังเกตได้ เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า และมักเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ
ส่วนกรณีที่เป็นการพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง โดยโกหกว่ากำลังรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง หากเราสังเกตจะพบว่าคู่สนทนามีสีหน้าแวบแรกที่ขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่เขาแสดงต่อมา เช่น พยายามยิ้มแย้มเพื่อกลบเกลื่อน นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไม่ให้คุณรู้
สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญา
พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้พูดจะต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติ เพราะพูดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผู้พูดจะต้องใช้สมอง ใช้ความคิดเพื่อสร้างเรื่องราวขึ้นม ต้องพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางของตัวเองให้ดูสมจริงสมจัง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีพิรุธ ดังนั้น คนที่กำลังพูดโกหกจึงอาจมีกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการที่ต้องใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น ตอบคำถามจะช้า มีท่าทีลังเลในการพูด การใช้มือไม้ประกอบจะน้อยลงกว่าปกติ เพราะเกิดอาการเกร็ง จดจ่ออยู่กับการตั้งใจแต่งเรื่องให้สมเหตุสมผลให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การตอบสนองช้า ไม่มีเกณฑ์สากลตายตัว แต่ให้เราลองสังเกตจากเวลาปกติที่คนคนนั้นพูด เพราะบางคนอาจจะเป็นคนคิดช้าตอบสนองช้า หรือบางเรื่องค่อนข้างซับซ้อนจึงต้องใช้เวลาประมวลผลในการตอบก็เป็นได้
ลักษณะของเรื่องราวและคำพูด
หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมการเล่าเรื่องมาก่อน เรื่องราวที่เล่าก็จะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมักมีแต่ข้อมูลทั่วไป ไม่มีรายละเอียด คลุมเครือ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ไม่บอกเวลาหรือสถานที่ที่แน่ชัด เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ย่อมไม่สามารถนึกถึงรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงอะไรได้มากไปกว่าข้อมูลคร่าวๆ แต่ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาดีเกินไปก็จะดูเหมือนซ้อมมา ท่องบทมา และราบรื่นเกินไปจนไม่น่าเชื่อ
นักจิตวิทยาพบว่า เวลาคนเราเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เราไม่ได้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับคำพูดของเรามากนัก เราอาจพูดผิดออกเสียงผิดบ้าง และกรณีที่เป็นเรื่องจริงที่ผ่านมานานพอสมควร เราอาจหลงลืมจำไม่ได้ เล่าไปแล้วอาจย้อนกลับมาแก้ กลับมาเติมรายละเอียด แต่ผู้พูดโกหกที่มีเวลาเตรียมตัวซักซ้อมมาดีมักไม่ค่อยมีการพูดผิดพลาด และเล่าเรื่องยาว ๆ ได้ราบรื่นดี ไม่มีอาการหลงลืม ไม่มีการย้อนกลับมาเติมข้อมูลอะไรในภายหลัง
ด้านการใช้คำพูด นักจิตวิทยาพบว่า จะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกทางลบมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังใช้สรรพนามเรียกตัวเองน้อยกว่าเวลาพูดเรื่องจริง และมักพูดไม่เต็มเสียง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการโกหกที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกผิดหรือละอายใจ เช่น โกหกคนที่รักและไว้วางใจตนเอง คาดว่าเป็นเพราะความรู้สึกผิดที่โกหก
ทั้งนี้ การสังเกตเห็นสัญญาณต่างๆ ที่กล่าวมา อาจไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าผู้พูดกำลังโกหก จะต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย จึงต้องวิเคราะห์ให้ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Advertisement