Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ศิริราช ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียม ช่วยผู้ป่วยกลับมาเดินได้อีกครั้ง

ศิริราช ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียม ช่วยผู้ป่วยกลับมาเดินได้อีกครั้ง

3 เม.ย. 68
12:14 น.
แชร์

ศิริราช กับความสำเร็จระดับโลก ครั้งแรกในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จ

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานในงานแถลงข่าวครั้งแรกของโลก ศิริราชสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จ (World First: Siriraj Achieves Breakthrough in Point-of-Care Manufacturing of 3D-Printed Titanium Hip Sockets with Proven Clinical Success)

โดยมี คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.มหิดล รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

และ ผศ. ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการฯ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา

โรคข้อสะโพกเสื่อม คืออะไร

โรคข้อสะโพกเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ผิวข้อสะโพกถูกทำลายจากหลายปัจจัย อาทิ ผู้ป่วยใช้ร่างกายอย่างหนักเป็นเวลานาน สะโพกผิดรูปแต่กำเนิด เกิดการติดเชื้อ รวมถึงมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย หรือบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ให้ผลการรักษาที่ดี

ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือ ผู้ป่วยต้องมีกระดูกเบ้าสะโพกที่สมบูรณ์เพื่อให้ข้อสะโพกเทียมสามารถยึดติดได้อย่างมั่นคงในระยะยาว แต่ในกรณีที่มีอาการกระดูกเบ้าสะโพกแตกหรือสึกกร่อนร่วมด้วยนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ข้อเทียมชนิดปกติ อาจจะต้องยอมรับภาวะทุพพลภาพ

ดังนั้น นวัตกรรมการผลิตสามมิติเฉพาะบุคคลจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเทคโนโลยีนี้จะสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลนั้นๆ เพื่อใช้ทดแทนกระดูกเบ้าสะโพกที่แตกหรือสึกกร่อน

ศิริราชทำสำเร็จ ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมในโรงพยาบาล

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลจากไททาเนียมของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ว่า “ตลอดระยะเวลา 137 ปี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากลตามพันธกิจหลักที่วางไว้

โดยในปีที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้จับมือกับ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด พร้อมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดตั้ง บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์สามมิติเฉพาะบุคคล นำมาใช้ร่วมกับกระบวนการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิตอล เพื่อให้การผ่าตัดที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด

และในวันนี้โครงการดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ ศิริราชเป็นแห่งแรกในโลกที่มีการผลิตไททาเนียม สามมิติขึ้นภายในในโรงพยาบาล (Siriraj Faculty of Medicine is The First Factory in a Box at Hospital Point-of-Care in The World) โดยได้มีการนำไปใช้ในผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก และในอนาคตนวัตกรรมดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องได้รับกระดูกทดแทนที่มีความเฉพาะเจาะจง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น พร้อมทั้งยังยกระดับวงการแพทย์ให้ก้าวไกลมากกว่าเดิม”

ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง

ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า “ตลอดกระบวนการรักษาด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 2 สัปดาห์ เริ่มจากทำ CT Scan เพื่อให้ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและวิศวกรจากบริษัท ออส ทรีโอ จำกัด นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ออกแบบกระดูกเบ้าสะโพกเทียมให้เหมาะกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงตำแหน่งของเนื้อเยื่อและเส้นประสาทเป็นสำคัญ จากนั้นจึงทำการผลิตชิ้นส่วนจำลอง ก่อนเริ่มผลิตชิ้นส่วนจริงด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคล แล้วจึงนำไปใช้กับผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัด ซึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่ติดตั้งเครื่องพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดย รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า

“นวัตกรรมการพิมพ์สามมิติเฉพาะบุคคลเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่มีความซับซ้อนในการรักษา ในฐานะที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงให้การสนับสนุนพื้นที่ขนาด 60 ตารางเมตร ในการจัดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต พร้อมทั้งยังผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจนวัตกรรมดังกล่าว โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ Facebook : ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Advertisement

แชร์
ศิริราช ผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียม ช่วยผู้ป่วยกลับมาเดินได้อีกครั้ง