ลูคีเมีย ธาลัสซีเมีย คืออะไร ถอดความจริงจากประโยคทอง "ไฮโซเก๊" จริงหรือ 2 โรคนี้ทำผู้หญิงท้องไม่ได้ ?!
ถอดความจริงจากประโยคสุดอึ้ง! "ฮอต" ไฮโซเก๊ ซุกเมียลูกหนึ่ง ฝ่ายหญิงแฉวีรกรรมแสบ ทำท้องแต่ไม่ยอมรับ อ้างป่วยเป็น "โรคลูคีเมีย" และ "โรคธาลัสซีเมีย" มีลูกไม่ได้
จากประโยคนี้เองสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ว่า จริงหรือ ที่ป่วยเป็น 2 โรคดังกล่าว ลูคีเมีย-ธาลัสซีเมีย ทำผู้หญิงท้องไม่ได้?
1. โรคลูคีเมีย (Leukemia)
โรคลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกที่ผลิตเม็ดเลือดขาวผิดปกติออกมาเป็นจำนวนมาก จนไปกดการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ ติดเชื้อง่าย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ชนิดของโรคลูคีเมีย
• ลูคีเมียเฉียบพลัน (Acute Leukemia): โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
• ลูคีเมียเรื้อรัง (Chronic Leukemia): โรคดำเนินไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด
อาการของโรคลูคีเมีย
• อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวียนหัว ใจสั่น
• เลือดออกง่ายกว่าปกติ อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว
• มีไข้ ติดเชื้อง่าย
• น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• ต่อมน้ำเหลือง ตับ และม้ามโต
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางเรื้อรัง และสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
ชนิดของโรคธาลัสซีเมีย
• ธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง (Major): มีอาการซีดมากตั้งแต่วัยเด็ก ต้องได้รับเลือดเป็นประจำ
• ธาลัสซีเมียชนิดปานกลาง (Intermedia): อาการไม่รุนแรงมาก แต่ยังต้องได้รับการรักษา
• ธาลัสซีเมียชนิดแฝง (Minor หรือ Trait): ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปยังลูกได้
อาการของโรคธาลัสซีเมีย
• ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
• ภาวะเจริญเติบโตช้า
• ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน
• ม้ามโต ตับโต
• กระดูกใบหน้าเปลี่ยนรูป (ในกรณีที่เป็นรุนแรง)
1. โรคลูคีเมียกับการมีบุตร
• ผู้ป่วยโรคลูคีเมียสามารถทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น ผลกระทบจากการรักษา การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) และรังสีรักษา (Radiotherapy) อาจทำลายเซลล์สืบพันธุ์ในอัณฑะ ทำให้มีบุตรยาก
• การฝากสเปิร์ม : ในยุคที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวไกล ผู้ป่วยลูคีเมียสามารถฝากสเปิร์มไว้ก่อนการรักษา เพื่อนำมาใช้ในอนาคต
2. โรคธาลัสซีเมียกับการมีบุตร
• ผู้ชายที่เป็นธาลัสซีเมียสามารถทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ตามปกติ แต่ต้องพิจารณาว่าคู่สมรสเป็นพาหะของโรคหรือไม่
ภาวะเป็นหมัน หมายถึง ภาวะที่ผู้ชายไม่สามารถทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้อย่างถาวร ไม่สามารถทำให้ฝ่ายหญิงท้องได้ด้วยวิธีธรรมชาติ
ซึ่งแตกต่างจาก ภาวะมีบุตรยาก ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม แต่ไม่ว่าจะ ภาวะเป็นหมัน หรือ ภาวะมีบุตรยาก ในยุคปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลพญาไท
Advertisement