Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ภัยสูงวัย "กระดูกสะโพกหัก" ไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียง

ภัยสูงวัย "กระดูกสะโพกหัก" ไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียง

16 เม.ย. 68
09:32 น.
แชร์

หกล้มเบาๆ แต่เจ็บสะโพกมาก ขยับไม่ไหว ลุกไม่ได้ อาการเหล่านี้คือสัญญาเตือน กระดูกสะโพกหัก หากไม่รีบเข้ารับการรักษา อาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อันตรายถึงชีวิตได้

นายแพทย์เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อชำนาญการด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า กระดูกสะโพกหัก เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุรุนแรง อาการนี้ไม่เพียงส่งผลต่อการเคลื่อนไหว แต่ยังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการของกระดูกสะโพกหัก

• เจ็บมากจนขยับไม่ไหว

• ลงน้ำหนักหรือยืนไม่ได้

• ช่วงปลายเท้าเย็น เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงได้น้อยลง

• มีรอยฟกช้ำ บวม และรู้สึกขัดบริเวณสะโพก

หากผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุลื่นล้ม และสงสัยว่ากระดูกสะโพกหักหรือส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหาย ควรรีบโทรแจ้งโรงพยาบาล เพื่อให้ทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเฉพาะทาง มาเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกระดูกหัก เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกเคลื่อนตัว ลดการบาดเจ็บ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย

กระดูกสะโพกหัก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร็วที่สุด ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เป็นผู้ป่วยติดเตียง เกิดแผลกดทับ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และเกิดการติดเชื้อ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสะโพก ไม่น่ากลัวเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากมีเทคนิคการผ่าตัด Minimal Invasive Surgery ที่เป็นการผ่าตัดกระดูกสะโพกแบบเปิดแผลเล็ก โดยกล้ามเนื้อถูกทำลายน้อย กระทบโครงสร้างกระดูกต่ำ จึงทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว สามารถลุกยืนได้ภายใน 6 – 12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และยังช่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ รวมถึงทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ และสามารถขับรถได้ภายใน 1 เดือน

สำหรับการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดสะโพกหัก ได้แก่ การกินอาหารเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสารอาหารในกลุ่มวิตามินดีและแคลเซียม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงการสูบบุหรี่ และที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ส่วนบ้านที่มีผู้สูงอายุควรจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ปรับพื้นที่ทางเดินให้เหมาะสม ไม่ลื่น และเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุสะดุดหรือลื่นล้ม

Advertisement

แชร์
ภัยสูงวัย "กระดูกสะโพกหัก" ไม่รีบรักษาอาจเสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียง